“ทีมชุดนี้แย่กว่าทีมเมื่อฤดูกาลที่แล้ว” เป็นคำพูดปิดท้ายในการแสดงความเห็นของโชเซ มูรินโญ ที่มีต่อแมนฯ ยูไนเต็ด ทีมเก่าของเขาในรายการวิเคราะห์ฟุตบอลรายการหนึ่งที่ออกอากาศในอังกฤษ และเป็นการสรุปที่เจ็บปวด
มูรินโญยืนยันว่าเขาไม่ได้มีความสุขหรือสะใจกับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่กับผลงานของแมนฯ ยูไนเต็ด ที่แพ้ต่อเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ในทางตรงกันข้ามเขารู้สึกเศร้าต่อสโมสรที่เขามีความผูกพัน และแฟนบอลที่เขายกย่องต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้
ขณะที่ รอย คีน อดีตกัปตันทีมซึ่งร่วมวิเคราะห์เกมด้วยในวันนั้นได้กล่าวถึงทีมรักของเขาว่า “พวกเขาดูขาดไปหมด ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความกระหาย ไม่มีความเป็นผู้นำ ไม่มีความเป็นนักสู้”
ก่อนจะสรุปว่า “หนทางจะกลับมาสำหรับแมนฯ ยูไนเต็ด นั้นยาวไกลเหลือเกิน และมันน่าตกใจมากเมื่อคิดถึงว่าพวกเขาตกต่ำลงมาไกลแค่ไหน”
ผมเองก็รู้สึกไม่แตกต่างกันครับ ถึงจะไม่เคยมีใจรักและภักดีต่อทีมคู่ปรับตลอดกาล แต่กับสิ่งที่พวกเขาเผชิญอยู่ในเวลานี้ หากจะไม่รู้สึกอะไรเลยหัวใจก็ดูจะแข็งเป็นหินมากไปสักหน่อย เพราะมันไม่ได้ต่างอะไรในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งนานทีเดียวที่ลิเวอร์พูลเคยตกอยู่ในสภาพเช่นนี้มาก่อน
แน่นอนครับว่ามีคำถามมากมายเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับสามส่วนหลักว่ามันเกิดอะไรขึ้น
หนึ่ง, คือ เอ็ด วูดเวิร์ด รองประธานสโมสรที่เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในการบริหารสโมสรในเวลานี้
สอง, คือเหล่านักเตะในทีมที่ย่ำแย่อย่างน่าใจหาย
และสุดท้าย คือตัวของ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ผู้จัดการทีมที่ช่วงเวลา 6 เดือนขมเหมือนบอระเพ็ด
ผมขออนุญาตพูดถึงโดยเรียงลำดับจากท้ายย้อนกลับขึ้นไปแล้วกันนะครับ
โซลชาร์อาจไม่ใช่ ‘The Right One’
ความจริงเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากตั้งข้อสงสัยอยู่เป็นทุนเดิม
ผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในการคุมทีมพรีเมียร์ลีกสั้นๆ กับคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ และเป็นช่วงเวลาที่ล้มเหลวด้วย นอกจากนั้นคือการคุมทีมในบ้านเกิดอย่างโมลด์ เครดิตเพียงเท่านี้มันน้อยเกินกว่าจะทำให้เชื่อได้ว่าโซลชาร์ จะเป็นคนที่สามารถนำแมนฯ ยูไนเต็ด กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง
เพียงแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานในช่วง 3 เดือนแรกของเขาในโอลด์แทรฟฟอร์ด มันดีจนเหมือนเต้นระบำอยู่ในโรงละครแห่งความฝัน
จากชัยชนะเหนือคาร์ดิฟฟ์ฯ ทีมเก่าของเขาในเกมแรกด้วยสกอร์ขาดลอยถึง 5-1 (ที่เหมือนเป็นการล้างแค้นกลายๆ) ปีศาจแดงภายใต้การนำของ ‘โอเล’ เก็บชัยชนะได้เกมแล้วเกมเล่าด้วยฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมราวกับเป็นคนละทีมกับในช่วงที่มูรินโญคุมทีม
จนกระทั่งถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโซลชาร์ กับการนำทีมบุกไปสยบปารีส แซงต์ แชร์กแมง ได้ราวปาฏิหาริย์ที่ปาร์กเดแพร็งส์ ในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
ผลงานดังกล่าว เมื่อรวมกับกระแสความนิยม ท่าที บุคลิก ทุกอย่างมันนำไปสู่การสรุปของฝ่ายบริหารว่าคนที่พวกเขาต้องการที่จะให้เป็นผู้กอบกู้สโมสรที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้วางมือคือโซลา คนที่ไม่ได้เป็น The Chosen One หรือ The Special One แต่น่าจะเป็น The Right One เสียที
อย่างไรก็ดีตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาแมนฯ ยูไนเต็ด มีแต่สาละวันเตี้ยลง โดยที่โซลชาร์ เหมือนจะไร้ไอเดียที่จะนำทีมกลับมาทำผลงานให้ดีขึ้นได้อีกครั้ง
จริงอยู่ที่ฟอร์มการเล่นที่ตกต่ำของทีมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล เช่น ตัวผู้เล่นบาดเจ็บ หรือฟอร์มการเล่นตกพร้อมกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นความรับผิดชอบของเขาโดยตรงในฐานะผู้จัดการทีม
ปัญหาใหญ่ที่สุดของโซลชาร์ คือความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำงานของเขามีไม่มากพอ ดังนั้นเมื่อถึงยามที่ทีมเริ่มประสบปัญหา กุนซือชาวนอร์เวย์จึงดูเหมือนจะรับมือไม่ถูกและรับมือไม่ไหว
การตัดสินบางอย่างของเขากลายเป็นดาบสองคม โดยเฉพาะการปล่อย โรเมลู ลูกากู และอเล็กซิส ซานเชซ ออกจากทีมเพื่อเปิดทางให้นักเตะรุ่นใหม่ขยับขึ้นมาทดแทน แต่ปรากฏว่าไม่มีใครที่จะก้าวมาทดแทนได้แบบเต็มที่จริงๆ
รวมถึงเรื่องของการจัดตัวผู้เล่น การปรับระบบและสไตล์การเล่น จาก 3-4 นัดแรกที่เล่นด้วยความหวือหวาเป็นแมนฯ ยูไนเต็ดในแบบที่ทุกคนคิดถึง กลับมาเป็นทีมที่เล่นได้น่าเบื่อและไร้ไอเดียยิ่งกว่ามูรินโญ และที่เลวร้ายกว่าคือไม่สามารถเก็บผลการแข่งขันได้ด้วย
นั่นทำให้หลายคนเริ่มคิดถึงคนอื่นที่ความจริงแล้วควรจะได้รับการพิจารณามานานแล้วอย่าง เมาริซิโอ โปเชตติโน – เพียงแต่ในช่วงที่แต่งตั้งโซลชาร์ ตัวของกุนซือชาวอาร์เจนไตน์ก็ยังไม่รู้อนาคตกับสเปอร์ส และในเวลานี้เองก็ยังไม่แน่ใจนัก แต่ความรู้สึกเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าอาจจะทำบุญร่วมกันมาแค่นี้
แต่กระนั้นการจะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้จัดการทีมเวลานี้หรือในเวลาอันใกล้นี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับใครเลย
แกรี เนวิลล์ เชื่อว่าโซลชาร์ ควรจะมีเวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีหรือ 4 รอบตลาดซื้อขายผู้เล่นเพื่อให้เขาได้มีทีมที่พร้อมจริงๆ
คำถามคือทุกคนพร้อมจะรอเขานานขนาดนั้นไหม?
แล้วโซลชาร์ ยังมีไฟจะสู้อีกแค่ไหน?
นักเตะที่ไร้คุณภาพแถมไร้ใจ
เมื่อครั้งที่ได้แฮร์รี แม็กไกวร์ ปราการหลังทีมชาติอังกฤษมาจากเลสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 80 ล้านปอนด์ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นกองหลังที่ค่าตัวแพงที่สุดในโลก หลายคนเชื่อว่านี่แหละคือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะทำให้แมนฯ ยูไนเต็ด กลับไปทวงความยิ่งใหญ่
แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างน้อยก็ในตอนนี้
แม็กไกวร์คนเดียวไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เพราะปัญหาเรื่องขุมกำลังของแมนฯ ยูไนเต็ด ในช่วงหลายปีหลังนั้นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าพวกเขามีขุมกำลังที่ดีไม่พอจะสู้กับคู่แข่งได้
ในแนวรับนอกจากแม็กไกวร์ ก็มีเพียง อารอน วาน บิสซากา ที่ย้ายมาใหม่ที่พอจะดูได้ แต่การเล่นร่วมกับวิคเตอร์ ลินเดอเลิฟ ทำให้ไม่แน่ใจว่าใครจะประคองใครกันแน่ ขณะที่แบ็กซ้าย ลุค ชอว์ ไม่เคยยืนระยะได้ ส่วนแอชลีย์ ยัง ในวัย 34 ปี เขาคือไม้ใกล้ฝั่งเต็มที
ที่แดนกลางนักเตะคนเดียวที่เป็นระดับ ‘ท็อป’ คือ ปอล ป็อกบา ปัญหาคือกองกลางชาวฝรั่งเศสไม่ได้มีหัวใจอยู่กับทีมในเวลานี้, ฆวน มาตา เคยเป็นยอดนักเตะแต่ช่วงเวลานั้นมันผ่านมานานกว่า 7 ปีแล้ว, อันเดรียส เปเรรา ไม่อาจแทรกตัวอยู่ในม้านั่งสำรองของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้, เนมันยา มาติช เริ่มหมดสภาพ ส่วนเฟร็ดอาจจะลืมไปได้เลย
ที่แนวรุก มาร์คัส แรชฟอร์ด และอองโตนี มาร์กซิยาล เป็นนักเตะดาวรุ่งพรสวรรค์สูงที่เก่งกาจจนน่ากลัวในวันของพวกเขา แต่ปัญหาเวลานี้คือพวกเขาไม่มีวันของพวกเขามาสักพักใหญ่ และยังเจอปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวนตลอดเวลา และดูเหมือนบทบาทการยืนเป็นศูนย์หน้าตัวเป้าของทั้งคู่นอกจากจะไม่ดีไปกว่าการใช้ลูกากูที่เป็นกองหน้าที่การันตี 20 ประตูต่อฤดูกาลเลย
เจสซี ลินการ์ด เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกกระแสโจมตีอย่างหนัก กับการเล่นที่ได้เพียงหวือหวาแต่ไม่มีประสิทธิภาพ
ส่วน ดาบิด เด เคอา แม้จะต่อสัญญาฉบับใหม่ (เพื่อยุติข่าวการย้ายทีมสักที) ก็แล้วแต่ฟอร์มของเขาเวลานี้แตกต่างจากในช่วงท็อปฟอร์มเหมือนคนละคน
คนที่กลายเป็นความหวังของทีมในเวลานี้ (เฉยเลย) คือ แดเนียล เจมส์ ปีกดาวรุ่งทีมชาติเวลส์จากสวอนซี ที่ย้ายมาด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์
ถ้าทีมใหญ่แบบนี้ต้องฝากความหวังกับนักเตะในเกรดนี้ แน่นอนว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวภายในทีมได้เป็นอย่างดี
ทั้งๆ ที่แมนฯ ยูไนเต็ด ใช้เงินมากกว่า 900 ล้านปอนด์ในช่วง 7-8 ปีหลังเพื่อซื้อผู้เล่นเข้าสู่ทีม และปัจจุบันจ่ายค่าเหนื่อยผู้เล่นปีหนึ่งถึง 332.3 ล้านปอนด์ มากกว่าทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีก
กระนั้นถึงจะดูเหมือนแย่ไปหมด แต่ในความจริงแล้วขุมกำลังของแมนฯ ยูไนเต็ดไม่ได้ขี้เหร่อะไรมากมายครับ ปัญหาคือพวกเขาสูญเสียความมั่นใจ และสิ่งเดียวที่จะนำพวกเขากลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้งคือการพยายามเรียกความมั่นใจกลับมา
เหมือนในเกมแรกๆ ที่โซลชาร์เข้ามาคุมทีม เทคนิคเป็นรอง แท็กติกสู้ไม่ได้ ก็วิ่งเข้าไป เอาหัวใจเข้าแลก
คำถามสำหรับนักเตะกลุ่มนี้คือพวกเขาเหลือแรงใจแค่ไหนที่จะทำ?
เอ็ด วูดเวิร์ด พระเอกนอกสนาม ผู้ร้ายในสนาม
มาถึงโจทก์หมายเลขหนึ่งของแฟนบอลปีศาจแดงอย่างเอ็ด วูดเวิร์ด
นับตั้งแต่เขาเข้ามารับงานต่อจาก เดวิด กิลล์ ในปี 2013 โอลด์แทรฟฟอร์ด ไม่เคยเป็นเหมือนเดิมอีกเลย
โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารส่วนที่เกี่ยวกับงานในสนามที่ต้องทำงานร่วมกับผู้จัดการทีมและสตาฟฟ์ มันคือหายนะของแมนฯ ยูไนเต็ด
การตัดสินใจเกือบทุกเรื่องของเขาจบลงด้วยความผิดพลาดและล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกผู้เล่น การเจรจาซื้อขายหรือต่อรองค่าเหนื่อย
ทั้งๆ ที่เขาไม่จำเป็นต้องเป็นคนลงมาเจรจาเองทุกครั้งก็ได้ แต่ทุกครั้งทุกดีล วูดเวิร์ด จะเป็นผู้ที่ทำการเจรจาด้วยตัวเอง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือการเจรจาอาจติดขัด ล่าช้า และส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ทำให้ทีมประสบปัญหาตามไปด้วยแบบเลี่ยงไม่ได้ เหมือนในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมาที่มีการวิพากษ์ว่าเขาทำการเจรจากับนักเตะทีละคน จนสุดท้ายเวลาหมดก็ได้มาเพียงแค่ 3 คนคือ เจมส์, วาน บิสซากา และแม็กไกวร์
ไปจนถึงการเลือกผู้จัดการทีมที่พลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก
ครั้งหนึ่งเขาเชื่อว่า หลุยส์ ฟาน ฮาล คือคนที่จะนำแมนฯ ยูไนเต็ด กลับมาเล่นฟุตบอลเกมรุกที่แพรวพราว ต่อมาเขาก็เชื่อว่ามูรินโญ จะเป็นคนที่นำทีมไปสู่การเป็น ‘ทีมพิเศษ’ ได้อีกครั้ง เช่นกันกับการที่ตัดสินใจแบบใจเร็วด่วนได้ว่า โซลชาร์ คือคนที่เหมาะสมสำหรับการกอบกู้ทีม
แฟนเรดอาร์มีเชื่อว่างานเหล่านี้ไม่ควรจะเป็นงานของเขามานานแล้ว มันควรจะเป็นงานของ Director of Football ที่มาดูแลเรื่องสำคัญเหล่านี้โดยตรง เหมือนที่แมนฯ ซิตี้ มีซิกิ เบกิริสไตน์ หรือลิเวอร์พูล มีไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส ดูแลเรื่องเหล่านี้แทนผู้จัดการทีม
อย่างไรก็ดีถึงจะเป็นที่ชิงชังของแฟนบอล แต่วูดเวิร์ดก็เป็นที่รักของครอบครัวเกลเซอร์เจ้าของสโมสร และเหล่าผู้ถือหุ้น
เหตุผลมาจากความสามารถในการหารายได้เข้าสโมสรของเขาไม่เป็นสองรองใคร โดยล่าสุดในงานประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นสโมสร วูดเวิร์ด ประกาศตัวเลขรายได้ของสโมสรที่ 627.1 ล้านปอนด์ ซึ่งเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 8%
แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่มีพาร์ตเนอร์ (สปอนเซอร์) มากที่สุดในโลก โดยในปีที่ผ่านมาพวกเขาตกลงกับพาร์ตเนอร์ได้ถึง 10 รายที่เป็นรายใหม่หรือรายที่มีการต่อสัญญาใหม่ ขณะที่ตัวเลขรายรับจากวันที่มีการแข่งขันต่อวันสูงถึง 111 ล้านปอนด์ ซึ่งมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก
ด้วยเหตุผลนี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขายังสามารถอยู่ในโอลด์แทรฟฟอร์ดได้ต่อไปแบบสบายๆ เพราะถึงผลงานในสนามจะไม่ดี แต่ผลงานนอกสนามโดยเฉพาะการหารายได้นั้นยอดเยี่ยม
แต่วูดเวิร์ด ยืนยันต่อทุกคนว่าเขาเองก็ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ทีมกลับมาประสบความสำเร็จในสนามให้ได้ด้วย
แม้มันอาจจะดูไม่น่าเชื่อสักเท่าไรก็ตามเมื่อคิดถึงผลงานของเขาที่ผ่านมา
จากปัญหาของ 3 ส่วนหลัก (และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบ) ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะดูยากไปหมด แต่มันก็อาจจะไม่ได้ยากขนาดนั้นครับ
สิ่งสำคัญคือความอดทน
แกรี เนวิลล์ อีกหนึ่งตำนานที่เป็นหนึ่งในคนที่วิพากษ์แมนฯ ยูไนเต็ด อย่างตรงไปตรงมา แนะนำว่าสโมสรเก่าของเขา “ต้องอดทนและทำตามแผนการที่พวกเขาวางเอาไว้อย่างเคร่งครัด ห้ามหวั่นไหวกับผลงานของทีมที่สามารถดีและแย่ได้ตลอดเวลา”
เนวิลล์ย้ำว่ามันจะมีความเจ็บปวดอีกมากมายที่รออยู่ในวันข้างหน้า
พวกเขาต้องการนักเตะชั้นดีอีกอย่างน้อย 5-6 คน หรือพูดง่ายๆ คือ ‘ครึ่งทีม’ สำหรับที่จะกลับมาต่อสู้กับทีมคู่แข่งได้อีกครั้ง และการซื้อผู้เล่นก็ต้องเป็นการซื้อที่ถูกต้องถูกตัวด้วยเหมือนที่พวกเขาอดทนจนได้ แม็กไกวร์ มาจากเลสเตอร์
การซื้อผู้เล่นสมัยนี้ไม่ง่ายเหมือนสมัยที่จะสามารถกระชากเอา เวย์น รูนีย์ มาจากเอฟเวอร์ตัน, ริโอ เฟอร์ดินานด์ จากลีดส์ ยูไนเต็ด หรือไมเคิล คาร์ริค จากสเปอร์ส ได้ง่ายๆ เพราะสโมสรรองๆ เหล่านี้มีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำกับเลสเตอร์ในรายของแม็กไกวร์คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
การเปลี่ยนแปลงตัวผู้จัดการทีมอย่างรวดเร็วก็อาจไม่ทำให้อะไรดีขึ้น ประสบการณ์ที่เจ็บปวดกับฟาน ฮาล และมูรินโญ ยังไม่ได้เลือนหาย
ยกเว้นว่าพวกเขาจะมีผู้จัดการทีมที่ใช่ในวันที่เหมาะสม เหมือนที่ลิเวอร์พูลได้เจอร์เกน คล็อปป์ มาเมื่อ 4 ปีก่อน
สิ่งที่จะเสริมจากความเห็นและคำแนะนำของเนวิลล์คือแมนฯ ยูไนเต็ด จำเป็นจะต้องมีคนที่เข้าใจเรื่องเกมฟุตบอลเข้ามาดูแลจัดการทีมเพิ่ม มันอาจจะต้องใช้เวลาบ้างในการเก็บกวาดซากปรักหักพังที่ทำไว้หลายปี แต่อาร์เซนอลที่มีการเปลี่ยนแปลงในจุดนี้ด้วยการได้ เอดู อดีตนักเตะชุดตำนานมาเป็นผู้อำนวยการสโมสรก็ทำให้ทีมดูและมีทิศทางมากขึ้น
เพราะถ้าทิศทางของสโมสรมันชัดเจนว่าอยากจะมุ่งไปในทิศทางไหน
ถึงจะต้องเดินทางไกล แต่อย่างน้อยทุกคนก็ยังรู้ว่าพวกเขามีเป้าหมายและปลายทางที่รออยู่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์