×

Voice TV กับคำถามถึงความช่วยเหลือของ กสทช. และอนาคตที่อาจต้องคืนใบอนุญาต

30.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา คสช. ประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44 (9/2561) ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้สามารถใช้สิทธิ์พักชำระค่างวดที่เหลือออกไปได้ 3 ปี และระหว่างนี้ กสทช. จะเยียวยาช่วยชำระค่าเช่าโครงข่ายคลื่นความถี่ระบบดิจิทัล (MUX) จำนวน 50% เป็นระยะเวลา 24 เดือน
  • ประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตอยู่ในมาตรการข้อที่ 9 ซึ่งระบุไว้ว่าผู้ถือใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิทัลจะต้องผลิตเนื้อหาดี ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากไม่เป็นไปตามนี้ กสทช. มีสิทธิ์พิจารณาเพิกถอนสิทธิ์เยียวยาได้ในอนาคต
  • ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวไว้ว่าจะพิจารณาให้สิทธิ์ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่เคยทำผิดเงื่อนไขของ กสทช. ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า ‘วอยซ์ทีวี’ อาจจะไม่เข้าข่าย เพราะตลอด 4 ปีของการบริหารประเทศโดย คสช. พวกเขาถูกเรียกตัวและลงโทษไปแล้วรวมกว่า 19 ครั้ง
  • เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ซีอีโอของวอยซ์ทีวี มองว่าประเด็นดังกล่าวรวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ที่ฟ้องร้องผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในกรณีที่มีเนื้อหาไม่ถูกต้อง แต่กลับไม่ต้องรับโทษเมื่อเกิดความผิดพลาดตามอำนาจมาตรา 44 ก่อให้เกิดภาวะการไม่ถ่วงดุลอำนาจ

ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธหลังทีวีดิจิทัลออกอากาศในประเทศไทยเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน (เริ่มแพร่สัญญาณออกอากาศครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา) คือโมเดลธุรกิจของอุตสาหกรรมนี้ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ล้มเหลว’ มากกว่า ‘ประสบความสำเร็จ’  

 

ตั้งแต่นโยบายดำเนินการสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ติดขัดล่าช้า (แจกกล่องรับสัญญาณช้า ประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง) ผู้ประกอบการหลายรายต้องแบกรับต้นทุนค่าดำเนินการขนาดมหาศาล สวนทางกับเม็ดเงินโฆษณาที่นานวันกลับหดตัวลงกว่าเดิม ซ้ำร้ายพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ก็หันไปขลุกตัวอยู่บนโลกออนไลน์แทน

 

รายแรกที่ถอนสมอบอกลาทีวีดิจิทัลไปก่อนใครเพื่อนคือ ‘บริษัท ไทยทีวี จำกัด’ (ไทยทีวีและโลก้า) ภายใต้การบริหารงานของ เจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริหาร เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักและเป็นฝ่ายชนะคดีที่ฟ้องร้องต่อ กสทช. โดยศาลวิเคราะห์ว่า กสทช. ทำผิดสัญญาจริง ไม่มีความพร้อมในการแจกกล่องรับสัญญาณและการให้บริการโครงข่าย

 

จุดนี้เองที่กลายเป็นชนวนให้หลายฝ่ายเริ่มจับตาว่าอาจมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายอื่นๆ เตรียมเดินตามรอยใช้ ‘โมเดลไทยทีวี’ พาตัวเองออกจากสมรภูมิเดือดแห่งนี้ไปอีกระลอก โดยหนึ่งในช่องสถานีที่ถูกลือหนักสุดว่าอาจคืนใบอนุญาตตามเจ๊ติ๋ม พันธุ์ทิพา คือ ‘วอยซ์ทีวี’ (Voice TV) ด้วยเพราะประสบปัจจัยปัญหาแวดล้อมหลากหลาย เช่น

 

  • เรตติ้งตกต่ำรั้งท้ายตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก นีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่าในปี 2559 วอยซ์ทีวีมีเรตติ้งอยู่ที่ 0.029 อยู่ในลำดับที่ 20 จาก 22 ช่อง ส่วนปี 2560 ทำเรตติ้งลดลงกว่าเดิมที่ 0.021 ครองอันดับที่ 22
  • ผลกระทบจากสถานการณ์บ้านเมืองภายใต้การปกครองของ คสช. นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 10 เมษายน 2561 วอยซ์ทีวีถูกสั่งลงโทษมากที่สุดถึง 19 ครั้ง ในจำนวนนี้นับรวมถึงการสั่งระงับออกอากาศ 15 วัน 7 วัน และ 3 วัน อย่างละ 1 ครั้ง ทำให้มีผลกระทบต่อการลงสปอนเซอร์โฆษณาเป็นอย่างมาก
  • การปรับโครงสร้างภายในองค์กรครั้งใหญ่ ธันวาคมปีที่แล้วมีการประกาศเตรียมปลดพนักงานกว่า 127 คน (มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา) เพื่อหันมาให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นในปี 2561 นี้

 

กระทั่ง 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา สถานการณ์ตึงเครียดกลับส่อเค้าว่าจะทุเลาลงอีกครั้ง เมื่อ คสช. ได้ประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44 (9/2561) ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้สามารถใช้สิทธิ์พักชำระค่างวดที่เหลือออกไปได้ 3 ปี และระหว่างนี้ กสทช. จะเยียวยาช่วยชำระค่าเช่าโครงข่ายคลื่นความถี่ระบบดิจิทัล (MUX) จำนวน 50% เป็นระยะเวลา 24 เดือน แต่กลับมีจุดสังเกตในข้อที่ 9 ซึ่งระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

“ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทําผังรายการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาต มีการผลิตรายการหรือการดําเนินรายการที่ดี ให้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ชัดเจน มีสาระ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื้อหารายการมีความหลากหลาย ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

“ตลอดจนเปิดโอกาสให้คนพิการหรือคนด้อยโอกาสมีโอกาสเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์จากรายการที่ออกอากาศได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป โดยให้ผู้รับใบอนุญาตดําเนินการตามหมวด 2 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัด”

 

เรื่องคงไม่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อมาตรการข้อนี้ระบุไว้ว่า ผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามความข้างต้น กสทช. สามารถพิจารณา ‘ยกเลิก’ พักชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต พร้อมให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่างวดที่เหลือได้ ‘ทันที’

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ นอกจากผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลยังต้องมาคอยลุ้นว่าจะรอดตัวเข้าข่ายได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือในกรอบมาตรา 44 ที่ว่านี้หรือไม่ ก็ยังต้องมาลุ้นกันต่ออีกว่าในอนาคตจะเสี่ยงถูกเพิกถอนสิทธิ์ช่วยเหลือเมื่อไร

 

 

จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด THE STANDARD ได้พูดคุยกับ เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด เพื่อสะท้อนข้อคิดเห็นต่างๆ ที่เขามีต่อมาตรการช่วยเหลือที่เพิ่งประกาศใช้ออกมา มุมมองและทัศนะส่วนตัวที่มีต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลประเทศไทย บทบาทและภูมิทัศน์การผลิตคอนเทนต์สื่อของวอยซ์ที่ (อาจจะ) เปลี่ยนไป เพื่อให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงในสายตาของผู้ประกอบการ แล้ว อะไรคือ ‘ข้อกังวล’ ที่เขายังรู้สึกคลางแคลงใจ

 

วอยซ์อาจไม่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือ

การประกาศมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลโดยใช้อำนาจมาตรา 44 ที่ออกมาในครั้งนี้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้อธิบายไว้ว่าผู้ที่ใช้สิทธิ์ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 จะต้องมายื่นใช้สิทธิ์ต่อสำนักงาน กสทช. ภายในวันที่ 23 พฤษภาคม

 

โดย กสทช. จะเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ว่าผู้ประกอบการรายใดจะมีสิทธิ์ได้รับการพักชำระหนี้ หากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใด ‘เคย’ กระทำผิดเงื่อนไขของ กสทช. ผู้ประกอบการรายนั้นๆ ก็จะไม่สามารถพักการชำระหนี้ได้ และจะต้องนำเงินมาชำระพร้อมดอกเบี้ยตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

 

มีผู้ประกอบการเพียงแค่ 2 รายเท่านั้นที่ไม่ขอใช้สิทธิ์พักชำระหนี้และขอชำระค่างวดตามปกติต่อไปคือ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7HD) และบริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (เวิร์ค พอยท์) ขณะที่ผู้ประกอบการอีก 20 รายที่เหลือ รวมถึงวอยซ์ ต่างแสดงความจำนงขอใช้สิทธิ์พักชำระด้วยกันทั้งหมด

 

 

เบื้องต้นคาดการณ์ว่าการพิจารณาในครั้งนี้น่าจะใช้เวลาราว 1 สัปดาห์ หลังประกาศมาตรการเยียวยานี้ออกมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม

 

คำถามที่ตามมาคือ ในเมื่อรายงานจากเว็บไซต์ ilaw ระบุว่าไว้ชัดเจนว่าวอยซ์เป็นสื่อที่ถูก กสทช. สั่งลงดาบมากที่สุดถึง 19 ครั้ง ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 10 เมษายน 2561 รวมถึงครั้งที่หนักที่สุดที่ถูกสั่งปิดสถานีระงับการออกอากาศราว 26 วันหลังการทำรัฐประหารของ คสช. เมื่อปี 2557 จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่าวอยซ์อาจไม่เข้าข่ายการได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือดังกล่าว

 

 

เมฆินทร์มองว่า “กสทช. มีโมเดลการกำกับและจัดการกับเนื้อหารายการต่างๆ ที่ออกอากาศอยู่แล้ว ซึ่งข้อความที่ระบุไว้ในข้อ 9 ก็ไม่ได้เป็นประเด็นอะไร เพราะเป็นนโยบายที่เขาบังคับใช้เป็นปกติ แต่อาจจะมีข้อสังเกตที่ว่า กสทช. จะอนุมัติให้ผู้ประกอบการช่องนั้นๆ ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าให้พูดตรงๆ ก็ต้องบอกว่าวอยซ์เองก็ถูกเตือน ถูกลงโทษมาเป็น 10 กว่าครั้งแล้ว จุดตรงนี้ก็อาจจะเป็นประเด็นได้เช่นกัน ข้อสังเกตคือการช่วยเหลืออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลมันคือการแก้ไขปัญหา ซึ่งในความเห็นของผม ผมแค่รู้สึกว่านโยบายช่วยเหลือนี้ไม่ควรจะต้องไปผูกกับข้อกำหนดในข้อ 9

 

“ผมเห็นเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงในทำนองนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว ที่ผ่านมาคือการที่มาตรา 44 ได้ให้อำนาจ กสทช. สามารถดำเนินการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบเนื้อหาได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ กสทช. ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งคดีทางแพ่งและอาญา ซึ่งกรณีแบบนี้ผมมองว่ามันจะไม่เกิดการถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balances) แล้วถ้ามีประเด็นว่าช่องสถานีดังกล่าวมีผังรายการที่ไม่เป็นไปตามครรลองในข้อที่ 9 เขาก็จะยกเลิกการให้ความช่วยเหลือได้ ผู้ประกอบการช่องที่ถูกยกเลิกก็ต้องหาเงินมาจ่ายเอง ผมยังรู้สึกว่าข้อกำหนดนี้มันอาจจะยังไม่ลงตัว”

 

เมฆินทร์บอกกับเราต่อว่าเขาไม่ได้จะพยายามแทรกแซงหรือตำหนิการทำงานของ คสช. หรือ กสทช. แต่อย่างใด เพียงแต่อาจจะรู้สึกว่ามาตรการข้อนี้จะเพิ่มอำนาจให้ กสทช. สามารถกำกับและควบคุมเสรีภาพของสื่อได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เมื่อ กสทช. ให้สิทธิ์ช่วยเหลือแล้วก็ควรให้ไปเลย ไม่ควรมีเงื่อนไขอื่นๆ งอกเงยเพิ่มตามขึ้นมาภายหลัง

 

“ด้วยความเคารพ ผมไม่ได้จะแทรกแซงหรือตำหนินะครับ แค่รู้สึกว่ามันอาจจะกลายเป็นกรอบการเพิ่มอำนาจให้ กสทช. กำกับควบคุมเสรีภาพของสื่อได้ เราฟังการแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่บวกกับเนื้อหาก็เห็นว่าถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับโทษทางแพ่งและอาญาในการวินิจฉัยใดๆ ก็จะไม่เกิดการถ่วงดุลอำนาจ ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการที่ถูกสั่งตรวจสอบหรือโดนวินิจฉัยว่ามีความผิดกลับต้องถูกปิดสถานี มีแค่สเตปเดียวที่เราสามารถทำต่อได้คือไปร้องเรียนที่ศาลปกครอง ถ้ามองไกลกว่านั้นอีก ในภาวะหนึ่งมันคือการกำกับเสรีภาพสื่อรูปแบบหนึ่งเลย

 

“ทั้งๆ ที่เมื่อคุณวินิจฉัยไม่ถูกต้อง ผู้ประกอบการดำเนินการฟ้องกลับ เจ้าหน้าที่ก็ควรจะต้องเดือดร้อนด้วย มันจึงจะ ‘สมดุล’ หรือถ้าคุณวินิจฉัยไม่ยุติธรรมกับเรา เราก็ควรจะเรียกร้องได้ด้วยเช่นกัน แต่นี่มันคล้ายว่ามีมาตรการการคุ้มครองเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ ซึ่งจะทำให้บริบทเปลี่ยนทันที

 

“อีกกรณีคือการมีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเงื่อนไขที่ กสทช. เขาจะยกเลิกสิทธิ์พักชำระหนี้ได้ด้วย แต่จริงๆ แล้วบทลงโทษของผู้ประกอบการที่ผลิตเนื้อหาที่เป็นปัญหา เจ้าหน้าที่ก็สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้อยู่แล้ว หรือถ้าเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงก็มีกฎหมายความมั่นคงของประเทศควบคุมอยู่ และถ้าเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายการโฆษณาเกินจริงก็ไปว่ากันถูกผิดตามข้อกำหนดของ กสทช. หรือ อย. แต่ไม่ใช่ว่ามาผสมกับเรื่องนี้ (เพิกถอนสิทธิ์พักชำระ) นี่คือเรื่องที่เรามีข้อกังวลในระดับหนึ่ง”

 

 

ประเมินพลาด ดำเนินการล่าช้า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน 3 เนื้อร้ายของทีวีดิจิทัล

เราถามเมฆินทร์ว่าในมุมมองของเขา อะไรคือปัญหาสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในประเทศไทยกระท่อนกระแท่น ติดๆ ขัดๆ ทำอะไรก็ไม่เคยลงตัวเสียที ทั้งยังไม่ใกล้เคียงกับการประสบความสำเร็จเลยแม้แต่น้อย

 

ซีอีโอสูงสุดของวอยซ์ตอบเราว่า ปัญหาของทีวีดิจิทัลไทยในความเห็นของเขามีอยู่ 3 ข้อหลักๆ คือ หนึ่ง การประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมที่คลาดเคลื่อน สอง การดำเนินการที่ผิดพลาดและล่าช้า และสาม พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สวนทางกับจำนวนผู้ผลิตคอนเทนต์ทีวีที่มีเพิ่มขึ้น

 

“ผมคิดว่าปัญหาประการแรกคือการประเมินกิจกรรมในอุตสาหกรรมนี้คลาดเคลื่อนสวนทางกับเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคไปพอสมควร เคยมีการประเมินไว้ว่าโมเดลทีวีดิจิทัลจะมีมูลค่าเศรษฐกิจหรือพฤติกรรมผู้บริโภคสูง แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

 

“ปัญหาประการต่อมาคือการดำเนินการ ทั้งในด้านการออกแบบค่าดำเนินการ การสร้าง MUX ที่ล่าช้า ไม่ทันเวลาต่อการออกอากาศบนระบบดิจิทัลในช่วงแรก การแจกกล่องรับสัญญาณที่ไม่เพียงพอ ตลอดจนปัญหาการโปรโมตต่างๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียโอกาส ส่วนปัญหาประการสุดท้ายคือ Demand & Supply ของทีวีดิจิทัลมันเกิดขึ้นในช่วงที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเยอะมาก คนหันไปเสพสื่อออนไลน์กันเยอะขึ้น”

 

 

ย้อนกลับมามองที่ตัวผู้ประกอบการ เป็นไปได้หรือไม่ว่าวอยซ์ในยุคที่ต้องดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กับการถูกควบคุมการผลิตคอนเทนต์โดย คสช. ถูกสั่งพักและระงับออกอากาศมานับครั้งไม่ถ้วนจะเป็นอีกหนึ่งในอุปสรรคปัญหาที่ขัดขวางการเติบโตในการดำเนินธุรกิจและการหารายได้ขององค์กร

 

“อุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากวิวัฒนาการของตัวอุตสาหกรรมเอง ผมมองว่าผู้ประกอบการฝั่งเอกชนคงต้องสู้ด้วยกลไกตัวเอง เพราะรัฐหรือองค์กรอิสระก็มีกรอบกติกาของพวกเขาอยู่ และพวกเราก็ต้องรวมตัวกันผลักดันชี้แจงให้พวกเขารู้ว่าอะไรมันเป็นอย่างไร”

 

เมฆินทร์เริ่มเท้าความย้อนเล่าว่า ในอดีตวอยซ์เริ่มต้นดำเนินธุรกิจจากการเป็น ‘เว็บทีวี’ มาก่อน และวางวิสัยทัศน์ผลิตคอนเทนต์สำหรับคนรุ่นใหม่ แต่เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวโครงสร้างขั้นพื้นฐานในประเทศยังไม่เอื้ออำนวย (การเชื่อมต่อและการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต) วอยซ์จึงจำต้องหันมาออกอากาศในระบบโทรทัศน์ดาวเทียมตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2552 แทน

 

“หลังจากนั้น 5 ปีก็เข้าสู่ยุคดิจิทัลทีวี แต่เมื่อทำมาได้สักระยะ ประเทศไทยก็เข้าสู่ช่วงปฏิวัติรัฐประหาร นำไปสู่รัฏฐาธิปัตย์ บริบทของประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวก็เปลี่ยนไป เมื่อมีการจำกัดเนื้อหาภายใต้การดูแลของ คสช. ระหว่างทางก็มีการร้องเรียน เราเองก็ถูกเรียกไปตักเตือนหรือลงโทษร่วม 18-19 ครั้งได้ ครั้งที่หนักสุดคงเป็นช่วงแรกที่ถูกสั่งงดออกอากาศ 1 เดือน ส่วนช่วงปลายปีที่แล้วก็เพิ่งถูกสั่งปิดช่องและรายการไป 7 วัน รายการวิเคราะห์ข่าวของเราถูกทั้งตักเตือน เซ็นลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกัน แต่ระยะหลังๆ ก็เริ่มมีการผ่อนปรนบ้าง จนนำไปสู่รัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพกับสื่อ

“โดยหลักแล้วทั้งบริษัทและผู้บริหารก็พยายามทำความเข้าใจดุลพินิจและคำวินิจฉัยต่างๆ ของ กสทช. เราให้ความร่วมมือมาโดยตลอด พยายามปรับแก้ไขแนวทางให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศให้ดีที่สุด ถึงจะมีความเห็นที่ต่างกันพอสมควรในหลายๆ เรื่อง แต่เราก็ยังยืนยันที่จะให้ความร่วมมือกับ คสช. ต่อไป มีบ้างที่ช่วงระยะหลังๆ เราได้แจ้งเขากลับว่าอาจจะอุทธรณ์ที่ศาลปกครองเพื่อให้เราได้ชี้แจงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น”

 

 

วอยซ์ทีวีหลังผ่าตัดใหญ่ องค์กรจะไปต่อได้ไหมถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือ

อย่างที่ทราบกันว่าต้นปีที่ผ่านมาวอยซ์ได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยประกาศเลิกจ้างบุคลากรร่วม 127 คน พร้อมเยียวยาตามลำดับขั้นตอน และมีบางส่วนที่ยังเป็น outsource ผลิตงานให้บริษัทอยู่

 

จากการเปิดเผยของเมฆินทร์พบว่าปัจจุบันวอยซ์มีจำนวนบุคลากรในบริษัทรวมทั้งหมดเหลือประมาณ 170 กว่าชีวิต ในที่นี้แยกออกได้เป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ

 

1. ทีมผลิตคอนเทนต์สำหรับช่องโทรทัศน์หรือวิดีโอสตรีมมิง (Content Creator) จำนวน 88 คน โดยกลุ่มเป้าหมายของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีอยู่ที่ผู้ชมอายุ 30 ปีขึ้นไป

 

2. ทีมผลิตคอนเทนต์สำหรับออนไลน์ (Content Creator) จำนวน 44 คน กลุ่มเป้าหมายหลักคือคนรุ่นมิลเลเนียม ไม่เน้นฟีดคอนเทนต์ที่เยอะมาก ไม่เน้นข่าวกระแส แต่เน้นผลิตคอนเทนต์เชิง Intellectual ในประเด็นสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และต่างประเทศ โดยเฉลี่ยใน 1 วันจะปล่อยคอนเทนต์ประมาณ 30 ชิ้น  

 

3. ทีมครีเอทีฟโปรดักชัน (Creative Production) จำนวน 15 คน มีหน้าที่คล้ายสตูดิโอโปรดักชัน เป็นเอเจนซี outsource ให้แบรนด์และบริษัทต่างๆ รับงานลูกค้าทั้งภายในภายนอกบริษัท

 

4. ทีมครีเอทีฟแอ็กทิวิตี้ (Creative Activities) จำนวน 12 คน ดูแลพื้นที่ให้เช่าจัดกิจกรรม Voice Space

 

หลักๆ เมฆินทร์บอกว่าการปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งที่ผ่านมานี้เป็นไปเพื่อให้พนักงานและทีม Content Creator ของวอยซ์มีทักษะการทำงานที่หลากหลายและรอบด้านมากขึ้น (Multi Skilled Journalist) และผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเลยคือประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการผลิตคอนเทนต์และการควบคุมงบประมาณค่าใช้จ่าย

 

“ในฝั่งผู้ประกอบการ ผมเชื่อว่าวิธีที่เราจะปรับตัวได้ (วิกฤตอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล) คือต้องปรับขนาดบุคลากรในองค์กรให้เหมาะสม มีทักษะความสามารถที่รอบด้าน หลากหลาย แข็งแรง แล้วต้องดึงดูดคนทำงานที่มีคุณภาพเข้ามาให้ได้

 

 

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่วอยซ์อาจจะเลือกคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลตามไทยทีวี เมฆินทร์ตอบหนักแน่นว่า ณ ตอนนี้พวกเขายังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลต่อไปเช่นเดิม แต่ก็ยอมรับว่าในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เช่นกัน

 

“ผมว่าผู้ประกอบการทุกรายก็ยังมีทางเลือกนี้อยู่ในมือเหมือนกันหมด (คืนใบอนุญาต) มันก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตข้างหน้าด้วยว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร เช่นทุกวันนี้เขาจะดูคอนเทนต์โทรทัศน์ตามเวลาที่ตัวเองสะดวก หรือต้องการชมในลักษณะ Living Room Content (เปิดทีวีทิ้งไว้) แล้วถ้า S-curve ของธุรกิจมันหมดลงเมื่อใด เราก็จะต้องหา S-Curve ใหม่ให้เจอและบริหาร Demand & Supply ให้ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรเราก็จะยึดโมเดลการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ไว้เหมือนเดิมแน่นอน

 

“ณ ตอนนี้สถานการณ์ทีวีดิจิทัลในไทยมันตึงมากๆ แล้ว ผู้ประกอบการทุกรายเองก็ต้องรักษาสมดุลรายได้จากแพลตฟอร์มในหลายๆ ช่องทางมาผสมผสานกันให้ดี และยังต้องหาช่องทางทำรายได้โฆษณาในลักษณะแพ็กเกจ Bundle (รวมหลายๆ แพลตฟอร์ม) บนการบริหารจัดการรูปแบบเดียวกันให้ได้ ซึ่งก็ต้องมาประเมินกันในลักษณะปีต่อปีไป”

 

ปัจจุบันวอยซ์ยังเหลือค่าดำเนินการที่ต้องชำระอีกทั้งหมดประมาณ 606 ล้านบาท จากทั้งหมดรวมกว่า 1,400 กว่าล้านบาท (จำแนกเป็นค่าประมูลช่องสถานี 1,330 ล้านบาท และค่าดอกเบี้ยอื่นๆ เพิ่มเติม) ยังไม่นับรวมกับค่า MUX ที่ต้องชำระทุกเดือนเป็นเงิน 4.6 ล้านบาท

 

ฉะนั้นคำถามสำคัญที่ทุกฝ่ายต่างจับตาคือ วอยซ์จะเลือกดำเนินการเช่นไรหากไม่ได้รับพิจารณาให้ใช้สิทธิ์พักชำระค่างวดที่เหลือ เพราะในกรณีนี้ เมฆินทร์ก็ได้ตอบไว้ชัดเจนแล้วว่าวอยซ์ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจผลิตคอนเทนต์ต่อไปเช่นเดียวกับความตั้งใจที่จะออกอากาศในรูปแบบสถานีโทรทัศน์ตามเดิม

 

จากการคาดเดาของผู้เขียน หากวอยซ์โชคร้ายตกรถไฟขบวน ‘เยียวยา’ จริงๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาอาจจะเลือกผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ควบคู่กับการออกอากาศบนสถานีโทรทัศน์ต่อไป แต่จะเป็น ‘ระบบทีวีดิจิทัล’ ต่อไป (แลกกับการกัดฟันจ่ายค่าดำเนินการอีกกว่า 606 ล้านบาทตามกำหนดชำระปกติ) หรือจะเซอร์ไพรส์ด้วยการกลับไปออกอากาศบนระบบดาวเทียมนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X