×

รู้จัก ‘Football Director’ คนแรกของทีมปีศาจแดง บทบาท ความท้าทาย และสิ่งที่เขาต้องทำหลังจากนี้

11.03.2021
  • LOADING...
รู้จัก ‘Director of Football’ คนแรกของทีมปีศาจแดง บทบาท ความท้าทาย และสิ่งที่เขาต้องทำหลังจากนี้

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตกเป็นข่าวกับคนในวงการที่มีชื่อเสียงอย่าง เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์, ริโอ เฟอร์ดินานด์ หรือ ปาทริซ เอวรา รวมถึงบุคลากรระดับชั้นยอดของวงการอย่าง ราล์ฟ รังนิก ปรมาจารย์ลูกหนังชาวเยอรมนีในตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสร
  • จอห์น เมอร์โท ซึ่งทำงานอยู่เบื้องหลังอย่างเงียบๆ มาหลายปี กลับได้รับการแต่งตั้งเป็น Football Director พร้อมกับ ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์ อดีตสตาร์ของสโมสรที่ได้รับตำแหน่ง Technical director
  • เมอร์โทได้รับสมญาในวงการว่าเป็น The Fixer หรือช่างซ่อมที่จัดการแก้ไขปัญหาสารพัดให้กับทีม เป็นมือประสานสิบทิศที่จะทำงานร่วมกับ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ และรายงานตรงต่อ เอ็ด วูดเวิร์ดอีกที

แม้ว่าทีม ‘ปีศาจแดง’ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะทำผลงานได้ดีขึ้นอย่างมากในฤดูกาลนี้ โดยล่าสุดถึงจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ในการลุ้นแชมป์ดีขึ้นทันตาเห็น แต่อย่างน้อยก็สามารถหยุดสถิติชนะรวดของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คู่ปรับร่วมเมือง ไม่ให้ไปไกลกว่าการชนะรวด 21 นัดได้สำเร็จ แต่กับเรื่องนอกสนามแล้ว พวกเขายังเผชิญกับเครื่องหมายคำถามเสมอ

 

ย้อนกลับไปในช่วงต้นฤดูกาลที่ทีมของ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ เริ่มต้นฤดูกาลได้อย่างเลวร้าย ทางด้าน ปาทริซ เอวรา แบ็กซ้ายในตำนานของสโมสร ถึงกับอดรนทนไม่ไหว ตัดสินใจอัดคลิปวิดีโอเปิดใจคุยกับแฟนๆ ปีศาจแดง เพื่อระบายความคับข้องใจ

 

ในมุมมองของเอวรา คนที่ควรถูกตำหนิหากทีมมีผลงานที่ย่ำแย่ คือฝ่ายบริหารของสโมสรที่ไม่สามารถให้การสนับสนุนผู้จัดการทีมชาวนอร์เวย์ได้อย่างที่ควรจะเป็น การเจรจาหลายครั้งเป็นไปอย่างล่าช้าเกินไป และหลายครั้งก็ไม่มีความเป็นมืออาชีพมากพอ

 

เอ็ด วูดเวิร์ด ในฐานะผู้บริหารใหญ่ที่สุดของสโมสร เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนอกสนามทั้งหมด เป็นคนที่ต้องรับไปเต็มๆ เพียงแต่เอวรามีการเผยว่าบางทีคนที่เป็นตัวปัญหาอาจจะเป็นคนที่วูดเวิร์ดไว้วางใจให้ไปเจรจาอย่าง แมตต์ จัดจ์ ซึ่งเป็นคนที่ชำนาญทางกฎหมายและการเงิน ไม่ได้ชำนาญในเรื่องการเจรจากับผู้เล่น

 

การออกมาเปิดเผยของเอวราได้ทำให้แฟนๆ ปีศาจแดงได้เห็นภาพของปัญหาชัดขึ้นว่า เหตุใดทีมของพวกเขาจึงไม่สามารถปิดดีลสำคัญๆ ได้ หรือกว่าจะปิดดีลดีๆ อย่าง บรูโน แฟร์นันด์ส ได้ก็ต้องรอจนแทบจะถึงเส้นตายของการย้ายทีมอยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ดี เรื่องการเจรจาซื้อหาผู้เล่นนั้นเป็นปัญหาของทีมมาอย่างยาวนาน มีการพูดถึงเรื่องที่วูดเวิร์ดควรจะปล่อยงานในด้านออกไป ด้วยการหาคนที่มีความชำนาญการในเรื่องนี้โดยเฉพาะเข้ามาดูแล ซึ่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเองก็มีการปรับโครงสร้างของสโมสรมาได้เป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีชื่อของบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์, ริโอ เฟอร์ดินานด์ หรือ ปาทริซ เอวรา รวมถึงบุคลากรระดับชั้นยอดของวงการอย่าง ราล์ฟ รังนิก ปรมาจารย์ลูกหนังชาวเยอรมนี

 

แต่จู่ๆ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทางด้านแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้มีการประกาศแต่งตั้งผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอล (Football Director) คนแรกของสโมสร ซึ่งสร้างความฮือฮาอย่างมาก

 

เพราะคนที่ได้รับตำแหน่งนี้ไม่ได้เป็นคนในวงการที่ไหน แต่เป็นคนในของสโมสรเองอย่าง จอห์น เมอร์โท ซึ่งทำงานอยู่เบื้องหลังอย่างเงียบๆ มาหลายปี และไม่ได้มาคนเดียว แต่ได้รับการแต่งตั้งคู่กับคนคุ้นเคยเก่าอย่าง ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์ อดีตสตาร์ของสโมสร ที่ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสรฝ่ายเทคนิค (Technical director)

 

ว่าแต่ จอห์น เมอร์โท คนนี้คือใคร และบทบาทของเขาจะสำคัญแค่ไหนต่ออนาคตของสโมสร

 

ใครคือจอห์น เมอร์โท

 

ชื่อของ จอห์น เมอร์โท เป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูสำหรับแฟนบอลทั่วไป หรือต่อให้เป็นแฟนบอลเรดอาร์มีเองก็อาจจะสับสนว่าเขาเป็นใครมาจากไหน

 

ผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอลคนใหม่ของสโมสรเป็นคนที่ เดวิด มอยส์ ชักนำพาเข้ามาสู่สโมสรเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2013 โดยเคยร่วมงานกันมาด้วยกันตั้งแต่สมัยอยู่กับเอฟเวอร์ตัน ก่อนที่เมอร์โทจะทำงานในฝ่ายการพัฒนาเยาวชนของพรีเมียร์ลีก 

 

งานของเขาโดยส่วนใหญ่เป็นงานในระดับทีมเยาวชน จึงไม่แปลกที่แสงไฟจะส่องไปไม่ถึง แต่ในปี 2016 เมอร์โทได้รับการแต่งตั้งจากสโมสรให้เป็น Head of Football Development หรือหัวหน้าแผนกฝ่ายพัฒนาฟุตบอล ซึ่งมีหน้าที่ง่ายๆ คือการ ‘ปั้น’ เด็กจากทีมเยาวชนให้ขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ ซึ่งเป็นงานที่เขาถนัด เพราะทำมาตลอด 23 ปีในวงการฟุตบอล

 

จากนั้นในปี 2018 เมอร์โทซึ่งเป็นคนสำคัญอยู่เบื้องหลังของสโมสรได้มีส่วนกับทีมฟุตบอลหญิงของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่เริ่มตั้งทีมใหม่ โดยที่เขาแนะนำตัวเองกับคนในวงการว่าเป็น ‘ผู้อำนวยการสโมสร’ 

 

อย่างไรก็ดี แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไม่ได้มีการโปรโมตเขาขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สโมสรมีการมองหาคนที่มีความรู้ความสามารถมากมายหลายคนที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของ เอ็ด วูดเวิร์ด และทีมงานที่ถูกเพ่งเล็งอย่างหนักในเรื่องของการเจรจาซื้อขายผู้เล่นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

 

มีรายงานข่าวว่าสุดท้ายแล้วเมอร์โทได้เสนอตัวที่จะขอเป็นผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอลของสโมสรด้วยตัวเอง ซึ่งผู้บริหารระดับสูงเห็นผลงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ทำงานร่วมกับโซลชาร์อยู่เบื้องหลังก็มีความมั่นใจ และโปรโมตให้อย่างเป็นทางการ

 

เมอร์โทกล่าวหลังได้รับตำแหน่งว่า “นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับทุกคนที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทั้งทีมชุดใหญ่ ทีมเยาวชน และทีมหญิง ต่างทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม และเรายังพัฒนาได้อีกมาก ผมรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ และเป็นเกียรติที่จะได้เป็นผู้นำในงานด้านฟุตบอลของสโมสร ทำงานร่วมกับ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ และเจ้าหน้าที่เก่งกาจอีกมากมายที่พร้อมอุทิศทุกสิ่ง เพื่อนำความสำเร็จมาสู่สโมสร”

 

The Fixer และบทบาทหน้าที่ของเขา

 

เมอร์โทได้รับสมญาในวงการว่าเป็น The Fixer หรือช่างซ่อมที่จัดการแก้ไขปัญหาสารพัดให้กับทีม

 

งานใหม่ของเขาในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอลเองก็มีหน้าที่คล้ายแบบนั้น โดยตามคำจำกัดความที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแจกแจงให้ทุกคนได้เข้าใจมีดังนี้

 

“ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอล จอห์นจะทำงานร่วมกับโอเล (กุนนาร์ โซลชาร์) ในแต่ละวันเกี่ยวกับเรื่องของการจัดหาผู้เล่น และกลยุทธ์อื่นๆ ที่จะทำให้ทีมชุดใหญ่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะนำสโมสรไปสู่ความสำเร็จ โอเลจะยังทำหน้าที่ของเขาต่อไปในกระบวนการสรรหาผู้เล่น ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนโดยเครือข่ายแมวมองและแผนกวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งจะรายงานตรงต่อจอห์น”

 

เปรียบภาพให้เห็นง่ายๆ เมอร์โทคือมือประสานสิบทิศที่มีหน้าที่ในการแบ่งเบาเรื่องของการเฟ้นหาผู้เล่นที่มีความเหมาะสมและการหาวิธีที่จะนำสโมสรไปสู่ความสำเร็จ โดยจะทำงานร่วมกับโซลชาร์ และมีทีมแมวมองกับทีมวิเคราะห์เป็นลูกมือ ซึ่งทั้งหมดจะรายงานตรงต่อวูดเวิร์ดอีกที

 

แต่ที่น่าสนใจคือ ส่วนของการเจรจาจะยังเป็นหน้าที่ของ แมตต์ จัดจ์ คนสนิทของวูดเวิร์ดที่ได้รับการโปรโมตเช่นกันจากหัวหน้าแผนกประสานงานในการพัฒนา ก็จะเปลี่ยนเป็น Director of Football Negotiations หรือผู้อำนวยการฝ่ายการเจรจาฟุตบอลโดยเฉพาะ

 

ขณะที่ ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์ ซึ่งเพิ่งจะได้กลับมารับตำแหน่งโค้ชของสโมสรเมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค ซึ่งมีหน้าที่ในการทำงานช่วยเหลือเมอร์โทอีกทอดหนึ่ง รวมถึงจับตาดูฝั่งของทีมเยาวชนด้วยอีกขา และทำงานร่วมกับทีมวิเคราะห์ของสโมสรด้วย 

 

เฟล็ตเชอร์ยังจะมีบทบาทในการเสนอความเห็นให้แก่เมอร์โท ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการเล่นฟุตบอลอาชีพระดับสูงสุดมาก่อนเพื่ออุดช่องโหว่ เช่น การให้ความเห็นเกี่ยวกับเทคนิคและแท็กติกของเกมฟุตบอลเป็น Second Opinion ให้ตัดสินใจอีกที เป็นการผนึกกำลังกันที่น่าจับตามองว่าจะไปได้รุ่งหรือไม่

 

 

สิ่งที่ ‘ผอ.จอห์น’ ต้องทำ

 

แม้ว่าจะเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง แต่ดูเหมือนงานของเมอร์โท หรือเราอาจจะเรียกเขาว่า ‘ผอ.จอห์น’ นั้นกองเป็นภูเขาตั้งแต่วันแรกเลย

มีอะไรบ้าง

งานช้างที่สุดคือเรื่องอนาคตของ ปอล ป็อกบา สตาร์อันดับต้นๆ ของทีม ที่เหลือระยะเวลาในสัญญาอีก 1 ปีครึ่ง และถึงจุดที่จะต้องตัดสินว่าจะมีการเจรจาต่อสัญญากันหรือไม่ หลังจากที่ท่าทีของสตาร์ชาวฝรั่งเศสมีการเปลี่ยนไปมา จากเดิมที่คิดว่าจะย้ายออกอย่างเดียว ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนท่าที (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโควิด-19 ทำให้ทุกสโมสรไม่มีอำนาจทางการเงินเหมือนเดิม) 

 

อีกรายที่เป็นเรื่องเป็นราวในเวลานี้คือ เอดินสัน คาวานี ศูนย์หน้าจอมเก๋าชาวอุรุกวัย ที่แม้จะทำผลงานได้ดีไม่น้อย แต่มีข่าวว่าไม่มีความสุขกับการเล่นในอังกฤษ และกำลังคิดถึงการกลับไปเล่นในอาร์เจนตินากับโบคา จูเนียร์ส สโมสรในดวงใจ หลังหมดสัญญา ซึ่งเมอร์โทและโซลชาร์จะต้องทบทวนว่าจะปล่อยไป หรือจะพยายามรั้งเอาไว้ต่อ เพราะการหาศูนย์หน้ามาทดแทนในระดับใกล้เคียงกันไม่ใช่เรื่องง่าย

 

แค่รายของป็อกบากับคาวานีก็เป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง ไม่นับสถานการณ์ของผู้รักษาประตูที่สโมสรจะเลือกใครระหว่าง ดาบิด เด เคอา กับ ดีน เฮนเดอร์สัน ที่ปัจจุบันได้โอกาสในระหว่างที่ประตูชาวสเปนกลับไปดูแลภรรยาและลูกที่เพิ่งเกิด และทำผลงานได้น่าประทับใจ 

 

เมอร์โทยังต้องวิเคราะห์แนวรับของทีมด้วยว่าจะหาทางทำให้แข็งแกร่งขึ้นได้อีกไหม โดยปัจจุบัน เอริก ไบยี เหลือสัญญาอีกถึงปี 2022 ทำให้ทีมต้องมองหาตัวเลือกใหม่เข้ามาทดแทน

 

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็น ‘ปม’ ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมาหลายปี คือการหานักเตะระดับ Marquee Signing หรือตัวท็อปของวงการเข้ามาสร้างสีสัน โดยปีที่แล้วพวกเขาพลาดการได้ตัว จาดอน ซานโช จากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ขณะที่ปีนี้มีโอกาสมากขึ้น แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเบนเป้าหมายไปสู่ เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ ดาวยิงร่วมทีมเสือเหลือง

 

แต่ฮาลันด์เองก็เป็นเป้าหมายของทุกสโมสรยักษ์ใหญ่ ดังนั้นการจะคว้าตัวมาให้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นงานที่พิสูจน์ฝีมือพอสมควรเลยทีเดียว

 

นอกจากนี้ เขายังต้องหาทางโละนักเตะที่ไม่จำเป็นกับทีมออกไปให้ได้มากที่สุดและได้ประโยชน์ที่สุดด้วย ไม่ว่าจะเป็น อันเดรียส เปเรรา, เจสซี ลินการ์ด, ดีโอโก ดาโลต์, ฟิล โจนส์ และอาจรวมถึงดาวรุ่งอย่าง แบรนดอน วิลเลียมส์ และ อักเซล ตวนเซเบ

 

ในส่วนทีมเยาวชนก็ต้องทำงานร่วมกับเฟล็ตเชอร์และอคาเดมีในการเฟ้นหาสายเลือดใหม่ที่น่าตื่นเต้นขึ้นชั้นมา ควบคู่กับการมองหาดาวรุ่งอนาคตไกลจากต่างแดนหรือสโมสรภายในประเทศเข้ามาขัดเกลา ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเริ่มปรับนโยบายไม่ซื้อสตาร์ดัง แต่เริ่มเดิมพันกับนักเตะอนาคตไกล โดยรายที่โดดเด่นที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือ อามัด ดิยัลโล ปีกดาวเด่นที่ทุ่มซื้อมาจากอตาลันตา

 

สุดท้ายคือเรื่องสัญญาฉบับใหม่ของโซลชาร์ที่มีถึงปี 2022 งานนี้อาจจะดูง่ายกว่างานอื่น เพราะทิศทางตอนนี้กุนซือชาวนอร์เวย์ชนะใจทุกฝ่าย แต่หากย้อนกลับไปในช่วงที่มีการเซ็นสัญญาถาวร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก็โดนวิพากษ์เยอะว่ารีบร้อนจนเกินไป ปิดโอกาสให้ทีมได้ทำการเจรจากับแคนดิเดตระดับท็อปของวงการรายอื่นๆ

 

การต่อสัญญาของโซลชาร์จึงต้องเป็นไปในจังหวะที่เหมาะสมกว่าเดิม รวมถึงระยะเวลาในสัญญาที่จะบ่งบอกทิศทางในอนาคตด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เมอร์โทต้องตัดสินใจ

 

คิดตามก็รู้สึกปวดหัว แต่คิดอีกทีก็คือความท้าทายของชีวิต

 

ไม่ว่าจะสำหรับเมอร์โทเอง หรือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเองก็ตาม หลังจากนี้จะดีกว่าเดิมหรือไม่ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง!

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X