15 ปีที่แล้ว เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้พูดถึงแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เพิ่งได้เจ้าของสโมสรใหม่อย่าง เชค มานซูร์ ในนามกลุ่มทุนจากอาบูดาบีที่เข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรต่อจาก ทักษิณ ชินวัตร ด้วยความรู้สึกไม่สบอารมณ์
“เพื่อนบ้านจอมโวยวาย” คือคำที่อดีตผู้จัดการทีมผู้ยิ่งใหญ่เคยเหน็บแนมเอาไว้อย่างเจ็บแสบ
บริบทในช่วงเวลานั้น แมนฯ ยูไนเต็ด คือสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ในขณะที่แมนฯ ซิตี้? ไม่ถึง 10 ปีก่อนหน้านั้นพวกเขายังตกไปเล่นในระดับดิวิชัน 2 (หรือปัจจุบันคือลีกวัน) อยู่เลย แต่พยายามจะสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่หลังได้เจ้าของที่มีอำนาจทางการเงินอย่างไร้ขีดจำกัด
หนึ่งในนักเตะระดับสตาร์ที่ซิตี้ไปคว้าตัวมาก็คือ คาร์ลอส เตเวซ ที่เคยเป็นขวัญใจในโอลด์แทรฟฟอร์ดมาก่อน พร้อมกับขึ้นป้ายขนาดใหญ่ที่แสบสันสุดๆ ว่า “Welcome to Manchester”
ความหงุดหงิดในใจของเฟอร์กี้ได้รับการปลดปล่อยหลังจบเกมแมนเชสเตอร์ดาร์บีแมตช์ซึ่ง ไมเคิล โอเวน ทำประตูชัยในช่วงทดเวลาบาดเจ็บให้ยูไนเต็ดเป็นฝ่ายเฉือนเอาชนะได้อย่างสุดมัน 4-3
“ในเวลานี้เรามีเพื่อนบ้าน แล้วเพื่อนบ้านมันก็ดันเสียงดังโวยวาย เราทำอะไรพวกเขาไม่ได้ ก็แค่ต้องรับเรื่องนี้ในชีวิตให้ได้”
15 ปีผ่านมา แมนฯ ยูไนเต็ด กำลังทำในสิ่งที่เพื่อนบ้านผู้น่ารำคาญเคยทำกับพวกเขา
แต่คราวนี้ไม่ได้ดึงนักเตะ เป็นการคว้าตัว ‘มันสมอง’ ของสโมสรอย่าง โอมาร์ เบอร์ราดา ที่จะมารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของโอลด์แทรฟฟอร์ด ที่ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์
แมนเชสเตอร์จะต้องกลับมาสีแดงให้ได้อีกครั้ง
ภายหลังจากการที่กลุ่ม INEOS ซึ่งนำโดย เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของอังกฤษ เข้าซื้อหุ้นของแมนฯ ยูไนเต็ด จำนวน 29% ต่อจากครอบครัวเกลเซอร์ ซึ่งยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอำนาจมากที่สุด แต่มีการตกลงกันว่าจะส่งต่อการบริหารสโมสรทุกอย่างให้กับฝ่ายของ INEOS จัดการ
สิ่งที่ผู้คนจับตามองอย่างมากคือ แรตคลิฟฟ์จะส่งใครเข้ามาบริหารในส่วนใดบ้าง
ในส่วนของด้าน ‘กีฬา’ ดูเหมือนจะชัดเจนว่า เซอร์เดฟ เบรลส์ฟอร์ด ที่เปรียบดังมือขวาและมันสมองของแรตคลิฟฟ์จะเป็นคนเข้ามาดูภาพรวมให้อย่างแน่นอน พร้อมกับควบเก้าอี้บอร์ดบริหารด้วยอีกทาง ซึ่งได้เริ่มแผนการในระยะแรกบางส่วนที่พอทำได้ไปบ้างแล้ว เช่น การนำแนวคิด Marginal Gains หรือการทำให้ดีขึ้นอย่างละนิดมาใช้ และเตรียมจะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยบริหารงานวิเคราะห์ข้อมูลของสโมสรด้วย
แต่ INEOS ยังต้องการคนที่จะเข้ามาบริหารจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย โดยต้องเป็นคนที่มีทั้งความเข้าใจในเกมฟุตบอลที่ลึกซึ้ง และเป็นคนที่เข้าใจในขาของธุรกิจด้วย
ปรากฏว่าคนที่ INEOS เลือกเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอของสโมสรต่อจาก ริชาร์ด อาร์โนลด์ คือ โอมาร์ เบอร์ราดา ผู้บริหารระดับสูงคนสำคัญของแมนฯ ซิตี้ ซึ่งเป็นการกระชากตัวที่สั่นสะเทือนใจถึงอาบูดาบีเลยทีเดียว
ทำไมต้องคนนี้?
โอมาร์ เบอร์ราดา เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการฟุตบอล
คนผู้นี้คือหนึ่งในมือทำงานเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของบาร์เซโลนาในช่วงปี 2008 ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคทองของยักษ์ใหญ่แห่งกาตาลัน ที่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่เคยกลับไปยิ่งใหญ่เหมือนเดิมได้อีกเลย และกลายเป็นสโมสรที่บริหารงานได้อย่างเละเทะที่สุด
เบอร์ราดาตาม เฟร์ราน โซเรียโน และ ซิกิ เบกิริสไตน์ ที่อำลาบาร์ซามาอยู่กับแมนฯ ซิตี้ ก่อนแล้วตั้งแต่ในยุคก่อร่างสร้างตัวใหม่ และเข้ามามีบทบาทสำคัญภายในสโมสรในฐานะผู้บริหารของเครือ City Football Group
City Football Group คือบริษัทที่ไม่เพียงแค่ดูแลแมนฯ ซิตี้ เท่านั้น แต่ยังขยายฐานความยิ่งใหญ่ไปทั่วโลกผ่านการเข้าซื้อกิจการของสโมสรฟุตบอลในประเทศต่างๆ เพื่อคอยผลิตนักเตะหรือสอดส่องนักเตะจากทั่วโลกเข้ามาอยู่ในสังกัดของแมนฯ ซิตี้ อีกทอดหนึ่ง รวมถึงการขายนักเตะที่สร้างขึ้นผ่านระบบอะคาเดมีที่ดีที่สุดสโมสรหนึ่งของโลก เพื่อสร้างรายได้อีกทอดหนึ่ง
สโมสรในเครือของ City Football Group ที่ร้อนแรงที่สุดในเวลานี้คือ กิโรนา ที่ขึ้นมาเบียดชิงจ่าฝูงกับเรอัล มาดริด ในลาลีกา สเปน โดยพวกเขาถือหุ้นอยู่ 47% ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีหุ้นอยู่กับหลายสโมสร ไม่ว่าจะเป็น เมลเบิร์น ซิตี้ เอฟซี, มุมไบ ซิตี้, นิวยอร์ก ซิตี้, ทรัวส์, ปาแลร์โม, บาเฮีย ไปจนถึงโยโกฮามา เอฟ มาริอส ในเจลีกที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี
ไปจนถึงการเปิดอะคาเดมีในเอเชียทั้งที่ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และอินเดียด้วย
การเติบโตขยายฐานของ City Football Group คือผลงานที่ประจักษ์ของเบอร์ราดา
นอกจากนี้ยังมีส่วนกับงานเจรจาการย้ายทีมที่สำคัญๆ ของแมนฯ ซิตี้ด้วย โดยการเจรจานักเตะที่สร้างชื่อให้กับเขามากที่สุดคือการคว้าตัว เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ มาจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ซึ่งเป็นการเจรจาที่ต้องใช้ฝีมืออย่างมาก เพื่อทำให้กองหน้าชาวนอร์เวย์ และ อัล์ฟ อิงเก ฮาลันด์ ผู้เป็นพ่อ เชื่อว่าการย้ายมาแมนเชสเตอร์คือก้าวต่อไปที่สำคัญที่สุด
เรียกว่ามีฝีมือเป็นที่ประจักษ์ เป็นยอดยุทธ์ในวงการอีกคนของแท้
ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว
ปฏิบัติการกระชากตัวเบอร์ราดามาจากอ้อมอกของแมนฯ ซิตี้ ครั้งนี้ถือเป็นปฏิบัติการที่ล้ำลึกและลึกล้ำอย่างยิ่ง
ในแง่ของการสรรหาบุคลากรมีฝีมือ อย่างที่บอก INEOS ถือว่าได้สุดยอดนักบริหารที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกฟุตบอลไปร่วมงาน
เบอร์ราดาจะเป็นคนร่วมออกแบบ ‘ภาพอนาคต’ ของแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เพียงแค่ 1-2 ปีข้างหน้า แต่เป็นการมองไปถึง 5-10 ปีข้างหน้าในการจะทำให้สโมสรมีโครงสร้างที่แข็งแรง เป็นสโมสรฟุตบอลที่มีชีวิตอยู่เพื่อวันข้างหน้า ไม่ใช่มีชีวิตอยู่ด้วยลมหายใจของวันวาน
ในอดีต แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เคยยิ่งใหญ่ได้นั้นไม่ได้มาจากเพียงแค่ความสามารถอันมหัศจรรย์ของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แต่เป็นเพราะมีผู้บริหารที่เก่งกาจอย่าง ปีเตอร์ เคนยอน และ เดวิด กิลล์ ที่ดูแลจัดการเรื่องราวต่างๆ นอกสนามให้ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเจรจาไปจนถึงวิธีการหาเงินเข้ามาสโมสร
ความตกต่ำของแมนฯ ยูไนเต็ด จึงไม่ได้มาจากการที่เฟอร์กี้วางมือจากการคุมทีมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในปีเดียวกันกิลล์ก็ตามไปด้วย และนับจากนั้นเป็นต้นมาก็คือช่วงเวลาที่มืดมนเหมือนตกนรกของแมนฯ ยูไนเต็ด ที่แม้แต่หลังคาที่รั่วของสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดก็ไม่มีการจัดการแก้ไข
ในอีกส่วนคือ การกระชากตัวเบอร์ราดายังเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของแมนฯ ยูไนเต็ดว่า พวกเขาตั้งใจที่จะ ‘เอาคืน’ เพื่อนบ้านจอมโวยวายแล้วด้วยวิธีเดียวกับที่แมนฯ ซิตี้ เคยทำด้วยการดึงเตเวซมาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว
เบอร์ราดาเป็นบุคลากรที่เป็นที่รักภายในสโมสรแมนฯ ซิตี้ เป็นคนสำคัญที่ คัลดูล อัล มูบารัค ประธานสโมสร ไว้วางใจ และภายในองค์กรเองก็เป็นคนที่ได้รับการคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่หากวันหนึ่งเบกิริสไตน์จะวางมือขึ้นมา
การสูญเสียบุคลากรระดับนี้ไปจะสร้างแรงสั่นสะเทือนภายในเอติฮัดสเตเดียมอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย และจะเป็นความท้าทายสำหรับแมนฯ ซิตี้ ในการจะหาคนดีมีฝีมือเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้
ความท้าทายระดับ Last Boss
สำหรับเบอร์ราดา การตอบรับงานนี้เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายอยู่ไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้เขาถูกทาบทามจากทีมในวงการกีฬามากมาย ไม่ว่าจะในพรีเมียร์ลีกเอง ทีมในเมเจอร์ลีกซอกเกอร์ หรือแม้แต่ทีมอเมริกันฟุตบอล NFL ที่หวังได้ความรู้ความสามารถของเขาเข้าไปดูแล
มีการคาดเดากันไปไม่น้อยถึงเหตุผลที่เบอร์ราดาตัดสินใจที่จะรับงาน ‘ข้ามฟาก’ กันแบบนี้
แต่ในสายงานบริหาร การรับข้อเสนอจากยูไนเต็ดถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ทั้งในแง่ของข้อเสนอที่ดี ตำแหน่งหน้าที่การงาน ไปจนถึงความท้าทายใหม่ในชีวิต ซึ่งแม้เบอร์ราดาจะรู้สึกเสียใจอยู่มากที่ต้องจากสโมสรที่อยู่กันมาตั้งแต่ปี 2011 อย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่ก็มองเห็นโอกาสใหม่ในโอลด์แทรฟฟอร์ด
ฝั่งของซิตี้เองถึงจะเสียใจเหมือนกัน แต่ก็เข้าใจและเปิดทางให้โดยไม่ได้คิดขัดขวาง ด้วยยังเชื่อมั่นใน ‘ระบบและโครงสร้าง’ ของสโมสรว่าแข็งแกร่งพอจะก้าวเดินต่อไปได้ โดยไม่มีใครที่จะไม่สามารถทดแทนได้
ในทางตรงกันข้าม เบอร์ราดาซึ่งมีสายเลือดฝรั่งเศส-โมร็อกโกแต่ไปโตที่สหรัฐอเมริกา จะเป็นฝ่ายที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำงานแทน
เพราะที่เอติฮัดเขามีเจ้าของสโมสรที่มีอำนาจทางการเงินล้นฟ้า อีกทั้งยังให้อิสระในการบริหาร โดยที่พร้อมสนับสนุนการทำงานทุกอย่างหากเป็นเรื่องที่ดีต่อองค์กร
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้แม้จะมีเรื่องของความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับเรื่องการเงินที่ถูกตั้งข้อหากระทำผิด 115 ข้อหา แต่แมนฯ ซิตี้ เป็นสโมสรที่บริหารกิจการได้ดีที่สุดสโมสรหนึ่งของโลก
จุดนี้คือสิ่งที่แตกต่างชัดเจนที่สุดกับแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ตลอดระยะเวลา 11 ปีนับจาก เดวิด กิลล์ ไม่อยู่ และ 15 ปีนับจากที่ครอบครัวเกลเซอร์เข้ามาเทกโอเวอร์โดยที่ไม่ได้คิดอ่านทำอะไรดีๆ ให้ใหม่ มีแต่ดูดเงินออกไปเรื่อยๆ สโมสรที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งนี้เป็นสโมสรที่บริหารงานได้เลวร้ายที่สุดเช่นกัน
ความท้าทายของเบอร์ราดาคือ การเปลี่ยนแปลงสโมสรแห่งนี้ในเชิงของการบริหารไปจนถึงวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด โดยที่ต้องรอดูในระยะยาวว่า INEOS จะสนับสนุนเขาในการทำงานได้เท่ากับที่อาบูดาบีสนับสนุนหรือไม่
แต่เพราะมันยาก ถ้าหากทำได้…การพลิกฟื้นแมนฯ ยูไนเต็ด จะไม่เป็นเพียงแค่ผลงานที่ดี
มันจะมีค่าเท่ากับ ‘มาสเตอร์พีซ’ งานระดับตำนานที่จะทำให้เขาเป็นที่จดจำไปอีกนานเลยทีเดียว
และแค่เริ่มด้วยการเป็น ‘เพื่อนบ้านจอมโวยวาย’ คนใหม่ แค่นี้ก็สนุกแล้ว
อ้างอิง: