เกมฟุตบอลนัดกระชับมิตรซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนถึงศึกฟุตบอลโลก 2022 ที่จะเริ่มในอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้า ระหว่างทีมชาติอิหร่านและทีมชาติเซเนกัล กลายเป็นเกมที่ถูกจับตามองทันที
ไม่ใช่ในเชิงคุณค่าของเกมลูกหนัง แต่เป็นเชิงการเมืองที่เกมฟุตบอลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์การต่อสู้ครั้งใหญ่ภายในประเทศอิหร่าน
ตลอด 11 วันที่ผ่านมา สถานการณ์ภายในประเทศอิหร่านเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 เมื่อประชาชนเกิดลุกฮือขึ้นเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลจากเหตุการณ์การเสียชีวิตอย่างน่ากังขาของ มาห์ซา อามินี หญิงสาวชาวเคิร์ดวัยเพียง 22 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อามินีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศีลธรรม (Morality Police) จับกุมเนื่องจากละเมิดกฎหมายการสวมฮิญาบคลุมเส้นผมในที่สาธารณะ ก่อนที่จะนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างน่าสงสัย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งไม่ใช่แค่ครอบครัวของหญิงสาวที่ไม่เชื่อในการชี้แจงนี้ สังคมชาวอิหร่านเองก็ไม่เชื่อเช่นเดียวกัน
การลุกฮือเพื่อต่อสู้จึงเกิดขึ้นโดยสตรีชาวอิหร่านจำนวนมากได้เผาฮิญาบ ตัดผมประท้วง และทำทุกอย่างที่กฎหมายห้ามมิให้สตรีชาวอิหร่านทำ ซึ่งรวมถึงการเต้นและร้องรำทำเพลงในที่สาธารณะ
แต่ไม่ใช่เฉพาะสตรีชาวอิหร่านเท่านั้นที่ลุกขึ้นต่อสู้ เพราะบุรุษชาวอิหร่านเองก็มิอาจยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นความชอบธรรมได้เช่นกัน
หนึ่งในกลุ่มคนที่ขอลุกขึ้นสู้ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวอิหร่านด้วยคือนักฟุตบอลทีมชาติชาย
โดยในเกมอุ่นเครื่องกับเซเนกัล ที่สนามมาเรียเอนเซอร์ดอร์ฟ นอกกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นักเตะทีมชาติอิหร่านพร้อมใจกันสวมเสื้อแจ็กเก็ตสีดำเพื่อปกปิดตราสัญลักษณ์ทีมชาติในระหว่างการร้องเพลงชาติก่อนเกม
พวกเขาทำเพื่อเป็นการประท้วงต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสตรีชาวอิหร่าน และเป็นการยกระดับท่าทีของการต่อสู้ หลังจากที่ได้มีความเคลื่อนไหวในเกมอุ่นเครื่องนัดที่แล้วที่สนามแห่งนี้เช่นกัน
โดยย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทีมชาติอิหร่านลงสนามพบกับทีมชาติอุรุกวัยที่มาเป็นคู่ซ้อมให้ก่อนถึงศึกฟุตบอลโลก แต่จากสถานการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศ ทำให้สมาคมฟุตบอลอิหร่านในฐานะเจ้าภาพการแข่งขันตัดสินใจที่จะให้เกมนี้แข่งโดยไม่มีผู้ชมในสนาม เพื่อหวังควบคุมไม่ให้เห็นถึงการต่อต้านรัฐบาล
ผู้ประท้วงหน้าสนามก่อนเกมอิหร่านพบเซเนกัล
แต่สมาคมฟุตบอลเองก็ไม่สามารถควบคุมนักเตะได้เช่นกัน แม้ว่าจะพยายามใช้อำนาจที่มีในการป้องปรามแล้วก็ตาม
โซเบียร์ นิกนาฟส์ จากสโมสรเอสเตกฮลัล ในนครหลวงเตหะราน แสดงออกถึงจุดยืนร่วมกับสตรีชาวอิหร่านด้วยการโกนผมตัวเองเพื่อเป็นการประท้วง
อาลี คาริมี อดีตนักเตะบาเยิร์น มิวนิก หนึ่งในนักเตะผู้ทรงอิทธิพลของประเทศ โพสต์ข้อความว่า “ผมไม่ได้จะโพสต์ในทางการเมืองหรือมองหาอำนาจ ผมแค่อยากเห็นความสงบสุข ความเป็นอยู่ที่สุขสบายของพี่น้องชาวอิหร่านทั่วทุกพื้นที่ในประเทศอันยิ่งใหญ่ของเรา”
ปัญหาคือในโพสต์ของคาริมี มีภาพที่สนับสนุนการประท้วงและต่อต้านฝ่ายปกครอง และเปิดเผยถึงการใช้ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อประชาชนที่มาประท้วง ซึ่งแม้จะมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นบน Instagram ถึง 2 ล้านคนในเวลาแค่ไม่กี่วัน แต่การโพสต์ครั้งนี้ทำให้คาริมีไม่สามารถอยู่บนแผ่นดินอิหร่านได้อีกต่อไป
มีรายงานว่าคาริมีได้ลี้ภัยออกนอกประเทศแล้ว
ในแคมป์ทีมชาติที่ปกติแล้วจะมีการควบคุมทุกอย่าง แต่ครั้งนี้เกินต้าน ซาร์ดาร์ อัซมูน สตาร์กองหน้าจากทีมไบเออร์ เลเวอร์คูเซน และ ซาอีด เอซาโตลาฮี กองกลางจากทีมเวเจิล บีเค โพสต์ข้อความโจมตีการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบนโซเชียลมีเดีย ก่อนจะมีการลบข้อความในเวลาต่อมา
ปฏิกิริยาของนักเตะภายในทีมนั้นทางด้าน คาร์ลอส เคยรอซ โค้ชผู้มากประสบการณ์ พยายามที่จะควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามและเกินเลยไปจากเรื่องของเกมฟุตบอล แม้ว่าจะถูกตั้งคำถามที่ยากจะตอบได้จากบรรดาเหยี่ยวข่าวที่ตามจิกไม่ปล่อยก็ตาม
โดยในขณะที่ทางสมาคมฟุตบอลอิหร่านได้พยายามแบนนักข่าวอิหร่าน และผู้สื่อข่าวต่างชาติหลายคนในการติดตามทำข่าว แต่ทางด้านเคยรอซยังยืนยันที่จะแถลงข่าวตามหน้าที่ ทำให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันและแหลมคมเป็นอย่างยิ่ง
สมาคมฟุตบอลอิหร่านซึ่งถูกแรงกดดันอย่างหนักจากนักข่าวและสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ให้คืนบัตรนักข่าว และให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ของตัวเองในช่วงก่อนหน้านี้ ยังมีคำสั่งยกเลิกการแถลงข่าวหลังจบเกมที่อิหร่านเอาชนะอุรุกวัยได้ 1-0 รวมถึงไม่ให้นักฟุตบอลให้สัมภาษณ์ที่ Mixed Zone
ในสนามที่ห้ามไม่ให้มีแฟนบอลเข้าชมในทีแรก ทางฝ่ายจัดการแข่งขันได้ยอมให้ผู้ชมขาประจำบางส่วนนอกเหนือจากแขกวีไอพีและแขกที่ได้รับเชิญเข้ามาในสนาม และเกิดสิ่งที่คาดเดาได้คือผู้ชมชูป้ายประท้วงเพื่อมาห์ซา อามินี จนต้องมีการเชิญให้ออกจากสนาม
Sardar Azmoun, who plays for @bayer04_en & is now in Austria with Iran’s national team for a friendly match against Senegal, says he couldn’t remain silent despite the team’s rules.
“I don’t care if I’m sacked. Shame on you for killing people so easily. Viva Iranian women.” pic.twitter.com/z3c0Et699g— Iran International English (@IranIntl_En) September 25, 2022
ความพยายามในการปิดกั้นทุกอย่างมาถึงจุดที่ทางด้านนักฟุตบอลทีมชาติอิหร่านอย่างอัซมูนเลือกที่จะไม่สนใจอะไรอีกแล้ว “เพราะมีกฎหมายที่บังคับใช้กับพวกเราในทีมชาติ แต่ผมไม่ทนอีกแล้ว! ผมไม่กังวลแล้วว่าจะโดนดรอปหรือเปล่า อย่างแย่ที่สุดผมก็ถูกตัดออกจากทีมชาติ แต่ไม่มีปัญหา ผมพร้อมจะเสียสละมันเพื่อแลกกับเส้นผมเส้นเดียวบนศีรษะของสตรีชาวอิหร่าน”
เสียงของอัซมูนถูกสะท้อนผ่านนักฟุตบอลทีมชาติอิหร่านอีกหลายคนที่ร่วมเปลี่ยนรูปโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดียให้เป็นภาพสีดำ เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนร่วมกับผู้ประท้วง
การแสดงออกของอัซมูนนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการที่เขาจะสูญเสียตำแหน่งในทีมชาติและอาจจะไม่ได้ไปฟุตบอลโลก แต่มันมาถึงจุดที่นักเตะเองก็ไม่อาจปิดปาก ปิดตา ปิดหู และปิดใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป
และนั่นนำไปสู่การสวมแจ็กเก็ตสีดำในเกมกับเซเนกัล
สิ่งที่น่าสนใจคืออัซมูน ซึ่งได้โอกาสลงสนามและทำประตูได้ด้วยในเกมที่เสมอกับเซเนกัล 1-1 ได้ลบโพสต์ก่อนหน้านี้ของเขา แต่ได้โพสต์ครั้งใหม่ที่ใช้ถ้อยคำที่มีความรุนแรงน้อยกว่า
แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ง่าย แม้กระทั่งกับนักกีฬาผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ
นั่นอาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงเงาสีดำบนผืนน้ำในทะเลทราย อำนาจและความมืดยังปกคลุมอิหร่านอยู่ทุกที่ แม้กระทั่งในเกมกีฬาอย่างฟุตบอล
อ้างอิง: