เป็นเวลา 10 สัปดาห์เต็มที่มีการไต่สวนคดีประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งถูกตั้งข้อหากระทำผิดมากถึง 115 ข้อหา ภายหลังจากที่พรีเมียร์ลีกสอบสวนเรื่องนี้มาอย่างยาวนานถึง 5 ปีเต็ม
ล่าสุดกระบวนการไต่สวนสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการแล้ว โดยที่มีความคืบหน้าที่น่าสนใจ รวมถึงเรื่องที่คนอยากรู้มากที่สุดว่า แล้วจะตัดสินคดีกันเมื่อไร?
สำหรับคนที่ยังสนใจและติดตามเรื่องนี้อยู่ มาอัปเดตกันอีกสักรอบ
คดีประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษที่ถูกจับตามองจากโลกลูกหนังทั้งใบ เป็นการต่อสู้กันระหว่างพรีเมียร์ลีกที่กล่าวหาสโมสรแมนฯ ซิตี้ ว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องกฎทางการเงิน (Multiple breaches of financial rules) อีกทั้งไม่ให้ความร่วมมือในกระบวนการสอบสวน (Failing to co-operate with a subsequent investigation)
โดยที่มาที่ไปของเรื่องราวนั้นโดยสรุปให้สั้นมาจากข้อมูลที่หลุดจากอีเมลของผู้บริหารระดับสูงของสโมสรจากเหตุการณ์ ‘Football Leaks’ อันโด่งดังในปี 2015 จากการแฮ็กข้อมูลของ รุย ปินโต แฮกเกอร์ชาวโปรตุเกสที่เปิดโปงข้อมูลความลับดำมืดของวงการฟุตบอลด้วยเอกสารจำนวนนับล้านๆ ชิ้น ที่มีขนาดข้อมูลมากถึง 1.9 เทระไบต์ ซึ่งถูกส่งต่อให้สำนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ โดยมี Der Spiegel นิตยสารในประเทศเยอรมนีตีพิมพ์เรื่องนี้
เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การพยายามตรวจสอบ ก่อนแมนฯ ซิตี้ จะเป็นสโมสรที่ถูกดำเนินการจากสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ UEFA ในกรณีการกระทำผิดต่อกฎทางการเงิน ซึ่งมีการตัดสินลงโทษขั้นรุนแรงในปี 2020 ด้วยการตัดสิทธิ์ห้ามลงแข่งขันในรายการของ UEFA เป็นระยะเวลา 2 ปี และปรับเงินอีก 30 ล้านยูโร
แต่แมนฯ ซิตี้ ไม่ยอมจำนน แต่งตั้งทีมกฎหมายระดับโลกต่อสู้กับ UEFA โดยยื่นอุทธรณ์ผ่านอนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) และชนะในการอุทธรณ์ เนื่องจากมีข้อกำหนดที่เป็นจุดอ่อนของ UEFA ว่าหลักฐานที่นำมาใช้ตัดสินเลยกำหนดระยะเวลาที่จะนำมาใช้ได้และไม่มีน้ำหนักที่มากพอ แต่ยังคงมีความผิดต่อการไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน
บทลงโทษในเวลานั้นจึงเหลือเพียงแค่การปรับเงินจำนวน 10 ล้านยูโร
อย่างไรก็ดี พรีเมียร์ลีกรับช่วงต่อในการดำเนินการต่อสู้กับแมนฯ ซิตี้ โดยฟ้องร้องดำเนินการให้เปิดเผยข้อมูลที่ปกปิดไว้ และได้รับชัยชนะในปี 2021 ซึ่งชัยชนะในเรื่องนี้นำไปสู่การตัดสินใจดำเนินการขั้นต่อไปด้วยการสั่งสอบสวนคดีประวัติศาสตร์ที่เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2023
โดยพรีเมียร์ลีกกล่าวหาทีมฟุตบอลซึ่งได้รับการหนุนหลังจาก ‘รัฐ’ อย่างอาบูดาบี หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่ากระทำผิดกฎทางการเงินมากถึง 115 ข้อหาในระหว่างปี 2009-2018 ทั้งยังไม่ให้ความร่วมมือต่อการสอบสวนคดีด้วย
แมนฯ ซิตี้ ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและประกาศพร้อมต่อสู้ด้วยทุกสิ่งที่มี ด้วยการแต่งตั้งทีมกฎหมายที่รวบรวมบุคคลที่เก่งที่สุดและช่ำชองในการต่อสู้เกี่ยวกับกฎหมายกีฬามากที่สุด ขณะที่พรีเมียร์ลีกไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต่อสู้เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่ผิดไปจากนั้น เพราะเรื่องนี้ยังสำคัญต่ออนาคตของวงการฟุตบอลอังกฤษด้วย
นั่นนำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดทางประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลทั่วโลก และอาจรวมถึงวงการกีฬาโลก ซึ่งหลังจากรวบรวมหลักฐานและพยานต่างๆ ก็เริ่มไต่สวนคดีกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา
การไต่สวนใช้ระยะเวลา 10 สัปดาห์เต็มที่ศูนย์ไกล่เกลี่ย International Dispute Resolution Centre และเพิ่งจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ โดยมีการเปิดเผยจากสื่อว่าการไต่สวนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายเป็นไปอย่างดุเดือด
ข้อมูลที่น่าสนใจล่าสุดที่เปิดเผยออกมาคือ
- จำนวนข้อกล่าวหาเพิ่มจาก 115 เป็น 130 ข้อหาแล้ว หลังจากจำแนกคดีใหม่ เนื่องจากมีความสับสนกันในรายละเอียดคดีที่ประกาศในช่วงแรก
- หลังจากการไต่สวนจบลงจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระ 3 คนที่ได้รับมอบหมายให้ตัดสินคดีประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งจะนำข้อมูลทุกอย่างที่ได้จากการไต่สวนมาใช้ประกอบการพิจารณาคดี
- ระยะเวลาที่คาดว่าจะประกาศคำตัดสินคือ ‘สิ้นเดือนมกราคม 2025’
- แต่เนื่องจากคดีมีความซับซ้อนสูงมาก อาจมีความล่าช้าในการตัดสินคดี
- การตัดสินจะอิงเสียงของคณะกรรมการทั้ง 3 คน หากมีความเห็นให้ฝ่ายใดชนะ 2 ใน 3 จึงจะถือเป็นผู้ชนะในคดีนี้
- ในกรณีที่แมนฯ ซิตี้ ถูกตัดสินว่ากระทำผิด บทลงโทษมีตั้งแต่
-
- การตัดแต้มเป็นจำนวนมาก
- หรือกรณีที่พบว่ามีความผิดร้ายแรงจำนวนมากที่พิสูจน์ได้ อาจถึงขั้นถูกปรับตกชั้น
- แต่ในกรณีที่ถูกลงโทษ เชื่อว่าแมนฯ ซิตี้ พร้อมที่จะอุทธรณ์คดีทันที ซึ่งมีสิทธิ์ทำได้ และในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การอุทธรณ์อาจใช้เวลาอีก 6-8 เดือนกว่าจะตัดสิน หรือจะกินระยะเวลาในฤดูกาลใหม่ 2025/26
- ในกรณีที่มีการตัดสินลงโทษปรับตกชั้น คณะกรรมการสามารถชะลอการลงโทษไว้จนกว่ากระบวนการอุทธรณ์จะสิ้นสุด
- การต่อสู้คดีนี้ที่กินระยะเวลานานถึง 5 ปี ทำให้พรีเมียร์ลีกใช้งบประมาณในการดำเนินการทางกฎหมายไปแล้วถึง 48.1 ล้านปอนด์ หรือกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่างบประมาณที่เคยตั้งไว้ถึง 6 เท่าด้วยกัน
สำหรับคดีนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีใหญ่ที่เพิ่งจบไปในประเด็นกฎ Associated Party Transactions (APTs) ซึ่งแม้ว่าแมนฯ ซิตี้ จะประกาศชัยชนะในคดีนี้ โดยระบุว่าพรีเมียร์ลีกออกกฎที่ ‘มิชอบด้วยกฎหมาย’ แต่ในการประชุมผู้ถือหุ้นพรีเมียร์ลีกล่าสุดมีการผ่านวาระปรับแก้กฎ APTs ให้ถูกต้องตามคำแนะนำของศาล
ส่วนบทสรุปของคดีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องรอติดตามกันต่อไป (อย่างอดทน…)
อ้างอิง:
- https://www.thetimes.com/sport/football/article/manchester-city-115-charges-date-pep-guardiola-wfmfzbrw5
- https://www.nytimes.com/athletic/5824730/2024/10/07/manchester-city-115/
- https://www.bbc.com/sport/football/articles/c1d7drg10nwo
- https://www.skysports.com/football/news/11679/12804623/man-city-premier-league-charges-explained-what-are-they-what-could-punishment-be-whats-the-timescale
- https://www.bbc.com/sport/football/66786085