Bloomberg รายงานความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักที่เห็นตรงกันว่าบรรดานักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกต้องเตรียมพร้อมสำหรับสัปดาห์ที่วุ่นวายอีกหนึ่งสัปดาห์ในช่วงส่งท้ายของเดือนมีนาคม ท่ามกลางความกังวลที่ลดหลั่นกันไปเกี่ยวกับผู้ให้กู้ของสหรัฐฯ และยุโรปได้ครอบงำความเชื่อมั่น ขณะที่การต่อสู้กับเงินเฟ้อของธนาคารกลางก็มีเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากขึ้น
รายงานระบุว่า ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในรอบสัปดาห์นี้น่าจะสะท้อนสัญญาณบางอย่าง ซึ่งรวมถึงความต้องการสำหรับสินทรัพย์ปลอดภัย หลายฝ่ายคาดว่าทันทีที่เปิดตลาดในวันจันทร์ที่ 27 มีนาคมนี้ นักลงทุนจะมุ่งไปที่สกุลเงินเยนของญี่ปุ่น เนื่องจากความกลัวต่อสุขภาพของบรรดาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปที่ทำให้ตลาดปั่นป่วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักลงทุนแห่เข้าหุ้นตลาดเกิดใหม่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน แต่ระวัง ‘งานเลี้ยงอาจใกล้เลิกรา’
- การลงทุนฟื้นตัว ‘เร็วและแรง’ แซงเศรษฐกิจไปไหม?
- Goldman Sachs แนะกลยุทธ์การลงทุน ยึดมั่นเป้าหมาย อย่าวิตกกับภาวะถดถอยมากเกินไป
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงกดดันจากปัจจัยภายนอก อย่างความตึงเครียดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (25 มีนาคม) เกี่ยวกับการส่งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีไปประจำการในเบลารุส
ทั้งนี้ สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นแล้วประมาณ 4% ในเดือนมีนาคมนี้ มากกว่าสกุลเงินหลักอื่นๆ ท่ามกลางความผันผวนและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงได้ลดความได้เปรียบด้านอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจอื่นที่มีเหนือญี่ปุ่น สกุลเงินที่เชื่อมโยงกับสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงดอลลาร์ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีประสิทธิภาพต่ำกว่าปกติ
นักวิเคราะห์ประเมินว่า สกุลเงินดอลลาร์และออสเตรเลีย ซึ่งมีความอ่อนไหวสูงต่อแนวโน้มการเติบโตทั่วโลก เป็นสองสกุลเงินที่ต้องจับตามอง
สถานการณ์ในตลาดโลกผันผวนหนักมากขึ้น เมื่อ Deutsche Bank AG กลายเป็นผู้ให้กู้รายล่าสุดที่เผชิญกับปัญหาเสถียรภาพเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ มีการเรียกประชุมสภากำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน หรือ Financial Stability Oversight Council ก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ส่งผลต่อบรรยากาศโดยรวมของตลาดในรอบสัปดาห์นี้เช่นกัน
ขณะนี้ ทางการสหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่าจะให้การสนับสนุนธนาคาร First Republic Bank อย่างไรเพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการปรับงบดุล นอกจากนี้ Valley National Bancorp และ First Citizens BancShares Inc. ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องการเข้าไปจัดการดูแล Silicon Valley Bank ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าทีมบริหารใดจะเข้าไปดำเนินการ ขณะที่ผู้กำกับดูแลภาคการธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า Credit Suisse Group AG จะถูกสอบสวนตรวจสอบจากภาครัฐ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของระบบการเงินการธนาคารของประเทศ
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลชั้นนำของสหรัฐกล่าวเมื่อวันศุกร์ (24 มีนาคม) ว่าในขณะที่ธนาคารบางแห่งอยู่ภายใต้ความเครียด แต่ระบบการเงินโดยรวมก็อยู่ในเกณฑ์ดี
ยิ่งไปกว่านั้น ความทุกข์ยากด้านการธนาคารได้กระตุ้นให้ผู้ค้าตราสารหนี้เปลี่ยนเป้าความคาดหวังสำหรับนโยบายการเงิน โดยใหญ่เห็นตรงกันว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม และการเปลี่ยนแปลงครั้งต่อไปของเจ้าหน้าที่ Fed น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมิถุนายน อีกทั้ง เทรดเดอร์ยังคาดการณ์อีกว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นสำหรับธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษ
Jack McIntyre ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของ Brandywine Global Investment Management เตือนว่า เศรษฐกิจโลกอาจเสียกระบวนหรือพังทลายลงได้ หากธนาคารกลางเข้มงวดมากเกินไป
ขณะเดียวกัน รายงานในสัปดาห์นี้อาจแสดงมาตรวัดที่สำคัญของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังคงสูงอย่างดื้อรั้น พร้อมคำเตือนให้นักลงทุนตระหนักว่าธนาคารกลางต้องก้าวเดินต่อไปเพื่อรักษาเสถียรภาพทั้งด้านราคาและการเงิน
เมื่อเทียบกับแนวโน้มนโยบายที่คลุมเครือนั้น การวัดความผันผวนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นนั้นใกล้เคียงกับระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีแตะ 3.55% ในวันศุกร์ (24 ธันวาคม) ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน เนื่องจากนักลงทุนต่างมองเห็นแนวโน้มของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง
Ed Al-Hussainy นักยุทธศาสตร์ด้านอัตราดอกเบี้ยของ Columbia Threadneedle Investments คาดการณ์ว่าจะมีการปรับตัวขึ้นของตราสารหนี้เนื่องจากการคุมเข้มของ Fed ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ความผันผวนและความเร็วของการเคลื่อนไหวยังคงตอกย้ำความเปราะบางของตลาด
อ้างอิง: