วันนี้ (13 ตุลาคม) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช. ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนและปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสถานี C.2 นครสวรรค์ 2,184 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และการระบายน้ำวันนี้อยู่ที่ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ที่ประชุม ศปช. ให้ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลงอีกจนเหลือ 1,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำท้ายเขื่อนไม่เกิดปัญหากับพี่น้องประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากนัก และเป็นไปอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝนและน้ำทะเลที่จะขึ้นหนุนในช่วงวันที่ 13-24 ตุลาคมนี้
จิรายุกล่าวต่อไปว่า ส่วนพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากยังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดย ศปช. ขอให้ประชาชนที่อยู่ใน 9 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงสูงมาก เฝ้าระวังและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ได้แก่
- พังงา (อำเภอตะกั่วทุ่ง, คุระบุรี, กะปง, ท้ายเหมือง, เมืองพังงา, ทับปุด, เกาะยาว และตะกั่วป่า)
- ภูเก็ต (อำเภอถลาง เมืองภูเก็ต และกะทู้)
- กระบี่ (อำเภออ่าวลึก, เกาะลันตา, ปลายพระยา, คลองท่อม, เหนือคลอง, เมืองกระบี่, เขาพนม และลำทับ)
- สุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุน, บ้านนาสาร, บ้านนาเดิม, กาญจนดิษฐ์, ดอนสัก, ท่าชนะ, เวียงสระ, เมืองสุราษฎร์ธานี, วิภาวดี, ไชยา, เกาะสมุย, คีรีรัฐนิคม, พนม, ท่าฉาง และพระแสง)
- ตรัง (อำเภอเมืองตรัง, กันตัง, ย่านตาขาว, ปะเหลียน, สิเกา, ห้วยยอด, วังวิเศษ, นาโยง และรัษฎา)
- ยะลา (อำเภอเมืองยะลา, เบตง, ยะหา, บันนังสตา, ธารโต, กาบัง, รามัน และกรงปินัง)
- นราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส, บาเจาะ, ยี่งอ, ระแงะ, รือเสาะ, ศรีสาคร, สุไหงปาดี, เจาะไอร้อง, จะแนะ, สุคิริน และแว้ง)
- ปัตตานี (อำเภอโคกโพธิ์ หนองจิก แม่ลาน ปะนาเระ มายอ ทุ่งยางแดง สายบุรี ยะรัง กะพ้อ)
- พัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง, กงหรา, ศรีบรรพต, ศรีนครินทร์, เขาชัยสน, ตะโหมด, ควนขนุน, ป่าบอน และป่าพะยอม)
สำหรับพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ภาคใต้ ได้แก่
- ระนอง (อำเภอสุขสำราญ, กะเปอร์, ละอุ่น, เมืองระนอง และกระบุรี)
- นครศรีธรรมราช (อำเภอฉวาง, พิปูน, ท่าศาลา, ลานสกา, ช้างกลาง, เชียรใหญ่, เมืองนครศรีธรรมราช, ปากพนัง, พรหมคีรี, เฉลิมพระเกียรติ, ร่อนพิบูลย์, หัวไทร, ทุ่งสง, ทุ่งใหญ่, สิชล, ขนอม, นาบอน และนบพิตำ)
- สงขลา (อำเภอเมืองสงขลา, จะนะ, นาทวี, เทพา, สะบ้าย้อย, สะเดา, ระโนด, รัตภูมิ, หาดใหญ่, นาหม่อน และคลองหอยโข่ง)
- สตูล (อำเภอเมืองสตูล, ควนโดน, ควนกาหลง, ละงู, ทุ่งหว้า และมะนัง)
ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ได้แก่
- กาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี, เลาขวัญ, บ่อพลอย, หนองปรือ, พนมทวน, ท่ามะกา, ท่าม่วง, ด่านมะขามเตี้ย และห้วยกระเจา)
- เพชรบุรี
- ประจวบคีรีขันธ์
- ชุมพร (อำเภอสวี, ละแม, เมืองชุมพร, ท่าแซะ, ปะทิว, พะโต๊ะ และทุ่งตะโก)
- จันทบุรี (อำเภอขลุง)
- ระยอง
- ตราด
- ชลบุรี
ศปช. ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมทั้งติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนล่วงหน้าของหน่วยงานราชการแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อสายด่วนได้ที่ 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ที่ประชุม ศปช. ได้เตรียมความพร้อมในการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณความจุเกิน 80% เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะเติมเข้ามา รวมทั้งสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ตลอดจนประสานอ่างเก็บน้ำท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการการระบายน้ำในพื้นที่
ส่วนความคืบหน้าแผนฟื้นฟูที่จังหวัดเชียงราย จิรายุกล่าวว่า ศปช. ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย ได้รายงานความคืบหน้าระบุว่า การให้ความช่วยเหลือประชาชนถือว่ามากกว่า 90% แล้ว และไม่มีสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด โดยหน่วยงานต่างๆ ไม่มีการถอนกำลัง และยังคงเดินหน้าเพื่อให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ส่วนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยในอำเภอแม่สาย ประชาชนมีไฟฟ้าใช้แล้ว 12,268 ราย การฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน 819 หลัง ดำเนินการแล้ว 658 หลัง คิดเป็น 80%
จิรายุชี้แจงกรณีสื่อออนไลน์นำเสนอข่าวน้ำท่วมขังและน้ำมีกลิ่นเหม็นที่บ้านหลุก อำเภอเมืองลำพูน ว่า ศปช. ได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เร่งแก้ไขปัญหาใน 3 จุดแล้ว ได้แก่ จุดที่ 1 สวนกาญจนาภิเษก ร.9 ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำที่มีประชาชนบางส่วนเข้าไปอยู่อาศัย เป็นจุดรับน้ำ และจะผันน้ำลงลำเหมืองหลิ่งห้า มีสภาพที่ตื้นเขิน คับแคบ ประกอบกับมีอาคารบังคับน้ำเก่ากีดขวาง ทำให้ระบายน้ำไม่สะดวก เจ้าหน้าที่ได้ติดเครื่องผลักดันน้ำ 1 เครื่อง เครื่องสูบน้ำ 12 นิ้ว 2 เครื่อง และเครื่องสูบซิ่ง 2 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำ จุดที่ 2 หลังเทศบาลตำบลเหมืองง่า (เก่า) คือลำเหมืองหลิ่งห้า จะรับน้ำต่อจากจุด 1 ซึ่งมีลักษณะของสะพานที่แคบ จึงได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 42 นิ้ว 1 เครื่อง เพื่อผลักดันน้ำก่อนไปจุดที่ 3 โดยต้องผ่านอาคารฝายเก่า ทำให้ระบายน้ำได้น้อยมาก
ทาง อบจ.ลำพูน ได้ร่วมกับชลประทานจังหวัดลำพูน ดำเนินการขุดร่องชักน้ำด้านข้างอาคารเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำจุดนี้อย่างเร่งด่วน ในส่วนของจุดอื่นๆ ยังคงระบายน้ำได้ดีและไม่มีผลกับการระบายน้ำทั้ง 3 จุดข้างต้น
“คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้” จิรายุกล่าว