Manchester United is Qatari
ข้อความนี้ดังสะพัดบนโซเชียลมีเดียในช่วงคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หลังจากที่มีผู้สื่อข่าวจากโลกอาหรับทวีตข้อความเป็นนัยว่ากาตาร์ได้ครอบครองสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแล้ว ทำให้แฟนบอล ‘ปีศาจแดง’ บนโซเชียลต่างดีใจกันถ้วนหน้ากับการได้เจ้าของสโมสรใหม่ที่ร่ำรวยมหาศาลและเชื่อว่าจะทำให้สโมสรกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง
แต่ในโลกของความเป็นจริง ตกลงแล้วแมนฯ ยูไนเต็ดเป็นของกาตาร์แล้วจริงหรือไม่?
เส้นตายยื่นข้อเสนอวันนี้คือจุดเริ่มต้น
ตามรายงานข่าวจากสื่อตะวันตกสำนักข่าวใหญ่ๆ ยังไม่มีการระบุใดๆ ว่าแมนฯ ยูไนเต็ดเป็นของกาตาร์แล้ว
ในทางตรงกันข้าม ยังไม่มีความชัดเจนว่ากาตาร์ได้ยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการให้แก่ The Raine Group ธนาคารผู้ได้รับมอบหมายในการดำเนินการเจรจาซื้อขายเทกโอเวอร์สโมสรจากครอบครัวเกลเซอร์ในฐานะเจ้าของสโมสรมาตั้งแต่ปี 2005
และในความเป็นจริงแล้วความคืบหน้าเกี่ยวกับกระบวนการเจรจานั้นเป็นไปอย่างเงียบเชียบ แทบไม่มีการยืนยันใดๆ ออกมา
คนเดียวที่ออกตัวว่าสนใจที่จะยื่นข้อเสนอคือ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของอังกฤษ ซึ่งเป็นแฟนบอลแมนฯ ยูไนเต็ดอยู่เดิม และประกาศว่าพร้อมจะยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อสโมสรในดวงใจมาครอบครองด้วย แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าจาก CEO ของ INEOS ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานแต่อย่างใด
ขณะที่ผู้ที่สนใจรายอื่นๆ ‘เชื่อว่า’ จะมีกลุ่มทุนจากซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงกาตาร์
โดยที่วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) คือ ‘เส้นตาย’ แบบจางๆ สำหรับการยื่นข้อเสนอรอบแรกให้แก่ทาง The Raine Group และจะเป็นวันที่เราได้รู้ว่าสุดท้ายแล้วบนโต๊ะเจรจาจะมีข้อเสนอจากกี่เจ้าเข้ามา แม้ความเป็นไปได้ในการเปิดเผยรายชื่อกลุ่มที่ยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการจะมีน้อยก็ตาม
สิ่งที่น่าสนใจคือ BBC ได้มีการตรวจสอบและพบว่าถึงเรื่องจะเงียบ แต่กระบวนการเจรจาพูดคุยหลังฉากถือว่าเฉียบ ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีและมีสัญญาณในทางบวก
หลักฐานแบบอ้อมๆ คือมูลค่าหุ้นของแมนฯ ยูไนเต็ดในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กที่พุ่งขึ้นอีกราว 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อวานนี้
กาตาร์คือใครกันแน่ในเรื่องนี้?
ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใดในเรื่องนี้เช่นกัน เนื่องจากมีความซับซ้อนของการเจรจา
สิ่งที่เราพอจะรู้จากกระแสข่าวคือ ชีค ตะมีม บิน ฮะมัด อัษษานี เจ้าผู้ครองนครกาตาร์ มีความสนใจที่จะซื้อแมนฯ ยูไนเต็ดมาเป็นสมบัติส่วนตัวและของชาวกาตาร์ ซึ่งด้วยความมั่งคั่งที่มีของราชวงศ์กาตาร์ การซื้อสโมสรแบบนี้ไม่ใช่เรื่องยาก
แต่ปัญหาคือกาตาร์มีการลงทุนกับทีมปารีส แซงต์ แชร์กแมง มาตั้งแต่ปี 2011 ผ่านกองทุนที่ชื่อว่า Qatar Sports Investments (QSI) ซึ่งนั่นทำให้ต้องมีการตีความว่า หากเข้ามาลงทุนกับแมนฯ ยูไนเต็ดจะเป็นการผิดกฎของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ที่ห้ามมิให้สโมสรที่มีเจ้าของเดียวกันลงแข่งขันในรายการของยูฟ่า (แชมเปียนส์ลีก, ยูโรปาลีก, ยูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก)
ก่อนหน้านี้ QSI มีความพยายามที่จะเข้ามาลงทุนในพรีเมียร์ลีกเพิ่ม แต่เป็นการลงทุนแบบผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งส่วนนี้ไม่เป็นการขัดต่อกฎของยูฟ่า (เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เองก็ลงทุนกับสโมสรนีซในลีกเอิง ฝรั่งเศสเช่นกัน) แต่หากเป็นการเทกโอเวอร์เลยต้องดูท่าทีของยูฟ่าว่าจะยอมให้เกิดขึ้นหรือไม่
ถ้ายอมเปิดทางให้ เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาของกาตาร์ เพราะพวกเขาสามารถหามาได้ในหลายรูปแบบ โดยหากไม่ใช่ QSI ก็อาจเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ Qatar Investment Authority (QIA) หรืออาจจะเป็นกองทุนอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์กาตาร์โดยตรง
เชื่อกันว่าข้อเสนอบนโต๊ะเจรจาของแมนฯ ยูไนเต็ดที่ส่งตรงถึง The Raine Group นั้นมีข้อเสนอจากกาตาร์มากกว่า 2 รายด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี คีย์แมนในเรื่องนี้อาจจะเป็น นาสเซอร์ อัล เคไลฟี ประธานสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่กุมกุญแจสำคัญในการเจรจากับยูฟ่า
ทำไมอัล เคไลฟีถึงจะเป็นคีย์แมน?
แม้จะไม่ได้รับการยอมรับมากนักในครั้งที่นำ QSI เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการสโมสรดังที่สุดทีมหนึ่งของฝรั่งเศส และเปลี่ยนเปแอสเชให้กลายเป็นมหาอำนาจวงการลูกหนังน้ำหอม และสร้างปรากฏการณ์มากมายในเรื่องการลงทุนซื้อผู้เล่น (ปัจจุบันเป็นสโมสรที่มีเนย์มาร์, คีเลียน เอ็มบัปเป และ ลิโอเนล เมสซี อยู่ในทีมเดียวกัน) แต่ในระยะหลังชื่อของ นาสเซอร์ อัล เคไลฟี ได้รับการยอมรับมากขึ้นในวงการฟุตบอลยุโรป
โดยเฉพาะจากการแสดงจุดยืนในช่วงที่เกิดเรื่อง ‘กบฏซูเปอร์ลีก’ ที่บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรปฮั้วกันในการจัดตั้งรายการแข่งขันใหม่ที่จะแข่งกันเอง โกยเงินกันเต็มๆ ในหมู่สมาชิกผู้ก่อตั้ง แต่อัล เคไลฟี ยืนยันว่าจะไม่นำเปแอสเชเข้าร่วมด้วยอย่างแน่นอน
หลังจากนั้นเขาได้กลายเป็นประธานของสมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป (ECA) หรือกลุ่มสโมสร G-14 เดิม ซึ่งถือเป็นบทบาทที่มี ‘พาวเวอร์’ พอสมควร
นอกจากนี้ยังเป็นคนที่ใกล้ชิดกับ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่าคนปัจจุบัน เคยได้รับการชื่นชมจากผู้นำวงการฟุตบอลยุโรปหลายครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าทั้งสองอาจจะมีการพูดคุยร่วมกันในทางลับเพื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้และจุดยืนของยูฟ่าในเรื่องนี้
ทั้งนี้ ในเวลานี้การซื้อขายอาจไม่ใช่ปัญหา เพราะเปแอสเช กับแมนฯ ยูไนเต็ดอยู่คนละรายการกันในฤดูกาล 2022/23 แต่มีความเป็นไปได้สูงที่มีโอกาสจะเล่นในแชมเปียนส์ลีกด้วยกันในฤดูกาลหน้า ซึ่งถึงตรงนั้นหากกาตาร์ซื้อแมนฯ ยูไนเต็ดไปจริง คณะกรรมการของยูฟ่าจะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องนี้
กระบวนการเทกโอเวอร์จะจบเมื่อไร?
ตามรายงานจาก The Times เชื่อว่ากระบวนการเจรจาทั้งหมดที่จะเริ่มตั้งแต่วันนี้ (และความจริงมีการพูดคุยกันก่อนยื่นข้อเสนอมาก่อนแล้ว) น่าจะเสร็จสิ้นภายในช่วงก่อนถึงวันอีสเตอร์ (วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน)
โดย The Raine Group มีความมั่นใจว่ากระบวนการเจรจาทั้งหมดจะสามารถดำเนินการลุล่วงด้วยดีได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับตัวเต็งตามรายงานล่าสุดคือกลุ่มทุนจากกาตาร์ – ไม่ว่าจะมาในนามของใครก็ตาม – ซึ่งมีอำนาจทางการเงินมหาศาลที่พร้อมเอาชนะทุกข้อเสนอแบบดุดันไม่เกรงใจใคร ขณะที่คู่แข่งที่สำคัญอาจมาจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งความจริงก็จะมาในแบบเดียวกันกับกาตาร์ เพราะซาอุดีอาระเบียเพิ่งจะซื้อนิวคาสเซิล ยูไนเต็ดมาได้เมื่อปี 2021 ผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ PIF เช่นกัน
อ้างอิง: