×

ดรอปโรนัลโด-ให้โอกาสซานโช-เพรสซิง การเดิมพันของ ไมเคิล คาร์ริก ที่เกือบได้ Famous Win จากเชลซี

29.11.2021
  • LOADING...
Manchester United

หากไม่เสียจุดโทษแบบโชคร้าย ซึ่งเป็นโอกาสให้จอร์จินโญรอดพ้นจากการนอนฝันร้าย ผมเชื่อว่ามีโอกาสที่แมนเชสเตอร์​ ยูไนเต็ดจะบุกมาคว้าชัยชนะอันโด่งดัง (Famous Win) ได้ที่สแตมฟอร์ดบริดจ์ เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาครับ

 

เพราะถึงจะโดนกดจนโงหัวแทบไม่ขึ้น วิ่งเป็นลิง และรอดตัวหวุดหวิดในหลายต่อหลายจังหวะ แต่ดูเหมือนนี่เป็นเกมที่ดีที่สุดของพวกเขาในรอบหลายนัดในหลายแง่

 

โดยเฉพาะในเรื่องของทีมสปิริต ซึ่งเป็นเสาหลักสุดท้ายที่ค้ำยันแมนฯ ยูไนเต็ดเอาไว้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่ง มาร์คัส แรชฟอร์ด เปิดเผยในบทสัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟกับ Sky Sports ว่านี่คือสิ่งที่ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ สั่งไว้ในวันลาว่า “ขอให้ทุกคนสามัคคีกันไว้”

 

อย่างไรก็ดี กำลังใจอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ในสนามครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพบกับทีมที่แข็งแกร่งที่สุดทีมหนึ่งอย่างเชลซี ที่อันตรายไปทุกภาคส่วน เป็นทีมในอุดมคติที่ทั้งทีมคืออาวุธโดยไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งพาสตาร์คนหรือสองคน

 

ในเกมที่เดอะบริดจ์ แมนฯ ยูไนเต็ดยังคงอยู่ภายใต้การคุมทีมของกุนซือรักษาการณ์อย่าง ไมเคิล คาร์ริก ซึ่งยังยอมรับหลังจบเกมว่า ยังไม่แน่ใจว่านี่จะเป็นโอกาสสุดท้ายที่เขาได้คุมทีมลงสนามหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่าบางทีต่อให้ ราล์ฟ รังนิก เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว (ไม่นานเกินรอ) แต่เขาอาจจะได้โอกาสคุมทีมต่อในเกมพรีเมียร์ลีกนัดกลางสัปดาห์ที่จะพบกับอาร์เซนอล

 

คาร์ริกแสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาดด้วยการสั่งดรอป คริสเตียโน โรนัลโด ไว้ที่ข้างสนาม เพื่อส่ง เนมันยา มาติช ลงมายืนประคองเฟรด และสกอตต์ แม็คโทมิเนย์ พร้อมดัน บรูโน แฟร์นันด์ส ขึ้นสูงในบทคล้าย False Nine เพื่อใช้เกมไฮเพรสซิงปิดทางไม่ปล่อยให้เชลซีสามารถตั้งเกมได้สะดวกตั้งแต่แดนหลัง และฝากความหวังกับความเร็วและเทคนิคความสามารถเฉพาะตัวของ มาร์คัส แรชฟอร์ด และจาดอน ซานโช

 

การดรอปซูเปอร์สตาร์อย่างโรนัลโด เป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวมากครับ และเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การถกเถียงอย่างมากมายแน่นอน ซึ่งหลายท่านอาจจะได้เห็นวิดีโอการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่าง รอย คีน อดีตกัปตันปีศาจแดงกับ เจมี คาร์ราเกอร์ ในรายการวิเคราะห์เกมทางสถานี Sky Sports เกี่ยวกับเรื่องนี้

 

คีนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของคาร์ริก โดยบอกว่านักเตะอย่างโรนัลโด ถูกซื้อมาเพื่อลงเล่นในเกมที่มีความหมายสูงแบบนี้

 

ขณะที่คาร์ราเกอร์อยู่ฝั่งตรงข้าม เขาเชื่อว่าการดรอปสตาร์ชาวโปรตุเกสคือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้แมนฯ​ ยูไนเต็ดทำได้ดี – ในความหมายถึงการช่วยให้แมนฯ ยูไนเต็ดไม่โดนกระทำชำเราเหมือนที่พวกเขาถูกเปลือยเปล่าล่อนจ้อนในเกมกับลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ซิตี้

 

ผมเองอยู่ทีมคาร์ราเกอร์ครับ และเห็นด้วยกับการจัดทีมของคาร์ริกในเกมนี้ เพราะนี่คือหนทางเดียวที่พวกเขาจะมีแต้มกลับมาจากสแตมฟอร์ดบริดจ์ได้

 

สภาพของแมนฯ ยูไนเต็ดในเวลานี้ยับเยินอย่างมาก เป็นทีมที่ใกล้เคียงต่อคำว่าแตกสลาย คล้ายกับยอดทีมหลายๆ ทีมในอดีตที่เมื่อความมั่นใจที่มีถูกทำลายอย่างย่อยยับมาเป็นระยะเวลานาน ทีมจำเป็นต้องใช้เวลาสักพักใหญ่เพื่อรวบรวมทุกอย่างกลับมา ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจ ความเข้าใจในการเล่น แผนการเล่น ระบบ วิธีการเข้าทำ วิธีการป้องกัน

 

เปรียบให้เห็นภาพชัดมากขึ้น แมนฯ ยูไนเต็ดตอนนี้มีสภาพไม่ต่างอะไรจากลิเวอร์พูลในยุคบั้นปลายของ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ในช่วงปี 2015 ในการเป็นทีมที่แตกร้าวและไม่มีวันรวบรวมกลับมาให้เหมือนเดิมได้อีก

 

สิ่งที่คาร์ริกทำคือการพยายามประสานรอยร้าวนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็คือการเล่นวิ่งสู้ฟัดแบบนี้แหละ

 

ดังนั้น ตั้งแต่เสียงนกหวีดแรกเราจะได้เห็นแมนฯ ยูไนเต็ดพยายามวิ่งไล่เพรสสูงใส่ทีมที่ครบเครื่องอย่างเชลซีทันที และแม้มันจะดูน่าเศร้าอยู่บ้างที่นักเตะอย่างบรูโน ต้องพยายามชี้บอกแรชฟอร์ดและซานโชว่าให้รีบวิ่งขึ้นมาปิดคนนี้ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาขาด Instruction ในการเล่นแบบสมัยใหม่แค่ไหน

 

แต่หลังโดนนวดอยู่พักใหญ่ในช่วง 20 นาทีแรก (โดยเฉพาะช่วง 5-10 นาทีแรกที่เจียนอยู่เจียนไปอย่างมาก) เราจะเห็นว่ายูไนเต็ดค่อยๆ เล่นได้ดีขึ้น ในความหมายคือเริ่มบีบได้ เริ่มตัดบอลได้ ต่อให้จะทุลักทุเลอยู่บ้างแต่อย่างน้อยก็ไม่ทุเรศตาเหมือนหลายเกมก่อนหน้านี้ที่แพ้แบบไม่รู้จะทำอะไรเลย

 

รูปร่าง (Shape) ของเกมรับยูไนเต็ดค่อยๆ เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ที่สุดแล้วเชลซีเองก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อบาลานซ์ของเกมรุกริมเส้นทางซ้ายเสียไปจากการขาดหายของ เบน ชิลเวลล์ ซึ่งแม้ มาร์กอส อลอนโซ จะเป็นวิงแบ็กชั้นอ๋อง แต่ต้องยอมรับว่าความดุดันและอันตรายของเขาเวลานี้สู้รุ่นน้องชาวอังกฤษไม่ได้ และการประสานงานกับ คัลลัม-ฮัดสัน โอดอย ก็ไม่คลิกเท่าด้วย

 

ความสำเร็จจากการไม่เสียประตูในครึ่งแรกได้รับการต่อยอดด้วยประตูขึ้นนำของซานโช ซึ่งแม้จะเป็นความผิดพลาดมหันต์ของจอร์จินโญ ที่ดูดบอลลงกลางสนามพลาด แต่หากซานโชและแรชฟอร์ดไม่รีบวิ่งขึ้นไปไล่บอลด้วยความเร็วสายฟ้าฟาดทันทีนั้น ไม่มีทางที่พวกเขาจะกดดันจนกองกลางอิตาลีสายเลือดบราซิลจับบอลลั่นอย่างนั้นแน่นอน

 

และต่อให้เสียจุดโทษอย่างโชคร้ายไปแล้ว (ซึ่งการตัดสินใจถอดซานโชที่ยิงประตูได้เพื่อส่งโรนัลโดลงมาก็กลายเป็นอีกประเด็นที่ถูกถกเถียงกัน) ยูไนเต็ดก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมจะถลกแขนเสื้อลุยกับเชลซีที่เหนือชั้นแบบไม่มีคำว่ายอมแพ้อยู่ในแววตา

 

นักเตะที่ถูกวิพากษ์มาโดยตลอดอย่าง อารอน วาน-บิสซากา, แม็คโทมิเนย์ หรือเฟรด รวมถึง เอริก ไบยี และ วิคเตอร์ ลินเดอเลิฟ สู้แบบถวายชีวิต เช่นเดียวกับ ดาบิด เด เคอา ที่ยังคงเป็นพ่อมดเทา แกนดัล์ฟ กับการท่องมนต์ประกาศกร้าวว่า You Shall Not Pass ใส่นักเตะเชลซีทุกคน

 

เจอแบบนี้โคตรบอลอย่างเชลซีก็ไปไม่เป็น แม้ว่าจะรุกไล่บดขยี้หนักแค่ไหนก็ไม่ยุบ และความจริงพวกเขาก็รอดตัวเหมือนกันหากเฟรดไม่แสดงสปิริตด้วยการเปิดบอลคืนให้กับ เอดูอาร์ เมนดี ที่จ่ายบอลพลาดมหันต์เหมือนกัน (ความจริงคือมิดฟิลด์แซมบ้าขาอ่อนแล้วหลังไล่บดมาทั้งวัน)

 

แมนฯ ยูไนเต็ดของคาร์ริกอาจจะพลาด Famous Win ไปในเกมนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาได้เต็มๆ คือการเรียกความภาคภูมิใจกลับมา

 

ความภูมิใจนั้นไม่สามารถมองผ่านตัวเลขสถิติที่ตลอดทั้งเกมพวกเขาโดนบุกต้อนข้างเดียว แต่จะสัมผัสได้ผ่านความรู้สึกของคนที่ไม่ยอมแพ้อย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

 

ในความรู้สึกของผมนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่คาร์ริก – คนที่ถูกแซวเรื่องชื่อตำแหน่งว่าเป็น Interim Interim Manager หรือผู้จัดการทีมชั่วคราวของชั่วคราวอีกที – สามารถทำให้ยูไนเต็ดได้หลังช่วงเวลาที่ทุกข์เข็ญแบบนี้ และไม่น่าแปลกใจเลยที่แฟนเรดอาร์มีที่ติดตามมาเชียร์ถึงลอนดอนจะกู่ร้องชื่อของเขาอย่างกึกก้องที่เดอะบริดจ์

 

แต่หลังจากนี้มันคือหน้าที่ของผู้กอบกู้ตัวจริงอย่างรังนิกแล้วที่จะต้องเผชิญกับหนึ่งในงานที่ยากที่สุดในโลก โดยเฉพาะการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการใช้งานนักเตะอย่างโรนัลโด

 

ในโลกอุดมคติแล้ว โรนัลโดในวัย 36 ปีควรจะได้ทำในสิ่งที่เขาถนัดคือการอยู่ในกรอบเขตโทษเพื่อรอคอยช่วงเวลาที่ดีที่สุด และคว้าโอกาสจากช่วงเวลาเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำได้ดีเสมอแม้กระทั่งในยามยากแบบนี้ก็ตาม

 

ในโลกของความเป็นจริง ฟุตบอลของรังนิกคือ Gegenpressing ที่ทุกคนในทีมจำเป็นจะต้องช่วยกัน และคนสำคัญที่สุดในการเพรสซิงแบบนี้คือนักเตะที่ยืนอยู่บนสุดของทีมที่จะต้องเป็นคน ‘ลั่นไก’ (Trigger) ให้เพื่อนทุกคนขยับตาม

 

‘The Professor’ จะหาทางประนีประนอมได้ไหม คือสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปในอนาคต แต่อย่างน้อยคาร์ริก – ผู้ที่ยังต้องลุ้นว่าจะมีโอกาสได้เรียนรู้งานจากปรมาจารย์ต่อไปในฐานะหนึ่งในทีมงานไหม – ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการตัดสินใจที่เด็ดขาด การทำการบ้านที่ดี สามารถสร้างผลงานที่ดีได้

 

น่าเสียดายแทนสำหรับโซลชาร์ ที่นอกจากประสบการณ์จะอ่อนและความรู้ยังจำกัดอยู่มาก เขายังเป็นคนอ่อนโยนเกินจะตัดสินใจในแบบที่คาร์ริกทำด้วย

 

แต่อย่างน้อยที่สุดโซลชาร์ได้ทิ้งมรดกทีมที่มีขุมกำลังยอดเยี่ยมไว้ และคาร์ริกช่วยปลุกจิตวิญญาณกลับมา งานของรังนิก 6 เดือนหลังจากนี้อาจจะง่ายขึ้นสำหรับการปรับพื้นฐานทีมใหม่ ถมดิน ลงทราย เทปูน 

 

ก่อนที่ยูไนเต็ดจะเข้าสู่ยุคใหม่ ที่เราจะไม่พูดถึงทีมแบบเดียวกับยุคของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และ United Way อีกแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising