×

ธปท. ชี้เดือน มี.ค. 64 ลูกหนี้ 1 แสนคนขอเข้ามาตรการช่วยเหลือฯ รวม 4 หมื่นล้านบาท เร่งต่ออายุมาตรการฯ เฟส 3 ถึงสิ้นปี 64

14.05.2021
  • LOADING...
รณดล นุ่มนนท์

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ยกระดับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขึ้น โดยออกมาตรการฯ ระยะที่ 3 ตั้งแต่ 17 พฤษภาคม – 31 ธันวาคม 2564 (มาตรการฯ ระยะที่ 2 สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2564) เนื่องจากโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบในวงกว้างและรุนแรงขึ้น ทั้งธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะรายย่อยที่รายได้ลดลงหรือหายไป ซึ่งทำให้การชำระหนี้ลำบากขึ้น

 

ทั้งนี้ เดือนมีนาคม 2564 พบว่ามีลูกหนี้ขอเข้ามาตรการช่วยเหลือถึง 1 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 4 หมื่นล้านบาท ทำให้​ ณ สิ้นเดือนมีนาคม มียอดหนี้รวมจากมาตรการช่วยเหลือฯ รวม  3.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

 

  • รายย่อย 1.9 ล้านล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล (Ploan) และบัตรเครดิตราว 1.1 ล้านล้านบาท สินเชื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) 6 แสนล้านบาท และสินเชื่อเช่าซื้อ  2 แสนล้านบาท 
  • สินเชื่อธุรกิจราว 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งมาตรการพักหนี้ของ SMEs ที่จะสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2564 ทาง ธปท. ยังต้องพิจารณาเพิ่มเติม โดยจะมุ่งการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว

 

“จากการประเมินของสถาบันการเงินพบว่า ลูกหนี้รายย่อยที่เข้ามาตรการเดิมยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง และมีลูกหนี้ใหม่ที่ต้องการรับความช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความเปราะบางที่สะสมมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรก จำเป็นจะต้องช่วยเหลือในเรื่องภาระหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน”

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 3 นี้เพิ่มทางเลือกและยืดหยุ่นให้ลูกหนี้มากขึ้น โดยจะมุ่งเน้นลดภาระหนี้ในระยะยาว ครอบคลุม 4 สินเชื่อรายย่อยหลัก ได้แก่ 1. บัตรเครดิต และ Ploan 2. จำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 3. เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 4. สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน

 

ทั้งนี้ จะมีรูปแบบความช่วยเหลือที่หลากหลาย เช่น การขยายระยะเวลาการชำระหนี้, การพัก / ลดค่างวด, จ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลง, การรวมหนี้ ในสินเชื่อที่มีหลักประกัน ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินจะออกวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมให้ลูกค้าเลือกตามความสามารถในการชำระหนี้

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าหนี้เสีย (NPL) จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าการดูแลลูกหนี้ในเชิงรุก และหากควบคุมสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ให้เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ก็คาดว่าในระยะต่อไปลูกหนี้จะผ่านวิกฤตนี้ได้ ดังนั้นจึงไม่กังวลใจกับหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้น และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

วิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท. กล่าวว่า ในส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 ขอให้ทางสถาบันการเงินดูแลเรื่องดอกเบี้ยอย่างเหมาะสม 

 

ขณะที่ความคืบหน้าการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ปัจจุบันการรวมหนี้ในบริษัทลูกสถาบันการเงินเดียวกันสามารถทำได้เลย แต่การข้ามสถาบันการเงินยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยปัจจุบันมียอดลูกหนี้เข้ารับการรวมหนี้แล้ว 4 พันล้านบาท ในลูกหนี้ราว 2,000-3,000 ราย

 

ทั้งนี้ ธปท. ขอให้ผู้ให้บริการทางการเงินให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานะของลูกหนี้ตามมาตรการที่กำหนด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามนโยบายของผู้ให้บริการทางการเงิน

 

นอกจากนี้ ยังขยายเวลามหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และจะเพิ่มการไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อในระยะต่อไป และมีโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อเป็นแหล่งให้ข้อมูลและข้อแนะนำในการแก้หนี้รายย่อยและธุรกิจ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X