×

มหาวิทยาลัยมหิดลส่งข้าวไทยขึ้นไปทดลองการเจริญเติบโตบนอวกาศกับดาวเทียม ‘สือเจี้ยน-19’ ของจีน

05.10.2024
  • LOADING...

มหาวิทยาลัยมหิดลส่งข้าวไทยร่วมเดินทางขึ้นสู่อวกาศไปกับดาวเทียม ‘สือเจี้ยน-19’ (实践-19) เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมนอกโลกและพัฒนาเทคนิคด้านการเกษตรกรรมอวกาศ

 

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 เวลา 18.30 น. จรวด Long March 2D นำส่งดาวเทียมสือเจี้ยน-19 ขึ้นจากฐานปล่อยจิ่วฉวน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน โดยเป็นภารกิจทดสอบดาวเทียมวิจัยแบบนำกลับโลกมาใช้ซ้ำได้อีกครั้ง

 

นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีการทดลองจาก 5 ประเทศที่ร่วมเดินทางไปกับดาวเทียมดวงนี้ โดยการทดลองของไทยมีชื่อว่า ‘Multi-omics analysis of Germinating Rice Seedlings Under Extreme Environmental Conditions’ นำโดย ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์และหัวหน้าห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astrobotany คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ความร่วมมือกับ GISTDA และองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA)

 

ในการทดลองของไทย มีการนำส่งตัวอย่างเมล็ดพันธุ์จำนวน 35 หลอด ขึ้นไปทดลองการเจริญเติบโตเป็นเวลาประมาณ 14 วันภายใต้สภาพแวดล้อมรุนแรงในอวกาศที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำและเผชิญกับรังสีคอสมิก โดย Space Delta 2 ของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ พบว่าดาวเทียมสือเจี้ยน-19 โคจรรอบโลกที่ความสูงระหว่าง 322 และ 339 กิโลเมตรจากพื้นดิน

 

เมื่อสิ้นสุดภารกิจ ดาวเทียมสือเจี้ยน-19 จะส่งแคปซูลที่มีการทดลองเดินทางกลับโลก โดยคณะวิจัยเตรียมนำตัวอย่างที่ได้กลับมาวิเคราะห์ผลการทดลองด้วยเทคนิค Multi-omics เพื่อศึกษาพันธุ์ข้าวที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรง และอาจมีส่วนพัฒนาความมั่นคงด้านอาหาร การเกษตรกรรมอวกาศ รวมถึงขีดความสามารถของไทยเพื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศใหม่

 

ดร.ทัฏพงศ์ ระบุว่า “ภารกิจนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย CNSA เป็นฝ่ายสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการส่งชุดการทดลองไปดำเนินการในอวกาศ คิดเป็นมูลค่าโดยประมาณ 6,000,000 บาท”

 

ความสำเร็จในการขึ้นบินของดาวเทียมสือเจี้ยน-19 ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่ดำเนินการวิจัยด้านสิ่งมีชีวิตในอวกาศได้สำเร็จ นับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างไทย-จีน และเป็นโครงการแรกหลังจากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ หรือ ILRS ภายใต้การนำของจีนและรัสเซีย

 

ก่อนหน้านี้ คณะวิจัยของ ดร.ทัฏพงศ์ ได้นำไข่น้ำ หรือ Watermeal พืชดอกขนาดเล็กที่สุดในโลก ไปศึกษาการตอบสนองภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงสูง ณ ศูนย์วิจัยขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) โดยเป็นความร่วมมือครั้งแรกของ ESA กับหน่วยงานวิจัยนอกเครือข่ายและสหภาพยุโรป สามารถอ่านบทสัมภาษณ์ได้ที่ลิงก์: https://thestandard.co/watermeal-hypergravity/

 

ภาพ: GISTDA / Mahidol University

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising