ยอดขายที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดการันตีได้ว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่า 20,000 ล้านบาทยังไม่อิ่มตัว ‘มาม่า’ เตรียมสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ โฟกัสไปในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยงบ 2,000 ล้านบาท โดยจะช่วยให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 40% รองรับการเติบโตของตลาดไปได้อีก 10 ปี
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า นำทีมสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้า มาม่า ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
พร้อมบอกว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่า 20,000 ล้านบาทในไทยยังไม่อิ่มตัว แต่ในเชิงของปริมาณอาจไม่เพิ่ม ซึ่งในปี 2566 มีการเติบโตน้อย เพราะในช่วงโควิดผู้บริโภคมีการกักตุนสินค้าไว้มาก แต่สำหรับมาม่าคาดว่ากำไรปีนี้จะอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ้านเกิดอิ่มตัว ‘มาม่า’ ขอข้ามน้ำข้ามทะเลไปบุกอย่างจริงจังในตลาดยุโรป แอฟริกา และเวียดนาม
- ‘มาม่า’ ขออัปภาพขึ้นเป็นเมนูหรู! เปิดตัว CRAZE MAMA ปักหมุดไอคอนสยาม ยกเมนูท็อปปิ้งกุ้งล็อบสเตอร์-ซีฟู้ด ราคาเริ่มต้น 599-980 บาท
- มาม่าท้าชนหม้อไฟเกาหลี เปิดร้าน MAMA Station ยกสารพัดเมนู เริ่มต้น 60 บาท ขอเวลา 6 เดือน เปิดขายแฟรนไชส์แน่!
ปัจจุบันมาม่าผลิตสินค้าแบบซอง 2,000 ล้านซองต่อปี และแบบถ้วย 450 ล้านถ้วยต่อปี สินค้าถูกผลิตจากโรงงาน 4 แห่ง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ลำพูน และราชบุรี รวมถึงโรงงานผลิตในต่างประเทศอีก 4 แห่ง ได้แก่ ประเทศเมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี ที่มีกำลังผลิตรวม 16,044 ตันต่อปี
“โรงงานทั้งหมดนี้ไม่สามารถขยายไลน์การผลิตสินค้าได้เพิ่ม จึงเป็นสาเหตุให้ตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตมาม่าแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาทำเลและหาซื้อที่ดิน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 และเริ่มผลิตได้ในปี 2570 ซึ่งจะช่วยให้เรามีกำลังการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น และจะเป็นโอกาสขยายการเติบโตไปในตลาดต่างประเทศมากขึ้น”
จากนี้เป้าหมายของมาม่าต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศให้ได้ 40% โดยปัจจุบันรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 30% ส่วนในประเทศอยู่ที่ 70% โดยจะโฟกัสไปในประเทศตลาดยุโรป แอฟริกา เวียดนาม และอินเดีย โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานฮังการี เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดฟินแลนด์และเยอรมนีที่คิดเป็นยอดขาย 50% ของตลาดยุโรปไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่เป็นความท้าทายครั้งใหม่คือ การกลับไปทำตลาดที่จีนอีกครั้ง หลังจากในอดีตที่เคยเข้าไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมาจากหลายปัจจัย แต่หนึ่งในนั้นคือรสชาติอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค แต่การเข้าทำตลาดจีนในครั้งนี้จะเป็นการเข้าไปร่วมมือกับพันธมิตร นำสินค้าที่เป็นที่นิยมคือรสชาติต้มยำกุ้ง เข้าไปทดลองขาย พร้อมทำแคมเปญการตลาด คาดว่าจะได้รับการตอบรับดี เพราะเทรนด์ผู้บริโภคจีนเริ่มนิยมอาหารไทย และมักจะซื้อมาม่าเป็นของฝากมากขึ้น
“จากจำนวนประชากรที่มีมากกว่าไทย 20 เท่า เชื่อว่าจะสร้างโอกาสการเติบโตในแง่ของยอดขายอย่างมาก อาจทำให้เราประสบความสำเร็จได้ในอนาคต”
รวมถึงตลาดใหม่ที่จะเห็นเร็วๆ นี้คือ แอฟริกา บริษัทเตรียมลงทุนร่วมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเคนยา ทั้งหมดจะช่วยผลักดันรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้จะเน้นต่อยอด Future Food พัฒนาผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ๆ ตามกระแสและเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค ที่สำคัญจะเน้นทำการตลาดสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคได้เห็นมาม่าในรูปแบบใหม่จากร้าน Mama Station ที่ปัจจุบันมีอยู่ราวๆ 4-5 สาขา
พร้อมนำนวัตกรรมเครื่องจักรที่ทันสมัยและใช้พลังงานทางเลือกมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพื่อรองรับกับต้นทุนการผลิต เช่น ราคาน้ำมันปาล์มที่อาจปรับลดลง แต่แป้งสาลียังคงปรับขึ้น
อีกทั้งหากรัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในฐานะผู้ประกอบการ เราไม่คัดค้าน แต่ต้องอาศัยเวลาในการปรับตัว ซึ่งต้องให้รัฐบาลและผู้ประกอบการหารือร่วมกัน ในแง่ของการส่งเสริมการลงทุน ลดภาษีให้เครื่องจักรใหม่ จะช่วยให้เราปรับตัวได้เร็วขึ้น
โดยปัจจุบันค่าแรงเป็นต้นทุนในการผลิตของบริษัทเพียง 10% ซึ่งหากต้องปรับขึ้นค่าแรง 10-15% ก็จะกระทบต้นทุนบริษัทเพียงแค่ 1% เท่านั้น
เรียกได้ว่ากลยุทธ์ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผลประกอบการในปี 2567 เติบโตขึ้น 5-7% ส่วนในปีนี้คาดว่ามีรายได้ 23,000-25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% และในอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะได้เห็นมาม่าทำยอดขายได้ 35,000 ล้านบาทแน่นอน