วันเวลาผ่านมากว่า 3 ปีแล้วหลังจากที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดคว้าโทรฟียูฟ่าแชมเปียนส์ลีกมาครองได้ในนัดชิงชนะเลิศที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
และก็เป็นเวลา 3 ปีแล้วเช่นกันที่ ‘ปีศาจแดง’ ไม่ได้สัมผัสกับความสำเร็จใดๆ อีกเลยนับจากนั้น
เรื่องที่น่าสนใจคือ ระยะเวลา 3 ปีดังกล่าวเป็นระยะเวลาการรอคอยที่ยาวนานที่สุดของพวกเขาในยุคสมัยใหม่ ครั้งสุดท้ายที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดต้องรอคอยความสำเร็จนานกว่านี้ต้องย้อนกลับไปไกลถึง 30 ปีที่แล้วในยุคของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
ครั้งนั้นยอดผู้จัดการทีมชาวสกอตแลนด์ตกอยู่ใต้สถานการณ์ที่กดดันอย่างหนัก เนื่องจากเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้วที่เขาเข้ามาเป็นนายใหญ่ในโอลด์แทรฟฟอร์ด แต่ทีมยังคงลุ่มๆ ดอนๆ และไม่มีวี่แววที่จะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง
ในฤดูกาล 1989-90 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 13 ซึ่งต่ำที่สุดของสโมสรนับตั้งแต่การตกชั้นในปี 1974
ผลงานดังกล่าวทำให้บอร์ดบริหารเริ่มคิดถึงการปลดผู้จัดการทีมชาวสกอตแลนด์ เพียงแต่ยังมีฟางเส้นสุดท้ายอยู่ เพราะทีมได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ โดยพบกับคริสตัล พาเลซในเกมนัดชิงที่เวมบลีย์ ในยุคสมัยที่ยังมีหอคอยคู่อยู่
เกมนั้นหากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแพ้ เฟอร์กี้จะถูกปลดจากตำแหน่งแน่นอน และประวัติศาสตร์ของเกมฟุตบอลอาจจะมีโฉมหน้าอีกแบบ
นัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพในปีนั้นต้องแข่งขันกันถึง 2 นัดด้วยกัน หลังจากที่เกมแรกจบลงด้วยการเสมอกันแบบสุดมัน 3-3 ทำให้ต้องมีเกมรีเพลย์กัน แต่ท้ายที่สุดเหล่าอสูรแดงก็สามารถพิชิตแชมป์แรกในรอบ 5 ปีได้สำเร็จด้วยชัยชนะ 1-0 ในเกมรีเพลย์จากประตูโทนของ ลี มาร์ติน ที่เป็นประตูชัย และเป็นประตูที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรก็ว่าได้
เพราะแชมป์ในวันนั้นทำให้เฟอร์กี้ยังได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือประวัติศาสตร์ กับช่วงเวลาของความยิ่งใหญ่ที่สืบเนื่องยาวนานกว่าสองทศวรรษ กับแชมป์พรีเมียร์ลีก 13 สมัย แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2 สมัย และอีกมากมาย
วันนี้เวลาผ่านมากว่า 30 ปี ทุกอย่างบนโลกเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว แต่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังคงต้องการแชมป์เหมือนเดิม ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของเวลานี้จะแตกต่างจากเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่ โชเซ มูรินโญ ต้องเลือกระหว่างการทำอันดับในลีกเพื่อให้ได้ติด Top 4 ไปเล่นแชมเปียนส์ลีก หรือการใช้ทางลัดด้วยการคว้าแชมป์รายการนี้เพื่อสิทธิ์ในการเล่นถ้วยใบใหญ่ของยุโรป
นั่นเพราะผลงานที่ร้อนแรงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจบฤดูกาลด้วยการเป็นทีมอันดับ 3 ได้สิทธิ์ไปเล่นแชมเปียนส์ลีกอย่างแน่นอนแล้ว ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ จะต้องตะบึงตะบอนโยนแรงกดดันให้ลูกทีมต้องคว้าแชมป์รายการนี้ให้ได้สถานเดียว
เพียงแต่ในอีกด้านหนึ่งแล้ว กับทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สิ่งที่พวกเขามองหาไม่ใช่แค่การทำอันดับไปแชมเปียนส์ลีก หากแต่เป็นโทรฟีแชมป์ต่างหากที่จะเติมเต็มความสุขให้แก่แฟนๆ ได้
นอกจากนี้การคว้าแชมป์ แม้จะเป็นแชมป์ใบเล็กที่พวกเขาเองแทบไม่เคยมองเห็นคุณค่าของมันมาก่อนในอดีต จะส่งผลกระทบต่อทีมอย่างมาก
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ณ เข็มนาฬิกาเดินไป แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้เปลี่ยนเป็นทีมที่น่าจับตามองมากที่สุด ทีมที่เคยเล่นกันได้อย่างสะเปะสะปะกลับมาเป็นทีมที่เล่นได้อย่างน่าจับตามองอีกครั้ง หลังจากที่ได้จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญอย่าง บรูโน แฟร์นันด์ส มาบัญชาการในแดนกลางของทีม
นอกจากนี้โซลชาร์ยังค้นพบสูตรแนวรุกชุดใหม่ มีทั้งความลงตัว และยังมีความพิเศษอย่างมาก เพราะ 3 ประสานอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด, อองโตนี มาร์กซิยาล ไปจนถึง เมสัน กรีนวูด ต่างเป็นแนวรุกที่มีความพิเศษในแบบของตัวเอง
ที่สำคัญคือ 3 คนนี้เล่นเข้ากันได้อย่างพอดี ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเกมรุกของทีมที่เคยหนืดและฝืดเคืองเรื่องจำนวนประตูตลอดหลายฤดูกาลที่ผ่านมา
ไม่นับสตาร์อย่าง ปอล ป็อกบา ที่กำลังพยายามจะกลับมาเป็นนักเตะที่ยอดเยี่ยมอีกครั้ง หรือ แฮร์รี แม็กไกวร์ ปราการหลังกัปตันทีมที่อาจจะมีบางนัดที่เล่นได้ไม่เข้าตา แต่ในภาพรวมแล้วอดีตนักเตะเลสเตอร์ ซิตี้มีส่วนในการช่วยให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแข็งแกร่งขึ้นจากเดิมไม่น้อย
ในเรื่องของขีดความสามารถและศักยภาพทีมชุดนี้ของโซลชาร์ยังมีโอกาสจะก้าวไปได้อีกไกล แต่สิ่งที่พวกเขาขาดตอนนี้คือประสบการณ์ และหนึ่งในประสบการณ์ที่สำคัญสำหรับทีมที่จะก้าวไปสู่การเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ได้คือการได้สัมผัสกับแชมป์
กลิ่นของความสำเร็จทำให้เกิดความกระหายที่จะประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนในทีมของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่กวาดแชมป์มาครองอย่างมากมายนับไม่ถ้วน
หรือตัวอย่างที่ชัดเจนและใกล้ตัวที่สุดคือลิเวอร์พูลและท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ซึ่งต่างเป็นสองทีมที่ถูกวางพื้นฐานมาอย่างดี
สิ่งที่แตกต่างระหว่าง ‘หงส์แดง’ และ ‘ไก่เดือยทอง’ คือการที่ลิเวอร์พูลสามารถคว้าโทรฟีแชมเปียนส์ลีกมาครองได้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทีมของ เจอร์เกน คล็อปป์ สามารถนำลิเวอร์พูลพิชิตแชมป์ลีกครั้งแรกในรอบ 30 ปีมาครองได้
ขณะที่สเปอร์สซึ่งเป็นทีมที่ดีมาหลายปีภายใต้การนำของ เมาริซิโอ โปเชตติโน แต่สุดท้ายการที่ทำได้แค่ ‘เกือบ’ ทำให้พวกเขาค่อยๆ ถอยหลัง และสุดท้ายนำไปสู่การล่มสลายของทีมที่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกอบกู้กลับมาได้
ดังนั้นแม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยต่อหลังฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจบฤดูกาลไปแล้วเมื่อสองสัปดาห์ก่อน แต่ 12 วันข้างหน้านับจากนี้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดต้องการชัยชนะอีกเพียงแค่ 3 นัดเท่านั้นในการคว้าแชมป์รายการแรกในรอบ 3 ปีของสโมสร
และเมื่อมองรายชื่อของคู่แข่งและคิดถึงฟอร์มการเล่นแล้ว ทีมของโซลชาร์ไม่ได้เป็นรองอินเตอร์ มิลาน, เซบียา หรือไบเออร์ เลเวอร์คูเซน และแน่นอนว่าพวกเขาดูดีกว่าเอฟซี โคเปนเฮเกน คู่แข่งในรอบ 8 ทีมสุดท้าย, ชัคตาร์ โดเนตส์ค, เอฟซี บาเซิล และวูล์ฟส์
นั่นหมายถึงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมองถึงแชมป์ได้ถ้าพวกเขาเล่นได้เต็มศักยภาพ
แน่นอนว่ามันไม่ใช่แชมป์ในยามปกติก็อาจจะมีคำถามบ้าง แต่ช่วงเวลาของความสำเร็จนั้นจะเป็น ‘ต้นทุน’ ที่จะถูกนำไปใช้ต่อยอดในการไล่ล่าความสำเร็จได้อีกมากมายในอนาคต
แค่นี้ก็คุ้มค่าพอที่เหล่านักเตะปีศาจแดง ไปจนถึงเหล่าเรดอาร์มีทุกคนที่จะอดหลับอดนอนกันอีกไม่กี่คืนเพื่อให้กำลังใจทีมให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จแล้ว
เพราะหากคว้าแชมป์รายการนี้ได้ มั่นใจได้อีกเยอะเลยว่าพวกเขามีโอกาสจะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้เร็วขึ้นแน่นอน!
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/sport/football/53708295
- https://www.thetimes.co.uk/edition/sport/the-europa-league-bubble-will-be-unique-test-for-manchester-united-xx56kzs9r
- https://www.telegraph.co.uk/football/2020/08/09/record-breaker-mason-greenwood-poised-start-against-copenhagen/
- https://www.independent.co.uk/sport/football/european/manchester-united-vs-copenhagen-europa-league-prediction-tv-channel-h2h-a9662231.html
- สำหรับการแข่งขันตั้งแต่ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ จะมีขึ้นที่ประเทศเยอรมนี ในแคว้นนอร์ท ไรน์-เวสฟาเลีย โดยจะมีการแข่งขันขึ้นสองเมืองด้วยกันคือที่เมืองโคโลญจน์และดุสเซลดอร์ฟ
- เดิมนัดชิงชนะเลิศปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 27 พฤษภาคมที่เมืองกดังสก์ ในประเทศโปแลนด์ แต่โรคระบาดทำให้ต้องมีการเปลี่ยนสถานที่จัดการแข่งขันและรูปแบบการแข่งขันใหม่ โดยโปแลนด์จะได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพสำหรับนัดชิงชนะเลิศยูโรปาลีกในฤดูกาลหน้า (2020-21) แทน
- จากเดิมที่จะแข่งในระบบเหย้า-เยือน คราวนี้จะใช้ระบบน็อกเอาต์แพ้ตกรอบทันที โดยหากเสมอกันใน 90 นาที จะมีการต่อเวลาพิเศษ และหากยังเสมอกันอีกใน 120 นาที จึงจะมีการตัดสินด้วยการยิงจุดโทษ
- เหมือนเดิมกับฟุตบอลลีกในช่วงรีสตาร์ทที่แต่ละทีมจะสามารถเปลี่ยนแปลงผู้เล่นได้ 5 คน โดยจะเปลี่ยนตัวได้ 3 ครั้งในระหว่างเกม และจะเปลี่ยนเพิ่มได้อีก 1 คนในช่วงของการต่อเวลาพิเศษ
- หากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและวูล์ฟส์ผ่านเข้ารอบต่อไปได้ จะต้องพบกันเองในรอบรองชนะเลิศ
- ถ้าวูล์ฟสคว้าแชมป์ยูโรปาลีกได้ จะได้สิทธิ์ในการไปเล่นแชมเปียนส์ลีกร่วมกับลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี ขณะที่โควตาในการไปยูโรปาลีกมีอยู่แล้ว 3 ทีมคือเลสเตอร์, อาร์เซนอล และสเปอร์ส ซึ่งหมายถึงจะมีทีมอังกฤษในฟุตบอลยุโรปฤดูกาลหน้าถึง 8 ทีม