วันนี้ (12 กันยายน) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า รายงาน ‘Uncertain times and unsettled lives’ ความไม่แน่นอนของเวลาและชีวิต จากสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022 ว่ากล่าวถึงดัชนีของการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ลดลงจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด ส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกลดลงจาก 73 ปี ในปี 2019 เหลือ 71.4 ปี ในปี 2021 ระดับการศึกษาลดลง และมาตรฐานการครองชีพ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ GDP ลดลงช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2019-2020 ทำให้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ถอยหลังไป 5 ปี
“ดัชนีการพัฒนามนุษย์เคยดีขึ้นต่อเนื่อง 30 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่ดัชนีการพัฒนามนุษย์ลดลง เข้าใจง่ายๆ คือคนทั้งโลกอายุสั้นลง คนได้รับการศึกษาน้อยลง และรายได้ลดลงจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด” นพ.มนูญระบุ
ก่อนหน้าปี 2019 มีผู้แทน NGO การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ออกมาให้ความเห็นว่าฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย GDP ลดลงมากถึง 13% ต่อปี และอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยลดลง 0.8-1.6 ปี จากฝุ่นพิษ ถ้าดูจากกราฟดัชนีการพัฒนามนุษย์ซึ่งรวมอายุขัยเฉลี่ยและรายได้ของทุกประเทศตั้งแต่ปี 1990 ถึงปี 2019 ไม่พบว่าลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น เริ่มลดลงหลังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด
“คนไทยอย่าตื่นกลัวฝุ่น PM2.5 มากเกินไป ขอให้ระมัดระวังตัวเรื่องโรคโควิดมากกว่า รีบไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดและฉีดเข็มกระตุ้น มีมาตรการส่วนบุคคล ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือต่อไป” นพ.มนูญระบุทิ้งท้าย