วันนี้ (29 มีนาคม) เวลา 08.00 น. ณ ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แถลงสรุปสถานการณ์แผ่นดินไหว และความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ภาสกรเปิดเผยว่า จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 แมกนิจูด ลึก 10 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้รับแรงสั่นสะเทือน โดยสามารถรับรู้แรงไหวได้ในพื้นที่รวม 57 จังหวัด ได้แก่
- เชียงใหม่
- เชียงราย
- ลำพูน
- น่าน
- แม่ฮ่องสอน
- ลำปาง
- พะเยา
- แพร่
- ตาก
- กำแพงเพชร
- นครสวรรค์
- พิจิตร
- พิษณุโลก
- เพชรบูรณ์
- สุโขทัย
- อุตรดิตถ์
- อุทัยธานี
- กาฬสินธุ์
- ขอนแก่น
- ชัยภูมิ
- นครพนม
- นครราชสีมา
- บุรีรัมย์
- มหาสารคาม
- ยโสธร
- เลย
- สกลนคร
- อุดรธานี
- ชัยนาท
- นครนายก
- นครปฐม
- นนทบุรี
- ปทุมธานี
- พระนครศรีอยุธยา
- ลพบุรี
- สมุทรปราการ
- สมุทรสงคราม
- สมุทรสาคร
- สิงห์บุรี
- สุพรรณบุรี
- สระบุรี
- อ่างทอง
- จันทบุรี
- ฉะเชิงเทรา
- ชลบุรี
- ปราจีนบุรี
- ระยอง
- สระแก้ว
- กาญจนบุรี
- ประจวบคีรีขันธ์
- เพชรบุรี
- ราชบุรี
- กระบี่
- ชุมพร
- นครศรีธรรมราช
- ระนอง
- สุราษฎร์ธานี
รวมถึงกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ยังเกิดแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) ขนาด 2.8-7.1 รวม 56 ครั้ง เบื้องต้นได้รับรายงานความเสียหายใน 13 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้เสียชีวิตจำนวน 9 ราย ผู้บาดเจ็บ 9 ราย และผู้สูญหาย 101 ราย
ปัจจุบันมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดแพร่ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้งพื้นที่
ในส่วนของความเสียหายในจังหวัดอื่น ได้รับรายงานเพิ่มเติมจาก 14 จังหวัด ดังนี้
- จังหวัดเชียงใหม่
มีความเสียหายต่ออาคารของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ อาคารคอนโดศุภาลัยมอนเต้ 1 และ 2, อาคารดวงตะวันคอนโดมิเนียมสูง 8 ชั้น, เจดีย์วัดสันทรายต้นกอก และบ้านเรือนประชาชนในหลายอำเภอ เช่น ดอยเต่า พร้าว สันทราย หางดง สันกำแพง มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- จังหวัดเชียงราย
เกิดรอยร้าวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, วัดท่าข้าม ต.ศรีดอนชัย, และคานคอนกรีตสถานีรถไฟป่าแดด (ระหว่างก่อสร้าง) หล่นทับรถยนต์ 6 คัน แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- จังหวัดลำพูน
ได้รับความเสียหายกระจายหลายอำเภอ เช่น ป่าซาง ลี้ บ้านธิ เมืองลำพูน บ้านโฮ่ง เวียงหนองล่อง แม่ทา มีทั้งบ้านเรือน วัด โรงพยาบาล และอาคารราชการเสียหายจำนวนมาก แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- จังหวัดลำปาง
หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ เช่น อ.สบปราบ เกาะคา เมือง แม่ทะ แม่พริก งาว ห้างฉัตร วังเหนือ มีบ้านเรือน วัด โรงพยาบาล และอาคารสาธารณะเสียหาย แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน
อาคารศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอนหลังใหม่ วัด โรงพยาบาล และสิ่งปลูกสร้างใน อ.ปาย ขุนยวม และสบเมย ได้รับความเสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- จังหวัดแพร่
อาคารโรงจอดรถภายในบ้านเลขที่ 234 ต.ป่าแมต อ.เมือง ได้รับความเสียหายบางส่วน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- จังหวัดเพชรบูรณ์
อาคารโรงเรือนการเกษตรเสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- จังหวัดสุโขทัย
อาคารโรงยาสูบเสียหาย 1 หลัง ที่ อ.ศรีสำโรง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- กรุงเทพมหานคร
เขตจตุจักร อาคารก่อสร้างสูง 30 ชั้นถล่ม บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 9 ราย สูญหาย 101 ราย
เขตบางซื่อ เครนก่อสร้างถล่มบริเวณแยกบางโพ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แท็งก์น้ำทรุดตัวในพื้นที่ ม.6,7 ต.สิงหนาท อ.ลาดบัวหลวง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- จังหวัดนนทบุรี
โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ฝ้าเพดานชั้น 17 ร่วง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย
ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน ตัวอาคารมีรอยแตกร้าวใน 3 จุด ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
- จังหวัดสมุทรปราการ
วัดโปรดเกศเชษฐาราม ม.11 ต.ทรงคนอง ระเบียงโบสถ์แตกร้าวเล็กน้อย ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- จังหวัดสมุทรสาคร
อาคารโรงพยาบาลสมุทรสาครมีรอยร้าว ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- จังหวัดชัยนาท
เมรุวัดลัดเสนาบดี อ.เมืองฯ ได้รับความเสียหาย ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ในทุกพื้นที่ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณกุศล ภาคเอกชน จิตอาสา และพลเรือน เข้าดำเนินการช่วยเหลือและสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการปฏิบัติของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระดมทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR) จำนวน 48 นาย พร้อมอุปกรณ์ค้นหาสัญญาณชีพ และอุปกรณ์พิเศษ เข้าสนับสนุนกรุงเทพมหานครบริเวณอาคารถล่มที่มีผู้ติดค้างและสูญหาย
นอกจากนี้ ปภ. ได้ร่วมกับ กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ส่งข้อความ SMS ถึงประชาชนจำนวน 4 ครั้ง ได้แก่
- เวลา 14.42 น. แจ้งประชาชนสามารถเข้าอาคารได้ในกรณีจำเป็น
- เวลา 16.07 น. แจ้งข้อควรปฏิบัติกรณีเกิดแผ่นดินไหว
- เวลา 16.09 น. แจ้งข้อควรปฏิบัติหลังเกิดแผ่นดินไหว
- เวลา 16.45 น. แจ้งว่าสามารถเข้าอาคารได้หากตรวจสอบโครงสร้างเรียบร้อย
ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ได้สั่งให้ ปภ. เตรียมกำลังพลและเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากศูนย์ทั้ง 18 เขต เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ หากมีการร้องขอ
ในขณะนี้ ปภ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย 14 รายการ จากศูนย์เขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี และเขต 16 ชัยนาท เข้าสนับสนุนการค้นหาผู้ประสบภัยในกรุงเทพมหานคร พร้อมเตรียมเครื่องจักรกลกว่า 355 รายการให้พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง
ภาสกรย้ำว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้เน้นย้ำให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าจังหวัด และศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้ากรุงเทพมหานคร ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เร่งสำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ราชการกำหนด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะปักหลักติดตามสถานการณ์ และประสานการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ ความคืบหน้า และวิธีปฏิบัติตนให้ปลอดภัยได้ผ่าน
▪️ Facebook: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM
▪️ X: @DDPMNews
▪️ LINE: เพิ่มเพื่อน LINE ID @1784DDPM
▪️ หรือสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป