×

‘มักกอลลี’ เรื่องเหล้าหวานปนขม จากสุราคนยากในเกาหลีใต้สู่คนรักของนักดื่มทั่วโลก

06.08.2023
  • LOADING...
Makgeolli

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • ตามบันทึกมีการค้นพบเรื่องราวของมักกอลลีมาตั้งแต่ 2,000 ปีที่แล้ว ด้วยความที่ทำได้ง่าย ทำให้มักกอลลีกลายเป็นของที่ชาวเกาหลีทำกันเองแทบทุกบ้าน เรียกว่าหมักกันในครัวเรือนเลยทีเดียว
  • รสชาติของมักกอลลีที่หาได้ในช่วงเวลานั้นจะไม่น่าพิสมัยนัก บาดคอบ้าง แต่อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายสำหรับนักดื่ม เพราะเรื่องคอขาดบาดตายจริงๆ คือการไม่มีมักกอลลีให้ดื่มมากกว่า ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1960-1970
  • มักกอลลีพรีเมียมเจาะตลาดญี่ปุ่นได้แล้ว และตอนนี้เริ่มส่งออกไปยังออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ขณะที่ตลาดของมักกอลลีในเกาหลีเองก็เติบโตไม่หยุดยั้ง ตัวเลขในปี 2021 จาก Food Information Statistics System ระบุว่าตลาดมีมูลค่าถึง 5.1 แสนล้านวอน

มีคำพูดแต่โบราณนานมาในเกาหลีกล่าวกันไว้ว่า “ถ้าอยากรู้จักการเมืองในหมู่บ้านไหน ให้รู้จักผ่านรสของสุรา”

           

ถ้าหมู่บ้านไหนมีเหล้าชั้นดี นั่นหมายถึงหมู่บ้านนั้นสงบสุขและมีพืชผลมากมาย ในทางกลับกันหากหมู่บ้านไหนสุรารสชาติแย่ก็หมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เศร้าหมองของชาวบ้านที่ถูกกลั่นออกมาให้ดื่มเพื่อลืมความเศร้า

           

เพียงแต่เหล้าดีของเกาหลีที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงโซจู เครื่องดื่มสีใสในขวดสวยที่คุ้นตาของแฟนซีรีส์เกาหลี แต่เป็น ‘มักกอลลี’ (Makgeolli) เครื่องดื่มสีขาวขุ่นเหมือนนม (หรือนมเปรี้ยว) ที่เป็นเหมือนเหล้าที่ชาวนาจะต้มดื่มกันเองในบ้าน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


          

มักกอลลีอยู่คู่กับชาวเกาหลีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ผ่านกาลเวลาและเรื่องราวมากมาย พ้นช่วงที่เคยตกต่ำและถูกสั่งห้ามไม่ให้ต้มดื่มหรือต้มขาย จนมาถึงปัจจุบันที่เครื่องดื่มสามัญชนชนิดนี้ปรากฏตัวในภาพยนตร์หรือซีรีส์เกาหลีบ่อยๆ จนเกิดกระแสความนิยมกลับมาอีกครั้ง

           

วันนี้มาทำความรู้จักกับเรื่องราวของเครื่องดื่มสุราก้าวหน้าแบบเกาหลีที่อาจเป็นบทเรียนที่ดีให้ศึกษา

           

พร้อมแล้วยกขัน เอ้ย ถ้วยขึ้นมาได้เลย!

 

หวานและขมในกลมเดียว

 

หากใครชื่นชอบการดูภาพยนตร์หรือซีรีส์เกาหลีก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นภาพของบรรยากาศการ ‘ร่ำสุรา’ ในสไตล์ชาวกิมจิที่ตั้งโต๊ะดื่มกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

           

ในบรรดาเครื่องดื่มมึนเมาบรรเทาอาการเหนื่อยและอ่อนล้าจากการใช้ชีวิตประจำวันของชาวเกาหลี นอกจาก ‘โซจู’ ที่เห็นกันจนชินตาและทำให้เกิดกระแสความนิยมของเครื่องดื่มดีกรีหนักไปทั่วโลกแล้ว อีกหนึ่งชนิดคือเครื่องดื่มสีขาวที่แลดูเหมือนนมที่จะเทจากขวดพลาสติกหน้าตาบ้านๆ

           

เครื่องดื่มชนิดนี้คือ ‘มักกอลลี’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นี่แหละ เพียงแต่ไม่ได้แค่ทำให้ผ่อนคลาย แต่ยังมีประโยชน์และทำได้ง่ายด้วย

 

           

ตามบันทึกมีการค้นพบเรื่องราวของเหล้าชนิดนี้ตั้งแต่ 2,000 ปีที่แล้ว โดยมีการระบุในเอกสารครั้งแรกว่ามีเรื่องราวของสุราที่เรียกว่า ‘อีฮวาจู’ ซึ่งแปลได้ว่า ‘เหล้าดอกแพร์’ มาตั้งแต่ราชวงศ์โครยอ

           

ที่เรียกกันว่าเหล้าดอกแพร์ไม่ได้แปลว่ามันทำมาจากดอกหรือผลของต้นแพร์ แต่แค่มักจะเริ่มทำเหล้าชนิดนี้กันในช่วงที่ต้นแพร์บานสะพรั่งงดงาม (โรแมนติกไปอีก)

           

ส่วนสิ่งที่นำมาใช้ทำมักกอลลีนั้นก็ไม่ได้มีอะไรยากหรือซับซ้อนเลย เพราะมันทำมาจาก ‘ข้าว’ ที่ปลูกและหุงหากันได้ทุกครัวเรือนอยู่แล้ว กรรมวิธีก็ไม่ได้ยากลำบากอะไร แค่หุงข้าวให้สุก สุดแล้วแต่ว่าจะหาข้าวชนิดใดมาได้

           

ข้าวที่สุกแล้วก็เอามาหมักกับส่าเหล้าที่เรียกว่า ‘นูรุก’ (Nuruk ไม่ใช่หนูลูกนะ!) ใช้เวลาในการหมักไม่นาน แค่ 7-10 วันก็จะได้เครื่องดื่มสีขาวนวล

           

ทีเด็ดคือมักกอลลีมีสารอาหารหลายอย่าง เช่น วิตามิน B1 B2 และ C มีสารชะลอความแก่ สารต้านมะเร็ง รวมทั้งยังอุดมด้วยแล็กติกแอซิดแบคทีเรีย

           

โดยมักกอลลี 1 ขวด จะมีแล็กติกแอซิดแบคทีเรียถึง 7-8 หมื่นล้านตัว เทียบเท่าการดื่มนมเปรี้ยวขนาด 65 มิลลิลิตรถึง 100-120 ขวดเลยทีเดียว

           

ขณะที่วิธีการดื่มที่ถูกต้องจะต้องดื่มแบบเย็นเสมอ โดยในอดีตจะตักจากหม้อดินหรือเทจากกาต้มน้ำทองเหลืองใส่ชามตื้น ก่อนดื่มกรุณาคนเบาๆ ให้ตะกอนที่นอนก้นกระจายตัวสักนิด หรือสำหรับคนสมัยใหม่มักกอลลีใส่ขวดมาก็เขย่าสักนิดให้เข้าที่

           

มักกอลลีที่ถูกต้องจะมีรสชาติหวานแต่ก็มีแอลกอฮอล์ที่ใครเผลอซดโฮกเข้าไปมีโอกาสจะร่วงได้โดยไม่รู้ตัว

 

คนรักของนักดื่ม

 

ด้วยความที่ทำได้ง่ายทำให้มักกอลลีกลายเป็นของที่ชาวเกาหลีทำกันเองแทบทุกบ้าน เรียกว่าหมักกันในครัวเรือนเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่ามีสูตรสารพัดแล้วแต่บ้านใคร

           

ความนิยมของเหล้าชนิดนี้ (ที่เทียบเคียงได้ใกล้ๆ กับสาโทหรืออุของบ้านเรา) แทบเป็นอมตะ เหตุผลนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ความง่ายและสะดวกรวมถึงรสชาติที่ดี

           

แต่มักกอลลีเป็นคนรักของนักดื่มเพราะราคาที่ถูกของมัน

           

สำหรับชาวเกาหลีในยุคก่อนหน้านี้สัก 30 ปีที่ยังต้องสู้ชีวิตอยู่มาก มักกอลลีคือเครื่องดื่มมึนเมาที่มีราคาต่ำที่สุดเท่าที่พวกเขาจะหาได้ นั่นทำให้เครื่องดื่มชนิดนี้เป็นขวัญใจของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ไปจนถึงคนใช้แรงงานที่ต้องการดื่มอะไรให้ชุ่มคอในราคาที่ไม่โหดร้ายเกินไป

           

ต่อให้รสชาติของมักกอลลีที่หาได้ในช่วงเวลานั้นจะไม่น่าพิสมัยนัก บาดคอบ้าง แต่อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายสำหรับนักดื่ม

           

เพราะเรื่องคอขาดบาดตายจริงๆ คือการไม่มีมักกอลลีให้ดื่มมากกว่า

           

เรื่องนี้ฟังดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อมักกอลลีเคยถูกสั่งห้ามผลิตจากรัฐบาลทหารในช่วงทศวรรษ 1960-1970 เพราะในช่วงเวลานั้นเกาหลีใต้อยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง ประเทศขาดแคลนอาหารอย่างแสนสาหัสหลังสงครามโลก

           

มักกอลลีซึ่งผลิตจากข้าวจึงถูกสั่งห้าม แต่ก็ยังลักลอบทำกันอยู่ โดยมีการเติมส่วนผสมอื่นๆ เพื่อทดแทนข้าวที่หาได้ยาก เช่น แป้งสาลีหรือข้าวโพด

           

แต่รสชาติที่ออกมานั้นมันไม่ไหวจริงๆ และยิ่งทำให้มักกอลลีที่มีภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มชนชั้นแรงงานกับคนรุ่นเก่าเริ่มเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะมีคำสั่งยกเลิกการแบนเครื่องดื่มชนิดนี้ในเวลาต่อมาก็ตาม

 

           

เครื่องดื่มพื้นบ้าน

 

เพราะความรักในมักกอลลี ทำให้ชาวเกาหลีใต้ค่อยๆ ฟื้นฟูเครื่องดื่มชนิดนี้ขึ้นมา

           

หนึ่งในนั้นคือ คิมคยองซอบ ที่ฝังใจกับการไปนั่งดื่มกับเพื่อนหลังเลิกเรียน ซึ่งสำหรับนักศึกษาที่ไม่ได้มีเงินทองมากมายอะไร จะมีอะไรที่ตอบโจทย์ไปกว่าสุราขวัญใจชนชั้นกรรมาชีพอย่างมักกอลลี

           

“เวลาเราไปดื่มกับผู้หญิงเราก็ดื่มเบียร์นั่นแหละ (อ้าว) แต่ถ้าเด็กผู้ชายดื่มกันเองเราจะดื่มมักกอลลี เครื่องดื่มนี้มันดูมีชื่อเสียงที่ไม่ดี ไม่เหมาะกับการชวนหญิงดื่มหรอก” คิมกล่าว

           

เพียงแต่เพราะเหตุผลนี้แหละที่ทำให้เขาคิดที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของคนรักนักดื่มเสียใหม่ โดยเมื่อจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เขามาทำงานเป็นอาจารย์ที่ Global Cyber University ในกรุงโซล

           

วิชาที่สอนคือ ‘วิชาการหมักมักกอลลี’ โดยเป้าหมายนั้นเขาบอกไว้ว่า “เราพยายามอย่างหนักที่จะลบภาพจำของคนดื่มมักกอลลีในสายตาคนทั่วไป”

           

เพียงแต่คิมเดียวอาจไม่พอ มีอีกคิมที่อยากช่วยยกระดับเครื่องดื่มชนิดนี้ด้วยคือ คิมมินกยู ซึ่งเป็นมือบ่มเหล้าฝีมือดีที่ขอลุยกับการสร้างโรงกลั่นมักกอลลีที่มีชื่อว่า Boksoondoga เมื่อปี 2009

           

มักกอลลีของเขาไม่ใช่มักกอลลีแบบธรรมดาทั่วไป แต่เขาวางโพสิชันของมันเอาไว้ในระดับ ‘มักกอลลีพรีเมียม’

           

แต่สิ่งสำคัญคือสูตรนั้นแกะมาจากความทรงจำที่ล้ำค่าในวัยเด็ก เพราะเป็นมักกอลลีที่คุณย่าของเขาจะหมักไว้ แล้วนำมาให้คนในบ้านดื่มเวลาที่ครอบครัวมารวมตัวกันพร้อมหน้าในบ้านสวนที่เมืองยางซาน

           

นั่งดื่มมักกอลลีไป ร้องรำทำเพลงไป คือความทรงจำที่มินกยูหวงแหนและอยากให้ชาวเกาหลีที่เคยมีความทรงจำในแบบเดียวกันได้กลับมามีความสุขกับเครื่องดื่มบ้านๆ ชนิดนี้อีกครั้ง

           

จากเหล้าชาวนาสู่มรดกทางวัฒนธรรม

 

จากหลักสูตรสอนการหมักมักกอลลีของคิมคยองซอบ มาถึงมักกอลลีพรีเมียมของคิมมินกยู ความพยายามของทั้งสองเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นชั้นดีที่นำไปสู่การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งของเครื่องดื่มขวัญใจคนยาก

           

สิ่งที่แตกต่างไปคือการเปลี่ยนแปลงของภาพลักษณ์ จากเครื่องดื่มคนเฒ่าและชนชั้นแรงงาน กลายมาเป็นเครื่องดื่มขวัญใจวัยรุ่นไปเสียนี่

           

ด้วยปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่ำ ทั้งยังดีต่อสุขภาพ มักกอลลีที่เหมือนตายทั้งเป็นไปแล้วกลับมาได้รับความนิยมเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการที่ผู้ผลิตที่กลับมาให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มชนิดนี้จำนวนมากได้พยายามตอบสนองต่อความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ในหมู่วัยรุ่นด้วยการปรับสูตร มีมักกอลลีที่รสชาติหลากหลายมากขึ้น บ้างก็ทำให้ดื่มง่ายขึ้นด้วยการผสมโซดาจนเหมือนน้ำอัดลม และปรับลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้น้อยลง จากเดิม 12-18 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 6-9 เปอร์เซ็นต์

           

เรียกว่าดื่มแล้วยังตื่นไปเรียนไหวไม่แฮงก์!

           

แต่มันไม่หยุดแค่นี้ เพราะมักกอลลียังรุกคืบถึงใจคนทั่วโลกผ่านซอฟต์พาวเวอร์อย่างภาพยนตร์หรือซีรีส์เกาหลีที่จะมีฉากการดื่มของตัวละคร ภาพบรรยากาศในการดื่มที่มีการจัดฉากได้อย่างสวยงามทั้งแสงหรือองค์ประกอบศิลป์ ไปจนถึงบทสนทนาที่หากไม่ขำจนแทบตกเก้าอี้ก็อาจคมจนกรีดหัวใจ และอาหารบนโต๊ะที่น่ากินไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหมูสามชั้นย่างหรือจาจังมยอน

           

มันทำให้มักกอลลีซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมกลายเป็นตัวแทนวัฒนธรรมเกาหลีไปอีกหนึ่งอย่างด้วย

 

 

ความกังวลบางประการในการเติบโต

 

ณ เข็มนาฬิกาเดินไปนี้ มักกอลลีกำลังบุกตลาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก

           

คิมมินกยูเปิดเผยกับ CNN ว่า มักกอลลีพรีเมียมของเขาเจาะตลาดญี่ปุ่นได้แล้ว และตอนนี้เริ่มส่งออกไปยังออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่หลายประเทศเริ่มนำวิชาความรู้ในการหมักมักกอลลีมาสอนแก่คนที่สนใจด้วย

           

ขณะที่ตลาดของมักกอลลีในเกาหลีเองก็เติบโตไม่หยุดยั้ง ตัวเลขในปี 2021 จาก Food Information Statistics System ระบุว่าตลาดมีมูลค่าถึง 5.1 แสนล้านวอน หรือราว 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการส่งออกอยู่ที่ 15.8 ล้านดอลลาร์ หรือ 539 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ราว 26.8 เปอร์เซ็นต์

           

เพียงแต่ในความเติบโตที่สดใสนั้นก็เริ่มมีความกังวลบางประการเกิดขึ้น เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนเกี่ยวกับเรื่องการใช้แอสปาร์แตมหรือสารให้ความหวานที่อาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ ซึ่งคล้ายกับกรณีเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อดังในแบบปลอดน้ำตาลที่ถูกเตือนเช่นกัน

           

เรื่องนี้ทำให้บรรดาผู้ผลิตมักกอลลีสะดุ้งโหยง โดยหลังมีการเตือนจาก WHO ยอดขายในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาตกลงไป 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีการยืนยันว่าหากจำเป็นก็จะปรับเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตไม่ใช้สารให้ความหวาน หากมันจะมีโอกาสกลายเป็นสารก่อมะเร็งจริงๆ เพราะเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในระยะยาวได้

           

อย่างไรก็ดี จากความพยายามของทุกภาคส่วนตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าจะไม่มีใครยอมปล่อยให้มักกอลลีต้องหายไปเหมือนในอดีตแน่

           

เพราะมักกอลลีมาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ แต่ถ้าเมาไม่ขับนะทุกคน 🙂

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising