‘พลังของใครสักคนสามารถรวมใจคนกลุ่มใหญ่ บันดาลใจคนรอบกาย มอบความหวังให้คนอื่นได้ ถ้าใครสักคนร้องเพลงได้ แม้จมโคลนลึกถึงคอ เราเองก็ย่อมร้องได้’ (หน้า 97)
ข้อความข้างต้นมาจากบทหนึ่งของหนังสือ Make Your Bed เก็บที่นอนก่อนออกไปเปลี่ยนโลก ที่อาจจะประทับใจใครหลายคนมากที่สุด ชื่อของบทนี้คือ มอบความหวังให้ผู้คน โดยผู้เขียน พลเรือเอก วิลเลียม เอช. แม็คเรเวน ทำหน้าที่เป็นไกด์พาผู้อ่านไปทัวร์ค่ายทหาร ในสัปดาห์ฝึกหน่วยซีลอันหฤโหด ซึ่งเรียกกันว่า ‘สัปดาห์นรก’
ครูฝึกจะสั่งให้นายทหารทุกคนเดินจมลึกลงไปในหาดโคลนอันหนาวเหน็บ หลังจากใช้ร่างกายเกินขีดความสามารถมาทั้งวัน โดยยื่นข้อเสนอว่า ถ้ามีคนลาออก 5 คน คนที่เหลือจะได้สบายขึ้น นายทหารบางคนเริ่มเดินไปหาครูฝึก แต่ทันใดนั้น เสียงร้องเพลงก็ดังขึ้นท่ามกลางความเงียบจากนายทหารคนหนึ่ง ไม่นาน เสียงอื่นก็ดังขึ้นประสานกับเสียงนั้น จนแม้ครูฝึกตะโกนสั่งให้หยุด ก็ไม่มีใครทำตาม ในสภาวะที่ร่างกายสุดจะทานทน จนมีคนยอมแพ้ไปแล้วนั้น ยังมีคนที่ร้องเพลงขึ้นมาได้ และมอบความหวังให้แก่คนอื่นๆ พลเรือเอก แม็คเรเวน สรุปเอาไว้ว่า ‘ถ้าใครสักคนยืนหยัดต่อไปไหว เราเองก็ย่อมยืนหยัดไหว’
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เชื่อมโยงแนวคิดเรื่องความหวังเข้ากับการสูญเสีย เขาเล่าว่า ในการปลอบประโลมญาติของทหารที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่นั้น คนที่ทำเรื่องดังกล่าวได้อย่างโดดเด่นก็คือ เรือโท เคลลี ผู้ซึ่งสูญเสียบุตรชายไปในภารกิจที่อัฟกานิสถาน จุดที่น่าสนใจก็คือ เหตุที่คำพูดของ พลเรือเอก เคลลี มอบความหวังให้คนอื่นๆ ได้อย่างดีนั้น เป็นเพราะเขาเองก็เคยผ่านความเจ็บปวดมา เขาได้มอบความหวังว่า “ในช่วงเวลาเลวร้ายสาหัส เราจะยังยืนหยัดอยู่เหนือความเจ็บปวด ความผิดหวัง และความทุกข์ทรมานได้อย่างเข้มแข็ง” นอกจากนั้นแล้ว เราไม่ได้ผ่านมันไปเพียงเพื่อตนเอง แต่ยัง “เพื่อบันดาลใจคนอื่นๆ ด้วย”
สาเหตุที่บทนี้ดูโดดเด่นขึ้นมานั้น เป็นเพราะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นทหาร และอาชีพทหารก็เป็นอาชีพที่เสี่ยงภัยและเกี่ยวข้องกับความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กระนั้น พลเรือเอก แม็คเรเวน ได้ทำให้เห็นว่า แม้ภัยที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษย์ อย่างเช่น ความตาย ก็ไม่อาจทำให้มนุษย์หมดหวัง เพราะในตัวมนุษย์ทุกคนมีความเชื่ออยู่ว่า วันพรุ่งนี้ต้องดีขึ้นกว่าวันนี้
แม้กระทั่งเรื่องที่เรียบง่าย อย่างเช่น ‘การเก็บที่นอน’ ซึ่งเป็นชื่อหนังสือ และถูกกล่าวไว้ในบทแรกของหนังสือเล่มนี้นั้น ก็ยังสะท้อนถึงการที่มนุษย์มีความมุ่งหมายที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยการทำสิ่งเล็กๆ ไปทีละอย่าง และสั่งสมวินัยจนเป็นนิสัย พลเรือเอก แม็คเรเวน อธิบายว่า เมื่อเขาได้เก็บที่นอนอย่างเรียบร้อย ก็เท่ากับว่าเขาได้ทำภารกิจเสร็จไปหนึ่งอย่าง และพร้อมสำหรับภารกิจที่ใหญ่กว่าเดิม หรือหากวันใดที่เขาเจอเรื่องร้ายๆ มา เขาก็ยังมีที่นอนสะอาดสะอ้าน อุ่นสบาย พร้อมต้อนรับให้เขาผ่านวันแย่ๆ นั้นไปได้ เขายังได้เล่าว่า หลังจากเขาพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บสาหัสจนลุกจากเตียงเองได้ สิ่งแรกที่ทำก็คือ การเก็บเตียงพยาบาลให้เรียบร้อยเช่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ตัวเองเอาชนะอาการบาดเจ็บได้แล้ว และจะเดินหน้าใช้ชีวิตต่อ
มุมมองแบบทหารของผู้เขียน ให้ความสำคัญกับคำคำหนึ่ง ซึ่งไม่มีคำในภาษาไทยแปลได้ตรงตัวนัก นั่นคือ ‘Integrity’ ซึ่งอาจแปลอย่างง่ายได้ว่า ความมั่นคงหรือซื่อสัตย์ต่อหลักการ ซึ่งหลักการที่ว่าก็คือ คนเราสามารถเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างได้ถ้าไม่ยอมแพ้ การเก็บที่นอนสำหรับ พลเรือเอก แม็คเรเวน นั้น ได้มอบความรู้สึกมั่นคง ซึ่งช่วยให้เรามีความแข็งแกร่งและศรัทธามากยิ่งขึ้น และเป็นความภูมิใจบ้าง ในโลกที่บางครั้งก็อัปลักษณ์ ทำให้เราพร้อมจะก้าวผ่านอุปสรรคต่อไป
ในบทที่สาม พลเรือเอก แม็คเรเวน ได้ยกตัวอย่างเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งเข้ากองทัพเรือ เขาสูงน้อยกว่าคนอื่นๆ และครูฝึกก็ปรามาสเขาไว้ว่า จะต้องทำภารกิจว่ายน้ำไม่สำเร็จ พร้อมทั้งแนะนำให้เขาลาออก แต่ก่อนเริ่มภารกิจ ครูฝึกได้กระซิบคำหนึ่งกับชายคนนั้น ก่อนปล่อยจากจุดปล่อยตัว หนึ่งชั่วโมงต่อมา เขาก็ยืนอยู่บนหาดทรายเป็นคนแรกๆ ในหมู่เพื่อน พลเรือเอก แม็คเรเวน เฉลยในตอนท้ายว่า คำพูดที่ครูฝึกพูดกับเขาก็คือ “พิสูจน์สิว่าฉันคิดผิด!” โดย พลเรือเอก แม็คเรเวน ได้สรุปในตอนท้ายว่า การตัดสินคนนั้นต้องตัดสินที่ ‘ขนาดหัวใจ’ และให้ข้อคิดว่า “ถ้าคุณอยากเปลี่ยนโลก จงประเมินคนด้วยขนาดหัวใจของเขา”
ในการฝึกหน่วยซีล จะมีการลงโทษอยู่ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘คุกกี้เคลือบน้ำตาล’ โดยครูฝึกจะให้พลทหารกลิ้งตัวไปกับหาดทราย จนกระทั่งทั้งตัวถูกเคลือบไปด้วยเม็ดทราย ทำให้ไม่สบายตัวไปตลอดทั้งวัน การลงโทษประเภทนี้จะเกิดขึ้นตามใจครูฝึก มีครั้งหนึ่งที่ พลเรือเอก แม็คเรเวน ถูกสั่งทำโทษโดยไม่มีสาเหตุ และครูฝึกก็ให้เหตุผลกับเขาว่า “เพราะชีวิตไม่ยุติธรรม” คนที่โดนทำโทษนั้นทำอะไรไม่ได้ นอกจากก้มหน้ารับการลงโทษ และผ่านมันไปด้วยความอดทน พลเรือเอก แม็คเรเวน ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า บ่อยครั้งคนเราจะถูกกระทำจากปัจจัยภายนอก ซึ่งแม้เราจะตั้งใจทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบแค่ไหน เราก็หลีกเลี่ยงความล้มเหลวไม่ได้ ดังนั้น “ถ้าคุณอยากเปลี่ยนโลก จงรับสภาพคุกกี้เคลือบน้ำตาล แล้วมุ่งมั่นเดินหน้าต่อ”
และก็ไม่ใช่การลงโทษแบบคุกกี้โรยน้ำตาลเท่านั้นที่โหดร้ายสำหรับเขา ยังมีการถูกฝึกซ่อมที่น่ากลัวยิ่งกว่า เมื่อพลทหารฝึกรายการใดตกมาตรฐาน จะต้องถูกฝึกซ่อมเพิ่มขึ้นสองชั่วโมงในวันนั้น ซึ่งทำให้ร่างกายที่เหนื่อยล้าอยู่แล้ว มีสภาพแย่ขึ้นไปอีก นอกจากนั้น เมื่อโดนฝึกซ่อมครั้งหนึ่ง ก็มีโอกาสที่จะโดนฝึกซ่อมครั้งต่อไป เพราะร่างกายที่อ่อนล้าจากการซ่อมรับสภาพจากการฝึกปกติไม่ไหว จนกลายเป็นวงจรวนซ้ำ แต่ท้ายที่สุดคนที่โดนฝึกซ่อมก็จะได้คะแนนในการฝึกดีขึ้นเอง นั่นแสดงให้เห็นว่า ถ้าอดทนก็จะผ่านความยากลำบากที่เจอในวันนี้ไปได้ในที่สุด
การอดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ยังรวมถึงความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับอันธพาลอีกด้วย ซึ่ง พลเรือเอก แม็คเรเวน ได้เปรียบเทียบว่า อันธพาลในการฝึกว่ายน้ำครั้งหนึ่งของเขาและเพื่อนทหารก็คือ ฉลามขาว ซึ่งเป็นสัตว์เจ้าถิ่นในพื้นที่ฝึก ถ้าเขาหวาดกลัวมันก็จะจับความกลัวได้ และเล่นงานเขา แต่ด้วยความที่เขาอยากเป็นหน่วยซีลมาก เขาจึงพร้อมทำทุกอย่าง รวมทั้งการปราบฉลามขาว ถ้าจำเป็นอีกด้วย
ดูเหมือนว่าสำหรับ พลเรือเอก แม็คเรเวนแล้ว การสั่งสมความอดทนเพื่อเอาชนะอุปสรรคน้อยใหญ่ จะเป็นสิ่งที่เตรียมให้เขาพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ รวมทั้งพร้อมรับความสำเร็จที่เป็นดอกผลจากการมีวินัยและเคี่ยวกรำตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วย หลายบทในหนังสือเล่มนี้ เช่น ขนาดหัวใจเท่านั้นที่สำคัญ, ชีวิตไม่ยุติธรรมหรอก-พยายามต่อไป, ความล้มเหลวทำให้คุณแกร่งขึ้น, พร้อมทุกโอกาส, และ อย่าได้ล้มเลิกเป็นอันขาด! ตอกย้ำแนวคิดของเขาในข้อนี้ ซึ่งนำเสนอออกมาอย่างเรียบง่าย ผ่านเรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตในและนอกค่ายฝึก ใช้ภาษาที่ติดดินและมองโลกในแง่ดี ทำให้เราเชื่อว่า โลกนี้ยังดีขึ้นได้อีก เพราะเพียงแค่คนคนเดียวเปลี่ยน ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตคนอื่นอีกมากมายให้ดีขึ้นตามไปได้ ดังที่ พลเรือเอก แม็คเรเวน ได้ให้แรงบันดาลใจกับเราผ่านหนังสือเล่มนี้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
หนังสือ: Make Your Bed เก็บที่นอนก่อนออกไปเปลี่ยนโลก
เขียนโดย: พลเรือเอก วิลเลียม เอช. แม็คเรเวน
แปล: นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี
สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To