×

แผนการครองโลกฟุตบอลของแมนเชสเตอร์ ซิตี้

22.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • City Football Group เจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ วางแผนเข้าเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลในทุกทวีปทั่วโลก โดยปัจจุบันมีสโมสรในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สเปน และอุรุกวัย โดยในอนาคตเตรียมบุกตลาดจีน อินเดีย และแอฟริกาใต้
  • แผนการตลาดในโลกออนไลน์ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยังได้ใช้คอนเทนต์วิดีโอผ่าน YouTube เป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารเพื่อเพิ่มฐานแฟนบอลทั่วโลก
  • รวมถึงการร่วมมือกับ Amazon Prime เปิดตัวสารคดีเบื้องหลังความสำเร็จของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017-2018 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเผยตัวตนของทีมให้กับแฟนบอลทั่วโลก

จากผลงานการออกสตาร์ทอย่างดีเยี่ยมของสโมสรเรือใบสีฟ้า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยล่าสุด ด้วยการเก็บ 6 คะแนนเต็มจาก 2 นัดของพรีเมียร์ลีกและกลับมายืนอยู่ในอันดับที่ 1 ของตารางฤดูกาลนี้ เห็นได้ชัดว่าสโมสรยังคงต่อยอดความสำเร็จและสร้างความยิ่งใหญ่ในเกาะอังกฤษอย่างต่อเนื่อง

 

 

แต่ว่าความสำเร็จของสโมสรไม่ได้หยุดอยู่เพียงเมืองแมนเชสเตอร์เท่านั้น เมื่อกลุ่มแนวร่วมการลงทุนแห่งอาบูดาบี (Abu Dhabi United Group for Development and Investment: ADUG), ไชน่า มีเดีย แคปิตอล (China Media Capital: CMC) และซิติก กรุ๊ป (CITIC Group) ที่เป็นเจ้าของบริษัท City Football Group (CFG) องค์กรฟุตบอลระดับโลก ได้ทำการเชื่อมต่อธุรกิจฟุตบอลเกือบทั่วทุกมุมโลก โดยพวกเขาเป็นเจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ (อังกฤษ), นิวยอร์ก ซิตี้ (สหรัฐฯ), เมลเบิร์น ซิตี้ (ออสเตรเลีย), โยโกฮามา เอฟ มารินอส (ญี่ปุ่น), ฌิโรนา (สเปน) และคลับ อัตเลตีโก ตอร์เก้ (อุรุกวัย) ด้วยแผนการเป็นเจ้าของสโมสรทุกทวีปบนโลก ด้วยการใช้ชื่อทีมที่มีชื่อเมืองอยู่ภายในทีม ซึ่งในอนาคต CFG ก็มีแผนเป็นเจ้าของสโมสรในประเทศจีน อินเดีย และแอฟริกาใต้อีกด้วย

 

 

 

คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เคยกล่าวถึงแผนการของ CFG ผ่าน City TV ไว้ว่า “เรามีความต้องการในฐานะกลุ่มฟุตบอลที่ต้องการมีองค์กรระดับสากล และมีหลายสโมสรเป็นส่วงหนึ่งของกลุ่ม

 

โดยสโมสรต่างๆ ที่ทาง CFG ได้เข้ามาเป็นเจ้าของจะมีการปรับเปลี่ยนโลโก้สโมสร ชื่อสโมสร และชุดแข่งขันให้เข้าเป็นธีมสีเดียวกับสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรเมลเบิร์น ฮาร์ท และเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นเมลเบิร์น ซิตี้ เอฟซี พร้อมกับเปลี่ยนโลโก้จากตัวเอ็มสีแดงเป็นวงกลมสีฟ้า

 

ซึ่งหลังจากการเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรต่างๆ การเจรจาทางธุรกิจก็เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อเนื่องในทันที เริ่มจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เซ็นสัญญามูลค่า 400 ล้านปอนด์กับ Etihad Airways บริษัทสายการบินสัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงสายการบิน Etihad ยังได้เซ็นสัญญากับนิวยอร์ก เอฟซี รวมถึงโลโก้ Etihad ยังปรากฏบนหน้าอกเสื้อของเมลเบิร์น ซิตี้ ในเอลีกของออสเตรเลียอีกด้วย

 

ขณะที่การเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลทั่วโลก เริ่มสร้างความกังวลให้กับคนในวงการฟุตบอลว่า เครือข่ายสโมสรฟุตบอลของ CFG อาจกลายเป็นพื้นที่สำหรับการสลับสับเปลี่ยนนักเตะระหว่างกันภายใต้บริษัท และเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดช่องว่างระหว่างกฎการซื้อขายและย้ายตัวนักเตะในแต่ละภูมิภาค

 

หนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้นคือ การที่ นิวยอร์ก เอฟซี เซ็นสัญญากับแฟรงค์ แลมพาร์ด กองกลางเชลซี ก่อนที่จะปล่อยให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ยืมตัว 1 ฤดูกาล แต่ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ฟีฟ่า และสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป ยูฟ่า ก็ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนกฎเพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจฟุตบอลในรูปแบบนี้

 

ปัญหาที่ตามมาในอนาคตคือเราอาจได้เห็นสโมสรที่มีเอกลักษณ์และเกิดขึ้นจากชุมชนท้องถิ่นน้อยลง หากสโมสรและบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาเป็นเจ้าของและเปลี่ยนแบรนด์ภาพลักษณ์ของทีมให้เข้ากับสโมสรหลัก

 

การใช้คอนเทนต์วิดีโอครองโลกออนไลน์

การแข่งขันทางการตลาดของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยังเป็นผู้นำทางคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอ โดยสร้างสถิติเป็นสโมสรแรกในปี 2017 ที่มียอดผู้ติดตามสูงถึง 1 ล้านคนใน YouTube

 

 

หนึ่งในคลิปเปิดตัวของคอนเทนต์วิดีโอของสโมสร คือการให้นักเตะเรือใบสีฟ้าออกมาทำ Harlem Shake ในปี 2013 จนกลายเป็นวิดีโอไวรัลที่ยอดวิวสูงกว่า 9.3 ล้านเป็นที่เรียบร้อย  

 

โดยแผนการล่าสุดของการสร้างคอนเทนต์วิดีโอต่อเนื่องคือ การร่วมมือกับ Amazon Prime เปิดตัวสารคดีเบื้องหลังความสำเร็จของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับฤดูกาลแรกที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา พาสโมสรคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ปี 2017-2018 ด้วยสถิติทำได้ 100 คะแนน สูงสุดของพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ภายใต้ชื่อ ‘All or Nothing’

 

 

ประธานฝ่ายปฏิบัติการ โอมาร์ เบอร์ราดา ประธานฝ่ายปฏิบัติการ ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Marketing Week ถึงแผนการตลาดผ่านช่องทาง YouTube เชื่อว่าช่องทางนี้คือการสื่อสารแบบสองด้าน ที่เปิดโอกาสให้สโมสรเพิ่มฐานแฟนคลับทั้งในอังกฤษและต่างประเทศ เชื่อมต่อความสัมพันธ์ของทีมให้กว้างไกลกว่าในวันที่มีการแข่งขัน

 

“มันไม่ใช่เพียงแค่วันแข่ง เพราะทุกวันนี้คุณสามารถหาไฮไลต์เกมการแข่งขันได้ง่ายมากในหลายแพลตฟอร์ม แต่สิ่งที่เราต้องการคือทำให้แฟนบอลรู้จักกับนักเตะมากขึ้น และให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังการแข่งขัน”

 

ซึ่งเห็นชัดว่าสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้กำลังสร้างฐานความสำเร็จแทบทุกด้าน ตั้งแต่ในสนามเอติฮัด สเตเดียม ในศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ รวมถึงการเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรในทั่วภูมิภาคของโลก และยังสร้างฐานแฟนคลับในโลกออนไลน์ผ่านคอนเทนต์วิดีโอ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเชื่อมโยงแฟนบอลจากทั่วโลกกลับมาร่วมสนับสนุนและสร้างความสำเร็จในเกาะอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง

 

 

แน่นอนเทคนิคทางการตลาดในโลกออนไลน์อาจจะยังไม่สามารถต่อกรกับสโมสรที่สร้างความสำเร็จมาก่อนอย่างลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานบนเกาะอังกฤษ

 

รวมถึงรูปแบบการทำธุรกิจที่เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรหลายสโมสร อาจจะดูคล้ายกับการทำธุรกิจของบริษัทสัญชาติออสเตรีย Red Bull GmbH ที่เป็นเจ้าของสโมสรทั่วโลกอย่าง เรดบูล ซัลซ์บวร์ก (ออสเตรีย) และ นิวยอร์ก เรด บูลล์ส (สหรัฐฯ), เรด บูลล์ส บราซิล, เรด บูลล์ส กานา และแอร์เบ ไลป์ซิก (เยอรมนี)

 

 

แต่ด้วยการที่บริษัท City Football Group นำเอารูปแบบต่างๆ มาผสมกันพร้อมกับการได้ผู้จัดการทีมอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา มาร่วมสร้างฐานความสำเร็จในสโมสรหลักอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลก เชื่อว่าสโมสรเรือใบสีฟ้าแห่งนี้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการฟุตบอลอย่างต่อเนื่อง และรูปแบบความสำเร็จนี้เชื่อว่าจะถูกนำไปปรับใช้โดยสโมสรและบริษัทที่ต้องการสร้างเครือข่ายธุรกิจผ่านโลกฟุตบอลในอนาคตอย่างแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X