ด้วยเศรษฐกิจตกต่ำและถูกบอยคอตจากความขัดแย้งในฉนวนกาซา รายงานจาก Nanyang Siau Pau สื่อจีน ระบุว่า KFC มาเลเซีย ปิดตัวชั่วคราวไปแล้วถึง 108 แห่ง โดยรัฐกลันตันได้รับผลกระทบหนักที่สุด มีสาขาปิดถึง 21 แห่ง คิดเป็น 80% ของจำนวนสาขาในรัฐ
QSR Brands เจ้าของและผู้ดำเนินการ KFC ในมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และกัมพูชา ออกแถลงการณ์ในวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา อธิบายว่า การปิดสาขาชั่วคราวเป็นมาตรการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
“ในฐานะบริษัทที่ให้บริการคนมาเลเซียมานานกว่า 50 ปี เป้าหมายของเราคือการมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพแก่ลูกค้า ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมาเลเซีย ผ่านการรักษาความมั่นคงของงานให้กับสมาชิกในทีม 18,000 คนในมาเลเซีย ซึ่งประมาณ 85% เป็นมุสลิม” บริษัทกล่าว
QSR Brands ยังแจ้งว่า พนักงานจากสาขาที่ปิดชั่วคราวจะถูกโอนย้ายไปยังสาขาที่ยังเปิดให้บริการ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างองค์กร
ข้อมูลจากเว็บไซต์ QSR ระบุว่า KFC มาเลเซียมีสาขามากกว่า 600 แห่ง สาขาแรกเปิดให้บริการในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อปี 1973
ศาสตราจารย์ Yeah Kim Leng นักเศรษฐศาสตร์จาก Sunway University อธิบายว่า การบอยคอตที่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก พนักงานถูกเลิกจ้าง และห่วงโซ่อุปทานของร้านอาหารได้รับผลกระทบ
ขณะที่ศาสตราจารย์ Mohd Nazari Ismail ประธานกลุ่ม Boycott, Divestment, Sanctions Malaysia (BDS) กลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ อธิบายว่า “KFC ไม่ได้อยู่ในรายการบริษัทเป้าหมายของ BDS ที่นำโดยปาเลสไตน์ แต่คนมาเลเซียหลายคนมองว่า ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอเมริกันทุกแห่งเกี่ยวข้องกับอิสราเอล รวมถึง KFC ด้วย”
สื่อหลายสำนักรายงานว่า มีการปิดสาขาของ McDonald’s และ Starbucks ในมาเลเซียเช่นกัน ร้านอาหารเหล่านี้ประสบภาวะธุรกิจซบเซาจากการถูกบอยคอต เนื่องจากมีจุดยืนสนับสนุนอิสราเอลในสงครามกับกลุ่มฮามาส
ด้าน Vincent Tan ผู้ก่อตั้ง Berjaya Corp Bhd ซึ่งดำเนินการ Starbucks เรียกร้องให้ประชาชนหยุดคว่ำบาตร “การคว่ำบาตรทำร้ายแต่พนักงานท้องถิ่นที่บริหารงานบริษัท” เขากล่าวว่า พนักงาน Starbucks มาเลเซีย 85% เป็นมุสลิม และไม่มีชาวต่างชาติทำงานที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท
อ้างอิง: