×

มาเลเซียมาเหนือ! เตรียมสร้างท่าเรือคอนเทนเนอร์ AI ใช้เครนอัตโนมัติ-รถบรรทุกไร้คนขับ แลนด์บริดจ์ไทยทำถึงไหน?

18.06.2024
  • LOADING...

มาเลเซียกำลังจะมีท่าเรือคอนเทนเนอร์แห่งใหม่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ใกล้กับแนวช่องแคบมะละกา หากสร้างสำเร็จ เส้นทางนี้จะเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่รองรับความต้องการด้านโลจิสติกส์ของห่วงโซ่อุปทาน รองรับการขนส่งสินค้าทั่วโลกมายังภูมิภาคอาเซียน และอนาคตคาดว่าจะเป็นท่าเรือที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดในโลก! 

 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ท่าเรือแห่งนี้มีมูลค่าก่อสร้างประมาณ 2 พันล้านริงกิต หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นการพัฒนาร่วมของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่นในมาเลเซีย Tanco Holdings ผ่านบริษัทในเครือMidports Holdings ร่วมกับรัฐวิสาหกิจด้านวิศวกรรมทางทะเลของจีน CCCC Dredging Co. บริษัทในเครือ China Communications construction Co. ของรัฐบาลจีน ซึ่งได้ลงนามไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

รายงานข่าวระบุว่า ท่าเรือแห่งนี้จะเป็นท่าเรือแห่งแรกของประเทศที่จะมีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มีการนำเครนอัตโนมัติ รถบรรทุกไร้คนขับ และมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับสูง มาช่วยดำเนินการ เพื่อลดข้อผิดพลาดและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ 

 

รวมทั้งระบบ AI จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลของทราฟฟิก กำหนดเวลาการเข้า-ออกเรือ ติดตามการปฏิบัติการทางทะเลรอบท่าเรือ และจัดการโลจิสติกส์อัตโนมัติ 

 

สำหรับท่าเรือนี้ตั้งอยู่ที่เมืองพอร์ตดิกสัน ในรัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน ใกล้กับเมืองหลวงกรุงกัวลาลัมเปอร์ และเป็นจุดกึ่งกลางของช่องแคบมะละกา หากโครงการแล้วเสร็จ ประเมินว่าจะเป็นจุดสัญจรและเชื่อมต่อกับพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญในมาเลเซีย 

 

แอนดรูว์ ตัน ฮวน ซวน กรรมการผู้จัดการ Tanco Group กล่าวว่า คาดว่าท่าเรือใหม่นี้จะช่วยผลักดันเป้าหมายที่มาเลเซียตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางท่าเรือที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจในรัฐเนอเกอรีเซิมบีลันแล้ว ยังหนุนให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางทางการค้าระดับโลก 

 

เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือแห่งนี้จะมีท่าเทียบเรือยาวถึง 1.8 กิโลเมตร สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์กว่า 8 แสนตารางเมตร และสามารถรองรับเรือคอนเทนเนอร์ที่มีขนาดใหญ่ได้อีกด้วย

 

ส่องศักยภาพท่าเรือเพื่อนบ้าน

 

THE STANDARD WEALTH สำรวจข้อมูลห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์ทางเรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกได้ว่าด้วยปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรง จึงเริ่มเห็นบริษัทระดับโลกเริ่มกระจายห่วงโซ่อุปทานมายังตลาดอาเซียน ไม่เพียงแต่เวียดนาม อินโดนีเซีย ที่สามารถดึงดูด FDI ได้มากขึ้นเรื่อยๆ นาทีนี้อาจต้องยกให้มาเลเซียที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้อานิสงส์ดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอื่นๆ 

 

ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปีก็มีการลงทุนของ Westports Holdings ผู้ให้บริการท่าเรือรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ระดมเงินลงทุนขยายท่าเรือในมาเลเซียราว 3.96 หมื่นล้านริงกิต หรือราวๆ 8,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของท่าเรือประเทศขยายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า รองรับการขนส่งสินค้าในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

 

จากปัจจุบัน นอกจากมาเลเซียจะมีท่าเรือ ‘Klang’ เป็นท่าเรือหลักที่พลุกพล่านและใหญ่ที่สุดของประเทศ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 เท่า เพื่อรองรับดีมานด์แล้ว

 

แม้ท่าเรือแห่งใหม่ที่ระบุดังข้างต้น บริษัทผู้พัฒนายังไม่ประกาศระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่หากแล้วเสร็จ คาดว่าท่าเรือแห่งนี้จะยิ่งช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่งทางทะเลของมาเลเซียได้ดีทีเดียว เนื่องจากมีการเชื่อมต่อระบบถนนและทางหลวง กับพื้นที่อุตสาหกรรมหลักๆ และอนาคตจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ

 

ขณะที่สิงคโปร์วันนี้ยังคงครองตำแหน่งท่าเรืออันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้สิงคโปร์กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่าเรือตูอัส (Tuas) มูลค่าลงทุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นท่าเรือใหญ่ที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด ปัจจุบันมีการก่อสร้างเฟสแรก และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 4 เฟสภายในปี 2585 

 

ส่วนประเทศไทย นอกจากจะมีท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ขณะนี้รัฐบาลเศรษฐาอยู่ระหว่างผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ (Land Bridge) ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างหาผู้ลงทุนทั้งในและนักลงทุนต่างชาติที่จะมีการลงทุนสูงถึง 1 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าว่าจะก่อสร้างสำเร็จภายในปี 2573 หากสำเร็จโครงการนี้จะย่นระยะเวลาการเดินทางลง 4 วันเมื่อเทียบกับเส้นทางช่องแคบมะละกา

 

ดังนั้นเวลานี้ดูเหมือนว่าการขยับตัวของ ‘เพื่อนบ้าน’ ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ที่กำลังพิจารณาการลงทุนใหม่ๆ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ อาจทำให้ไทยต้องเร่งรัดโครงการ (ฝัน) สร้างแลนด์บริดจ์ให้เร็วขึ้นหรือไม่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising