×

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และเอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ มหากาพย์ศึกแย่งคนดู 2 โรงภาพยนตร์ไทยยักษ์ใหญ่

28.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS READ
  • ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า 3 ปีที่ผ่านมา เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป มีรายได้และผลกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี ขณะที่ปี 2560 ที่ผ่านมา เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ มีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558
  • ข้อได้เปรียบของเมเจอร์คือ การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ และเปิดให้เข้าซื้อขายหุ้นครั้งแรกเมื่อปี 2545 ส่วนเอส เอฟตั้งเป้าไว้ว่า จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2562 ที่จะถึงนี้
  • แม้เมเจอร์จะมีจำนวนสาขาโรงภาพยนตร์มากกว่าเอส เอฟถึง 80 แห่ง แต่ถ้าเทียบเฉพาะการครองพื้นที่ย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ หรือสาขาในจังหวัดเอกของแต่ละภาคก็จะพบว่า เอส เอฟมีจำนวนโรงภาพยนตร์ในย่าน CBD สูสีกับคู่แข่ง
  • เมเจอร์ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการรับชมภาพยนตร์ และการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับคนดู ส่วนเอส เอฟ เน้นพัฒนาระบบหลังบ้านและช่องทางจำหน่ายตั๋ว รวมถึงเตรียมขยายสาขาให้มากขึ้น

แม้การเกิดขึ้นของสตรีมมิงออนดีมานด์อย่าง Netflix หรือ Amazon Prime เคยนำไปสู่การตั้งคำถามว่า โรงภาพยนตร์ใกล้ถึงคราวอวสานแล้วหรือยัง?

 

แต่คนไทยจำนวนมากยังนิยมชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ข้อมูลจากบริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) ระบุว่า งบโฆษณาในโรงภาพยนตร์ไทยครึ่งปีแรกของปี 2561 สูงกว่า 3,835 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ที่ 12.4% (ประมาณ 3,411 ล้านบาท) สะท้อนให้เห็นว่า ภาพรวมแบรนด์ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในศักยภาพอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ไม่น้อย

 

THE STANDARD ลองเปรียบเทียบทั้งผลประกอบการ, สัดส่วนการครองพื้นที่ทั่วประเทศ และกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคตของ 2 ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ไทยยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อฉายภาพขึ้นจอผ้าใบให้เห็นชัดๆ ว่าใครโตแค่ไหน และใครกำลังจะมุ่งหน้าไปในทิศทางใด

 

ภาพ: www.majorcineplex.com

 

 

เปิดผลประกอบการและทำเลที่ตั้ง 2 บิ๊กโรงภาพยนตร์ เมเจอร์ครองรายได้-กำไรโตทุกปี เอส เอฟไม่น้อยหน้า ครองพื้นที่สำคัญไล่จี้ติด

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า 3 ปีที่ผ่านมา เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป มีรายได้และผลกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี แม้ปีล่าสุดจะมีอัตรากำไรสุทธิลดลงในหน่วยจุดทศนิยมเพียงเล็กน้อยก็ตาม

 

  • ปี 2558 รายได้ 9,201 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 1,170 ล้านบาท / อัตรากำไรสุทธิ 12.7%
  • ปี 2559 รายได้ 9,580 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 1,188 ล้านบาท / อัตรากำไรสุทธิ 12.4%
  • ปี 2560 รายได้ 9,937 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 1,193 ล้านบาท / อัตรากำไรสุทธิ 12%

 

ปัจจุบันเมเจอร์มีจำนวนโรงภาพยนตร์ในเครือประมาณ 138 สาขา (แบ่งเป็นโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลน 5 สาขา) มีจำนวนโรงมากกว่า 710 โรงในกว่า 50 จังหวัด เทียบเป็นอัตราส่วนโรงภาพยนตร์กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอยู่ที่ 27.5% : 72.5% แบ่งเป็น

 

  • โรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 38 สาขา
  • ภาคกลาง 45 สาขา (รวมภาคตะวันออกและตะวันตก)
  • ภาคเหนือ 10 สาขา (เชียงใหม่ 2 สาขา และมีโรง IMAX ด้วย)
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 27 สาขา (ขอนแก่น 3 สาขา)
  • ภาคใต้อีก 18 สาขา (สงขลา 4 สาขา)

 

จุดสังเกต: มีโรงภาพยนตร์อีก 5 สาขาในประเทศกัมพูชาและลาว ส่วนสแตนด์อโลนจะไม่เปิดสาขาเพิ่ม เพราะครองพื้นที่ที่ต้องการได้หมดแล้ว

 

รูปแบบการฉายในปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ประเภท คือ RealD, 2D, 3D, 4DX, IMAX และ ScreenX ราคาตั๋วปกติเริ่มต้นที่ 180 และ 200 บาท ส่วนโรงภาพยนตร์หรู First Class ระดับ 6 ดาว มีให้บริการ 2 โรง คือ บางกอกแอร์เวย์ส บลูริบบอน สกรีนส์ (13 สาขา​: ที่นั่งคู่เริ่มต้นที่ 2,200 บาท) และอินิกมา เดอะ ชาโดว์ สกรีน (1 สาขา: ที่นั่งคู่เริ่มต้นที่ 4,000 บาท)

 

 

เมเจอร์ครองพื้นที่ย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ได้ 5 สาขา ทั้งควอเทียร์ ซีเนอาร์ต, พารากอน ซีนีเพล็กซ์, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สุขุมวิท, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เซ็นทรัล พระราม 3 และเอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดาภิเษก ส่วนสแตนด์อโลนทั้ง 5 สาขา ก็ครองทำเลสำคัญในกรุงเทพฯ ได้ครบแล้วทุกฝั่ง ไล่ตั้งแต่สุขุมวิท, ปิ่นเกล้า, รัชโยธิน, งามวงศ์วาน-แคราย จนมาจรดที่รังสิต

 

ด้านโรงภาพยนตร์ในจังหวัดเอกของแต่ละภาคก็ยึดหัวหาดครอบคลุมตั้งแต่เชียงใหม่ (ภาคเหนือ) 2 สาขา, ขอนแก่น (ภาคอีสาน) 3 สาขา และสงขลา (ภาคใต้) 4 สาขา

 

ข้ามมาดูที่ฝั่งเอส เอฟกันบ้าง กลางปีที่ผ่านมา สุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้แถลงภาพรวมรายได้ของบริษัทในปี 2560 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เอส เอฟมีอัตรากำไรสุทธิลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ส่วนปี 2559 ไม่เปิดเผยตัวเลขผลประกอบการ

 

  • ปี 2558 รายได้ 4,000 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 300 ล้านบาท / อัตรากำไรสุทธิ 7.5%
  • ปี 2559 ไม่เปิดเผยผลประกอบการ
  • ปี 2560 รายได้ 4,200 ล้านบาท / กำไรสุทธิกว่า 180 ล้านบาท / อัตรากำไรสุทธิ 4.2%

 

เอส เอฟมีโรงภาพยนตร์รวมทั้งหมด 58 สาขา มีจำนวนโรงมากกว่า 371 โรงในกว่า 28 จังหวัด เทียบเป็นอัตราส่วนโรงภาพยนตร์กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอยู่ที่ 32.75% : 67.25% แบ่งเป็น

 

  • โรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 19 สาขา
  • ภาคกลาง 19 สาขา (รวมภาคตะวันออกและตะวันตก)
  • ภาคเหนือ 5 สาขา (เชียงใหม่ 2 สาขา)
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 สาขา (ขอนแก่น 1 สาขา)
  • ภาคใต้ 7 สาขา (ไม่มีโรงภาพยนตร์ในสงขลา แต่มีที่ภูเก็ต 2 สาขา)

 

จุดสังเกต: ไม่มีโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลน ส่วนใหญ่ใช้โมเดลผูกกับห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก

 

รูปแบบการฉายมีทั้งหมด 4 ประเภทคือ MX4D Cinema, DOLBY ATMOS, 3D Cinema และ 4K ราคาตั๋วปกติเริ่มต้นที่ประมาณ 180 และ 200 บาท ส่วนโรงภาพยนตร์ระดับหรู First Class 6 ดาว มีให้บริการมากกว่า 9 สาขา (เอ็มพรีเว่ ซีเนคลับ เอ็มโพเรียมให้บริการแบบ First Class ทั้งหมด ราคา 400-900 บาท)

 

พิจารณาจากทำเลที่ตั้งจะพบว่า เอส เอฟมีโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 19 สาขา แบ่งเป็นโรงภาพยนตร์ในย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ 5 สาขา ได้แก่ เอ็มพรีเว่ ซีเนคลับ เอ็มโพเรียม (สุขุมวิท), เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ (ปทุมวัน), เอส เอฟ ซีเนม่า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ (ปทุมวัน), เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัล พระราม 9 และเอส เอฟ ซีเนม่า เทอร์มินอล 21 อโศก ถือว่าสูสีพอฟัดพอเหวี่ยงกับคู่แข่งเลยก็ว่าได้

 

แต่เมื่อวัดจำนวนสาขาโรงภาพยนตร์ทั้งหมด จุดตัดความต่างก็เกิดขึ้น เพราะเอส เอฟมีสาขาน้อยกว่าเมเจอร์อย่างเห็นได้ชัดถึง ‘80 สาขา’ แค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็มีสาขาน้อยกว่าเท่าตัวแล้ว

 

เปรียบเทียบกันแบบปอนด์ต่อปอนด์ หมัดต่อหมัด เมเจอร์ดูจะมีภาษีด้านผลประกอบการและจำนวนสาขาเป็นต่อเอส เอฟพอสมควร แต่สิ่งที่เอส เอฟไม่ได้ด้อยไปกว่าคู่แข่งเลยคือ การไล่ครองพื้นที่ย่านเศรษฐกิจและสาขาในจังหวัดเอกของแต่ละภูมิภาคได้ชนิดหายใจรดต้นคอ

 

หนึ่งในข้อได้เปรียบที่สำคัญของเมเจอร์คือ การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ และเปิดให้เข้าซื้อขายหุ้นครั้งแรกเมื่อปี 2545 ผลที่ตามมาในอีก 16 ปีให้หลัง คือการมีเงินทุนก้อนโตที่ช่วยให้กิจการโรงภาพยนตร์สยายปีกขยายสาขาต่อเนื่องทุกปี

 

ซึ่งทางฝั่งเอส เอฟเองก็ตั้งท่าเตรียมรอจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2562 ที่จะถึงนี้แล้วเช่นกัน ถึงเวลานั้นเมื่อสามารถเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าซื้อหุ้นบริษัทได้ เราคงจะได้เห็นพวกเขาติดสปีดไล่ตามคู่แข่งมาติดๆ แล้วช่องว่างความต่างด้านจำนวนสาขาและผลประกอบการก็จะเริ่มหดแคบลงในที่สุด

 

 

หมายเหตุ: เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายอย่างน้อยปีละ 50-80 โรง ไม่ใช่สาขา ขออภัยในความคลาดเคลื่อนของข้อมูล

 

ภาพ: twitter.com/WeLoveSF

 

ผ่ากลยุทธ์หลัก ‘บัตรสมาชิก’ ใครจับคนดูกลุ่มไหน

ปีนี้ เอส เอฟทุ่มงบไปกว่า 100 ล้านบาท พัฒนาระบบหลังบ้านให้ดีขึ้น ทั้งระบบขายตั๋วออนไลน์, ปรับปรุงแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ จับมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการด้านการทำธุรกรรมอย่าง KBank, SCB, AirPay และ BluePay รวมถึงทำ Kiosk Express Ticketing by GSB กับธนาคารออมสินติดตั้งตามสาขาต่างๆ

 

แต้มต่อที่เอส เอฟทำได้ดีคือ การจับมือกับ AirPay ให้ผู้ซื้อตั๋วผ่านอีวอลเล็ตได้รับส่วนลดค่าตั๋ว 20% ทุกเรื่อง ทุกรอบ และทุกโรงภาพยนตร์ แม้เรื่องพวกนี้อาจดูเล็กน้อย แต่การสร้างประสบการณ์ความประทับใจให้ผู้บริโภคด้วยระบบออนไลน์ ถือเป็นส่ิงที่แบรนด์ในยุคนี้ไม่ควรละเลยเป็นอันขาด

 

อีกแคมเปญที่เห็นชัดๆ ตั้งแต่ต้นปีคือ การคลอดบัตรสมาชิกใช้แทนเงินสด ‘SF Movie Club Card’ ชูคอนเซปต์ยิ่งดูมากยิ่งได้ลด เพิ่มระดับสมาชิกและส่วนลดตามจำนวนภาพยนตร์ที่ดูในรอบปี ลดสูงสุด 35 บาท

 

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา SF Movie Club Card มีสมาชิกทั้งหมด 200,000 ราย ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะต้องเพิ่มเป็น 900,000 รายให้ได้ และคาดว่าจะทำเงินให้บริษัทมากกว่า 70 ล้านบาท แถมยังใช้เป็นฐานข้อมูลวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค (Data Analysis) ต่อยอดแคมเปญการตลาดใหม่ๆ ในอนาคต

 

ก่อนหน้านี้เอส เอฟเคยออกบัตร Student Card มาแล้ว ก่อนจะปรับมาใช้ระบบสมาชิกเหมือนกันทั้งหมดในปีนี้ ถ้าพูดตามตรงก็ค่อนข้างเดินเครื่องช้ากว่าคู่แข่งพอสมควร (เมเจอร์เปิดตัวบัตร M Generation ตั้งแต่ปี 2554) แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง เอส เอฟก็มีเวลาเตรียมตัวนานกว่า เพื่อปรับกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับผู้บริโภคของตัวเอง

 

 

จะเห็นว่าในเชิงโครงสร้างบัตรสมาชิกและสิทธิพิเศษต่างๆ ของเอส เอฟและเมเจอร์แทบจะไม่มีความเหมือนกันเลย ฝั่งเอส เอฟแบ่งบัตรออกเป็น 4 ประเภทตามช่วงอายุผู้ใช้งาน วิธีการหลังจากนั้นคือ สะสมไมล์ชมภาพยนตร์ให้ได้มากที่สุด เพื่อรับส่วนลดซื้อตั๋วตามลำดับขั้นของสมาชิก

 

ส่วนเมเจอร์มีโครงสร้างและลูกเล่นที่หลากหลายกว่า ประเภทของบัตรถูกแบ่งตามอายุและพฤติกรรมความสนใจที่แตกต่างกัน มีตัวเลือกให้เลือกเพิ่ม ทั้งตัวบัตรสำหรับผู้ที่ชอบชมภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ หรือบัตรเครดิตที่ผูกกับ AEON และพิเศษคือ สมาชิกทุกคนการันตีส่วนลดซื้อบัตรชมภาพยนตร์ทันที

 

หลังจากนั้นจำนวนที่นั่งที่ดูในรอบปีจะเป็นตัวชี้วัดลำดับขั้นของสมาชิกแต่ละราย ซึ่งก็มีสิทธิพิเศษแยกย่อยออกไปอีก และยังสะสมคะแนนตามยอดการใช้งาน เพื่อแลกรับของรางวัลได้อีกต่อ ทำให้ M Generation ดูน่าสนใจกว่าเล็กน้อย

 

ข้อเสียของบัตรสมาชิกทั้ง 2 ค่าย คือ บัตรมีอายุแค่ 1 ปี และการต่ออายุก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเท่าค่าสมัคร แม้เมเจอร์จะเปิดให้สมาชิกระดับ First Class ต่ออายุฟรีทันที 1 ปีได้ แต่การจะเป็นสมาชิกระดับนั้นได้ ก็ต้องชมภาพยนตร์ 60 ที่นั่งภายใน 1 ปี เฉลี่ยแล้วทุกเดือนจะต้องดูภาพยนตร์อย่างน้อย 5 เรื่องกันเลยทีเดียว

 

ขณะที่กลยุทธ์หลักในปีนี้ของเมเจอร์คือ ให้ความสำคัญกับผู้ชมกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก ต้นปีที่ผ่านมาจึงเริ่มแคมเปญ ‘M Pass’ บัตรชมภาพยนตร์แบบบุฟเฟต์สำหรับนักเรียน-นักศึกษา จ่ายแค่ 200 บาทต่อเดือน ก็สามารถดูภาพยนตร์ได้ไม่อั้นทั้งเดือน

 

ในแง่ของประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ เมเจอร์คือตัวแทนเพียงรายเดียวในไทยที่มีระบบฉายแบบไอแมกซ์ นอกจากนี้พวกเขาก็ยังเพิ่ม ‘ทางเลือก’ ที่หลากหลายของการรับชมภาพยนตร์ในโรงผ่านประสบการณ์ที่ไม่จำเจ เช่น

 

  • โรงภาพยนตร์สำหรับเด็ก (Kid Cinema) เน้นจับผู้บริโภคกลุ่มครอบครัว ตอบโจทย์พ่อแม่ที่ไม่สามารถพาบุตรหลานเข้าโรงภาพยนตร์ทั่วไปได้ เปิดตัวให้บริการ 2 สาขา คือ เมกา ซีนีเพล็กซ์ และเวสต์เกต ซีนีเพล็กซ์ และเตรียมเปิดให้บริการในอีสต์วิลล์ ซีนีเพล็กซ์ และพรอมานาด ซีนีเพล็กซ์ ส่วนสาขาอื่นๆ มีฉายเป็นรอบ
  • โรงภาพยนตร์ตามใจคุณ (Movie on Demand) นำภาพยนตร์ที่คนอยากดูกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง เลือกจากเรื่องที่ได้คะแนนโหวตสูงสุด ปัจจุบันฉายไปแล้วประมาณ 20 รอบ และมีการจัดกิจกรรมดูภาพยนตร์มาราธอนของภาพยนตร์ภาคต่อด้วย
  • โรงภาพยนตร์แบบ VR (IMAX VR AIS) เกิดขึ้นจากกระแสความนิยมของเทคโนโลยี VR ทั่วโลก โดยปัจจุบันเมเจอร์เป็น 1 ใน 7 โรงภาพยนตร์ทั่วโลกเท่านั้นที่มีการฉายระบบนี้ (ในเอเชียมีแค่เมเจอร์ประเทศไทยและจีน) และยังนับเป็นครั้งแรกที่ไอแมกซ์นำ VR มาผสมผสานเข้ากับการฉาย

 

 

สาโรจน์ อนันต์สิทธิโชค ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่าสิ่งที่เมเจอร์ทำคือ การพยายามสร้างความบันเทิงผสมผสานไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ๆ และพยายามหาประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ต่างออกไปมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมให้ได้ครบทุกมุม

ส่วนอีกความพิเศษของเมเจอร์คือ การขยายกิจการไปยังโรงภาพยนตร์ในต่างแดน ทั้งในประเทศกัมพูชาและลาวในนามบริษัท เมเจอร์ โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ผ่านการร่วมทุนกับบริษัท แพลตินั่ม ซีนีเพล็กซ์ จํากัด ซึ่งสาโรจน์บอกว่า ผลตอบรับที่กัมพูชาค่อนข้างดีมาก ส่วนลาวอาจจะยังถือว่ากลางๆ ไม่หวือหวามากนัก

 

ภาพ: www.facebook.com/MajorGroup

 

ทิศทางในอนาคต และการขยายอาณาจักรโรงฉายภาพยนตร์

เมเจอร์ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสาขาโรงภาพยนตร์ใหม่ๆ ให้ได้อย่างน้อยปีละประมาณ 50-80 โรง โดยสาขาต่างจังหวัดจะเน้นเกาะไปกับกลุ่มห้างสรรพสินค้าอย่างบิ๊กซีและโลตัส ส่วนสแตนด์อโลนไม่มีความจำเป็นต้องเปิดเพิ่ม เพราะพอใจกับพื้นที่ในครอบครอง ณ ปัจจุบันแล้ว

 

“ทิศทางต่อจากนี้ เมเจอร์คือการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการรับชมภาพยนตร์ เทคโนโลยีอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ในโลก เราก็พยายามจะเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกๆ ที่มีเทคโนโลยีเหล่านั้นให้ได้ ส่วนเป้าหมายที่เราวางไว้ในปี 2020 คือเพิ่มจอฉายให้ได้ประมาณ 1,000 จอรวมทุกสาขา (ปัจจุบันมีจอฉายอยู่ประมาณ 710 จอขึ้นไป)”

 

อีกหนึ่ง Key Success ของเมเจอร์ ที่จะถูกให้ความสำคัญมากขึ้นในปีนี้คือ การจับมือกับแบรนด์ต่างๆ ในทุกแวดวงอุตสาหกรรม เพื่อทำการตลาดแบบพาร์ตเนอร์ชิป แชร์ลูกค้าของกันและกัน

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ โรงภาพยนตร์ในพารากอนทั้งหมด 16 โรง ที่ปัจจุบันมีแบรนด์เป็นสปอนเซอร์หลักสนับสนุนครบทุกโรงแล้ว ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส บลูริบบอน สกรีนส์, โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย โดยกรุงเทพดุสิตเวชการ, ทรูโฟร์ดีเอ็กซ์,​ ซัมซุง แอลอีดี ซีนีม่า, กรุงไทย ดิจิตอล ซีนีม่า, จีเอสบี อินฟินิท อินิกมา, กรุงศรี ไอแมกซ์ เธียเตอร์ และเอไอเอส ไอแมกซ์ วีอาร์

 

ผมมองว่า กลยุทธ์นี้เป็นหนึ่งใน Key Success ลำดับต้นๆ เพราะเป็นการแชร์ลูกค้าระหว่างแบรนด์ ปีนี้เราจะเน้นการทำพาร์ตเนอร์ผูกแบรนด์กับโรงภาพยนตร์มากขึ้น เราจะเปิดให้แบรนด์สินค้าในทุกๆ ธุรกิจมาทำการตลาดร่วมกับโรงภาพยนตร์ของเรา เพราะวันนี้สายการบิน โรงพยาบาล หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์ก็มีโมเดลความร่วมมือกับเมเจอร์เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ให้หลากหลายมากขึ้น และจะพยายามใช้ประโยชน์จากทุกพื้นที่ในโรงภาพยนตร์ให้เกิดประสิทธิภาพต่อตัวลูกค้าและพาร์ทเนอร์มากที่สุด” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ทิ้งท้ายกับ THE STANDARD

 

ภาพ: www.sfcinemacity.com

 

ฝั่งเอส เอฟ เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ในครึ่งปีหลังนี้จะเปิดโรงภาพยนตร์เพิ่มอีก 5 สาขา ได้แก่ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ชลบุรี, บิ๊กซี สระแก้ว, บิ๊กซี สมุทรสงคราม, บิ๊กซี เพชรเกษม และเทอร์มินอล 21 พัทยา โดยจะใช้งบลงทุนรวมประมาณ 400-500 ล้านบาท

 

เพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนมากขึ้น THE STANDARD ได้ติดต่อไปยังเอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเด็นกลยุทธ์และทิศทางต่อจากนี้ของบริษัท แต่ได้รับคำตอบว่า ยังไม่พร้อมให้ข้อมูล

 

จากข้อมูลผลประกอบการ จำนวนสาขา และกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ทั้งหมดเราสามารถถอดบทเรียนของศึกสู้รบระหว่าง 2 ค่ายผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของไทยออกเป็น 2 ข้อใหญ่ๆ

 

ข้อแรกคือ กลยุทธ์การตลาดของเมเจอร์ที่สามารถ ‘เปลือย’ พฤติกรรมคนดูภาพยนตร์ได้ละเอียดและหมดเปลือก แล้ววิเคราะห์ว่าอะไรคือจุดแข็งของตัวเอง สิ่งไหนคือความต้องการของผู้บริโภค วิธีไหนที่ใช้ต่อยอดมูลค่าพื้นที่ในโรงภาพยนตร์ได้ดีที่สุด ก่อนจับทั้งหมดมาผสมผสานให้เกิดเกมการตลาดที่ทรงประสิทธิภาพ แถมยังเติบโตได้เร็ว เพราะจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนมานานกว่า 16 ปีเต็ม

 

ข้อถัดมา แม้เอส เอฟจะมีสาขาน้อยกว่าชัดเจน เริ่มเดินแผนการตลาดบางอย่างช้ากว่า แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นฝ่ายตามหลังคู่แข่งเสมอไป เพราะสามารถควบคุมพื้นที่ในทำเลเงินทำเลทอง ไล่เบียดอีกฝ่ายได้สูสี ซึ่งเราคงจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชัดเจนในช่วงปี 2562 ที่จะถึงนี้แน่นอน

 

หลายคนอาจจะเห็นตรงกันว่า ศึกแย่งคนดูภาพยนตร์ครั้งนี้มีผู้เล่นรายหนึ่งที่ได้เปรียบ ‘เหนือ’ ผู้เล่นอีกรายพอสมควร แต่ THE STANDARD เชื่อว่า ยังเร็วไปที่จะด่วนตัดสินว่าใครชนะ ใครแพ้

 

คงต้องตามดูกันยาวๆ เพราะสงครามที่สู้รบกันดุเดือดชนิดที่ไม่มีใครยอมใครเช่นนี้ ฉากจบของมหากาพย์โรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่คงไม่จบง่ายๆ

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx.

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X