×

เคล็ด(ไม่)ลับ กับการบริหารโบนัสให้คุ้มค่า

โดย SCB WEALTH
23.12.2020
  • LOADING...
การบริหารโบนัส

ทำงานกันมาทั้งปี มนุษย์เงินเดือนหลายคนคงลุ้นกันว่าจะได้เงินโบนัสเท่าไร แต่ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ใครที่ยังมีงาน มีเงินเดือน และแถมมีโบนัส ก็ถือว่าโชคดีที่สุดแล้ว สำหรับคนที่ได้โบนัสก็อย่าไปคิดว่าคือรางวัลของชีวิตที่เราจะทำอย่างไรกับเงินก้อนนี้ก็ได้ เพราะเงินก้อนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราไปสู่อิสรภาพทางการเงินในระยะยาวที่เร็วขึ้นอีกทางหนึ่ง แต่เราจะมีวิธีบริหารโบนัสอย่างไรให้งอกเงยได้ เพียง 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

 

ขั้นตอนที่ 1  เริ่มจากปลดหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเสียก่อน

 

ก่อนอื่นควรจะลิสต์หนี้ที่มีอยู่ในมือเสียก่อน แล้วดูว่าหนี้ตัวไหนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น หนี้จากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ค่าบ้าน ค่าคอนโดมิเนียม เป็นต้น จากนั้นให้เริ่มทยอยโปะหนี้ดังกล่าว ยิ่งโปะได้มากก็สามารถลดต้นลดดอกได้มากเท่านั้น ส่วนค่ารถอาจไม่จำเป็นต้องรีบโปะ เพราะว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ถึงแม้จะส่งหมดเร็วกว่ากำหนดดอกเบี้ยก็เท่าเดิมไม่ลดไปเท่าไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการเคลียร์หนี้ คือการรักษาวินัยทางการเงินหลังจากนี้อย่างเคร่งครัด ไม่ควรก่อหนี้เพิ่ม ไม่ผิดนัดชำระหนี้ ควรจัดสรรรายได้แต่ละเดือนให้รอบคอบ

 

ขั้นตอนที่ 2  แบ่งเงินออมตามเป้าหมาย

 

การออมสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องและความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละบุคคล แต่ไม่ว่าจะออมด้วยวิธีการใดก็ตาม ควรจะกำหนดวัตถุประสงค์ของเงินออมแต่ละก้อนให้ชัดเจน เช่น เงินออมฉุกเฉิน เงินออมเพื่อการเกษียณ และเงินออมสำหรับให้รางวัลตัวเอง เช่น ไปเที่ยวต่างประเทศ ซื้อของใช้ ต่อเติมบ้าน เป็นต้น ซึ่งแต่ละเป้าหมายมักจะมีความแตกต่างกันในช่วงระยะเวลา ดังนั้น การออมเงินเพื่อเป้าหมายแต่ละเป้าหมายจึงแตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งเงินออมเป็น 3 ช่วงระยะ ดังนี้

 

  • เงินออมระยะสั้น ตั้งแต่ 0-2 ปี เพื่อสำรองใช้ฉุกเฉิน หรือเก็บเพราะมีแผนใช้จ่ายในอนาคตอันใกล้ 
  • เงินออมระยะกลาง ตั้งแต่ 2-10 ปี เมื่อเก็บเงินฉุกเฉินได้ตามเป้าหมายระยะสั้นแล้ว จึงค่อยตั้งเป้าหมายในการออมเงินระยะกลาง หรือเงินก้อนที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต รวมทั้งสิ่งที่เราอยากได้ในระยะเวลา 2-10 ปี เช่น ซื้อบ้าน ผ่อนคอนโดมิเนียม ผ่อนรถ เก็บเงินสำหรับการท่องเที่ยวประจำปี กระทั่งเก็บเงินเพื่อทำธุรกิจ และลำดับความสำคัญในเป้าหมายว่าอันไหนก่อนหลังด้วย
  • เงินออมระยะยาว ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สำหรับเงินก้อนนี้จะไม่เร่งด่วนแต่มีความสำคัญมาก การถือครองการลงทุนในระยะยาวมักจะทนต่อความเสี่ยง หรือความผันผวนในราคาทรัพย์สินที่เลือกลงทุนได้ดีกว่าระยะสั้น ส่วนใหญ่เงินออมประเภทนี้ ได้แก่ เงินออมเพื่อการศึกษาบุตร หรือเงินออมเพื่อการเกษียณ เช่น กองทุนประเภท Super Savings ชนิดเพื่อการออม (SSF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น ซึ่งนอกจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ด้วยเงื่อนไขของการลงทุนในกองทุนประเภทนี้ ยังส่งผลทางอ้อมช่วยให้เรามีในวินัยในการออมมากขึ้น 

 

ขั้นตอนที่ 3  แบ่งเงินไปลงทุนเพื่อต่อยอดให้งอกเงย

 

นอกจากการออมแล้ว เราควรแบ่งเงินไปลงทุนเพื่อทำให้เงินงอกเงยยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวม หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เป็นต้น สำหรับมือใหม่หัดลงทุนหรือมนุษย์เงินเดือนที่ไม่ค่อยมีเวลาจัดการการลงทุนด้วยตนเอง ก็ขอแนะนำการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยกองทุนจะมีผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพด้านการลงทุนคอยดูแลให้ แต่ไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ตาม ขอให้คำนึงถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพราะสินทรัพย์ทางการเงินในแต่ละรูปแบบมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ควรดูว่าคุณเหมาะกับการลงทุนแบบมีความเสี่ยงประเภทใด

 

  • ลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่ำ โอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบนี้จะไม่สูงนัก จะเน้นรักษาเงินต้น ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้
  • ลงทุนแบบมีความเสี่ยงปานกลาง โอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนจะไม่ต่ำและไม่สูงจนเกินไป ได้แก่ กองทุนรวมผสมที่ลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน (หุ้น) 
  • ลงทุนแบบมีความเสี่ยงสูง โอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีโอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน ได้แก่ กองทุนตราสารทุน (หุ้น) 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดของการลงทุน คือ ต้องศึกษาข้อมูลกองทุนให้ดีก่อนลงทุน เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง อย่าได้ลงทุนจนเกินกำลังของตัวเอง และควรต้องเก็บออมอย่างมีวินัยสม่ำเสมอ เพื่ออนาคตที่มั่นคงนะคะ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X