การที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท มีอัตราการเติบโต 1% ในเชิงปริมาณ และประมาณ 6-7% ในเชิงมูลค่า และดูเหมือนจะเริ่มอิ่มตัว ทำให้ ‘มาม่า’ ที่เป็นพี่ใหญ่ด้วยส่วนแบ่ง 50% ต้องหาวิธีโตด้วยการขยายธุรกิจบุกต่างประเทศ
มาม่าเล็งขยายธุรกิจในตลาดยุโรป แอฟริกา และเวียดนาม โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 40% ภายใน 2 ปี จากตัวเลขในวันนี้ที่ 25-30%
“ตลาดยุโรปมีความต้องการสูงเป็นพิเศษ ซึ่งมาจากคนไทยที่อาศัยอยู่ที่นั่น” พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มาม่าท้าชนหม้อไฟเกาหลี เปิดร้าน MAMA Station ยกสารพัดเมนู เริ่มต้น 60 บาท ขอเวลา 6 เดือน เปิดขายแฟรนไชส์แน่!
- ‘พาณิชย์’ ไฟเขียว ‘มาม่า-ไวไว-ยำยำ’ ขยับราคาขายปลีกเป็น 7 บาท มีผล 25 ส.ค. นี้
- ‘มาม่า’ แก้เกมขึ้นราคาไม่ได้ ออกสูตรลดโซเดียม ขาย ‘8 บาท’ เริ่ม ส.ค. นี้ พร้อมส่งโมเดลใหม่ MAMA Shop เจาะปั๊มน้ำมัน เริ่มปี 2566
สิ่งที่น่าสนในคือ มาม่าจะลงทุนราว 300-400 ล้านบาท สำหรับเพิ่มกำลังการผลิตอีก 2 เท่าในโรงงานฮังการี ซึ่งจะเข้ามาตอบสนองตลาดฟินแลนด์และเยอรมนีที่คิดเป็นยอดขาย 50% ของตลาดยุโรป โดยมีรสชาติยอดนิยมคือ รสไก่ รสต้มยำ และรสหมูสับ
นอกจากยุโรปแล้ว มาม่ายังสนใจแอฟริกา โดยกำลังมองหาบริษัทในท้องถิ่นเพื่อลงทุนร่วมกัน โอกาสดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ 2 ปีก่อนได้ส่งสินค้าไปขายที่มาดากัสการ์และซูรินามในอเมริกาใต้ ซึ่งตอนนี้มียอดขายเพิ่มขึ้น 5-6 เท่าด้วยกัน
แม่ทัพมาม่าย้ำว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่คุ้นเคยในตลาดแอฟริกา การวิจัยตลาดเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้เปิดรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในหมวดหมู่นี้ มาม่าจึงมองเห็นโอกาสและศักยภาพในการเติบโตของตลาดที่นี่
การบุกตลาดนอกบ้านเกิดยังไม่เหมือนแค่นั้น มาม่ายังตั้งเป้าหมายที่จะกลับเข้าสู่ตลาดเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง โดยกำลังเจรจากับบริษัทกระจายสินค้าท้องถิ่นอยู่
ด้านตลาดในไทย พันธ์เผยว่า การปรับราคาขึ้น 1 บาท ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กำไรเพิ่มขึ้น 7-8% เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 0.3% ก่อนหน้า
เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 พันธ์ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย ที่แม้ว่าเงินออมจะมีจำกัด แต่ผู้บริโภคชาวไทยยังคงใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของกำลังซื้อ ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้ของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์เติบโต 5-6% จาก 27,000 ล้านบาทในปีที่แล้ว