×

จับตาเลือกตั้งมาเลเซีย 9 พฤษภาคมนี้ กับ 5 เรื่องน่ารู้ เมื่อศิษย์ปะทะครู ใครจะอยู่ใครจะไป

08.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • สนามเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างอดีตลูกศิษย์วัย 64 ปี อย่างนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค กับมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตครูของนาจิบที่ตัดสินใจกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง หลังเกษียณอายุตัวเองไปเมื่อปี 2003
  • มาเลเซียเป็นประเทศแรกในโลกที่บังคับใช้กฎหมายต่อต้านข่าวปลอมที่อนุมัติโดยรัฐบาลของนาจิบ ราซัค ล่าสุดมีการสอบสวนมหาเธร์ในข้อหาเผยแพร่ข่าวปลอม นับเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง
  • ลุคมาน ยะหยา หนึ่งในชาวมาเลเซียที่จะเดินทางไปใช้สิทธิ์ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ แสดงความเห็นกับ THE STANDARD ว่ามหาเธร์มีโอกาสชนะ แต่ผู้สมัครจากพรรคพาส (Parti Islam SeMalaysia – PAS) ก็เป็นอีกหนึ่งพรรคที่ไม่ควรมองข้าม

ช่วงเวลาในการกำหนดอนาคตของประเทศอยู่ในมือของประชาชนชาวมาเลเซียอีกครั้ง โดยการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 14 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ได้รับการขนานนามจากแวดวงวิชาการและสื่อต่างๆ ให้เป็น ‘The Mother of All Elections’

 

มีปรากฏการณ์อะไรที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่คนทั่วโลกจับตามองกันบ้าง

 

 

1. จับตาศิษย์ปะทะครู

สนามเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างอดีตลูกศิษย์วัย 64 ปี อย่างนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ผู้นำรัฐบาลและหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่อย่างอัมโน (UMNO) ที่ต้องนำพากลุ่มแนวร่วมบาริซาน นาซิอองนาล (BN) ชนะการเลือกตั้งให้ได้อีกสมัยเพื่อความมั่นคงของตัวเขาเองในเกมการเมือง หลังเผชิญกระแสต่อต้านอย่างหนักจากกรณีทุจริตคอร์รัปชันบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาล (1MDB) เป็นเงินมูลค่ากว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.2 หมื่นล้านบาท)

 

โดยจะต้องขับเคี่ยวชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศกับ มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตครูของนาจิบที่ตัดสินใจกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง หลังเกษียณอายุตัวเองไปเมื่อปี 2003

 

 

2. โอกาสครั้งสุดท้ายของมหาเธร์

มหาเธร์ อดีตผู้นำพรรคอัมโน และอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานถึง 22 ปี ตัดสินใจจับมือกับพรรคฝ่ายค้าน ปากาตัน ฮาราปัน กลับมาลงแข่งในเกมการเมืองอีกครั้ง โดยร่วมมือกับ อันวาร์ อิบราฮิม อดีตคู่แข่งคนสำคัญที่เขาเคยแจ้งจับกุมในคดีมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันมาแล้วในอดีต

 

ในการแข่งขันครั้งนี้ มหาเธร์ได้เน้นย้ำต่อชาวมาเลเซียทุกคนว่า ‘ตัวเขาเองเหลือเวลาไม่มากแล้ว’ ในการทำงานเพื่อผลักดันและพัฒนาประเทศมาเลเซียอีกครั้ง ซึ่งนี่อาจจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายที่เขาจะต่อสู้และบริหารประเทศอย่างที่เคยทำมาในอดีต หากเขาชนะการเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เขาจะกลายเป็นผู้นำประเทศที่มีอายุมากที่สุดในโลกในวัย 92 ปี

 

 

3. เมื่อกฎหมายกลายเป็นอาวุธทางการเมือง

ผลงานการบริหารประเทศในช่วงรัฐบาลของมหาเธร์ (1981-2003) ถือเป็นที่ประจักษ์อย่างมาก มาเลเซียพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ มีการบริหารประเทศ รวมถึงโครงสร้างขั้นพื้นฐานและรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบ ออกแบบกลไกและเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ตัวเขาและพรรคอัมโนเข้มแข็งในเกมการเมืองมากยิ่งขึ้น

 

ในขณะเดียวกันก็ลดทอนความสามารถของพรรคคู่แข่งและศัตรูทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน จนท้ายที่สุดจากผลงานและเครื่องมือต่างๆ ก็ทำให้มหาเธร์นำพาพรรคอัมโนชนะการเลือกตั้งได้อย่างสวยงามถึง 5 สมัย

 

แต่อย่างไรก็ตาม มหาเธร์กำลังเผชิญหน้ากับเครื่องมือดังกล่าวที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นผู้ใช้ กลไกที่ว่านี้คือตัวบทกฎหมาย โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มาเลเซียเป็นประเทศแรกในโลกที่บังคับใช้กฎหมายต่อต้านข่าวปลอมที่อนุมัติโดยรัฐบาลของนาจิบ ราซัค  

 

ซึ่งล่าสุดได้มีการสอบสวนมหาเธร์ รวมถึงแกนนำพรรคฝ่ายค้านคนอื่นๆ ในข้อหาเผยแพร่ข่าวปลอม นับเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองและกลุ่มผู้เห็นต่างในช่วงก่อนการเลือกตั้งจะปิดฉากลงโดยแท้ ยังไม่นับรวมมติรัฐสภาที่อนุญาตให้มีการกำหนดเขตการเลือกตั้งใหม่ที่อาจเอื้อให้พรรคของนาจิบชนะการเลือกตั้งอีกสมัย

 

 

4. ลุ้นจนนาทีสุดท้าย

ถึงแม้ว่าผลโพลหลายสำนักชี้ว่าคะแนนนิยมในตัวมหาเธร์จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในช่วงโค้งสุดท้าย แต่การเลือกตั้งสนามนี้ไม่ใช่งานง่ายอย่างแน่นอน แม้ผู้เล่นคนสำคัญจะเป็นผู้เจนจัดในการเมืองมาเลเซียอย่างมหาเธร์ก็ตาม

 

เพราะชาวมาเลเซียผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลุ่มภูมิบุตร ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 70% ของประชากรทั้งหมด เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคอัมโนที่ผูกขาดอำนาจมาอย่างยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 1957

 

 

5. คนรุ่นใหม่ ตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้

คณะกรรมการการเลือกตั้งมาเลเซียเผยว่ามีผู้ไม่มาลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งกว่า 3.8 ล้านคน จากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 18.7 ล้านคน ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นที่มีช่วงอายุระหว่าง 21-30 ปี คิดเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้

 

สาเหตุสำคัญอาจเนื่องมาจากวัยรุ่นส่วนใหญ่ถูกทำให้เฉยชาในทางการเมือง กลุ่มนักศึกษาไม่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุมทางการเมือง อีกทั้งอาจมองว่าเกมการเมืองของมาเลเซียเป็นเวทีปิด มีการผูกขาดอำนาจและแข่งขันกันเพียงไม่กี่พรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น

 

ลุคมาน ยะหยา อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในชาวมาเลเซียที่จะเดินทางไปใช้สิทธิ์ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ แสดงความเห็นกับ THE STANDARD ว่า

 

“ในความคิดของผม มหาเธร์มีโอกาสในการคว้าชัยชนะในครั้งนี้ แต่ผู้สมัครจากพรรคอิสลามอย่างพรรคพาส (Parti Islam SeMalaysia – PAS) ก็เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่ไม่ควรมองข้าม เพราะพรรคนี้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดและชุมชนของตนเอง ซึ่งสิ่งที่ชาวมาเลเซียทุกคนต้องการจากการเลือกตั้งคือเกมการเมืองและประเทศชาติที่ปราศจากคอร์รัปชัน”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising