×

โพลวันมาฆบูชาเผย เด็กไทยทั่วประเทศน้อมนำคำสอน ทำดี มีสติ ถือศีลห้า

โดย THE STANDARD TEAM
23.02.2024
  • LOADING...

วันนี้ (23 กุมภาพันธ์) เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มีต่อวันมาฆบูชา ปี 2567 จากกลุ่มตัวอย่างเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศจำนวน 21,094 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาค

 

เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.82 ทราบว่าวันมาฆบูชาปีนี้ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 และคิดว่าวันมาฆบูชามีความสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน 3 ร้อยละ 64.76

 

อันดับ 2 เป็นวันที่พระสงฆ์ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้นมาชุมนุมพร้อมกันจำนวน 1,250 รูป โดยมิได้นัดหมาย ร้อยละ 62.79

 

อันดับ 3 มีการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา คือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ร้อยละ 51.55

 

อันดับ 4 พระสงฆ์ที่มาประชุมล้วนเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการอุปสมบทโดยพระพุทธเจ้า เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา ร้อยละ 43.90

 

อันดับ 5 มีเหตุอัศจรรย์พร้อมกัน 4 ประการ เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต ร้อยละ 37.45

 

นอกจากนี้ ปีนี้เด็ก เยาวชน และประชาชนกว่าร้อยละ 58.77 สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันมาฆบูชา รองลงมาคือร้อยละ 34.10 ไม่แน่ใจแล้วแต่โอกาส และร้อยละ 7.13 ไม่สนใจเข้าร่วมงาน เนื่องจากนับถือศาสนาอื่น อยากพักผ่อน โดยพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้อง พาลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรมวันมาฆบูชา คือวิธีหรือสิ่งที่จูงใจหรือเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชามากขึ้น ร้อยละ 69.52 เป็นอันดับ 1 ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่าครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของสังคม หากครอบครัวเข้มแข็ง สังคมก็จะเข้มแข็งไปด้วย

 

อันดับ 2 เปิดแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมหรือเรียนรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยีออนไลน์ ร้อยละ 46.51

 

อันดับ 3 ผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมผ่านโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 45.12

 

เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่เข้าร่วมระลึกถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชา เนื่องจากต้องการไปทำกิจกรรม 5 อันดับแรก คืออันดับ 1 ทำบุญ ทำทาน ร้อยละ 53.49 อันดับ 2 ตักบาตรพระสงฆ์ ร้อยละ 51.60 อันดับ 3 ลด ละ เลิก อบายมุข ร้อยละ 41.84 อันดับ 4 เวียนเทียน ร้อยละ 39.58 และอันดับ 5 ถวายสังฆทาน ร้อยละ 30.76

 

ในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชนจะนำหลักคำสอนข้อใดมายึดถือปฏิบัติและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน 5 อันดับแรกคือ อันดับ 1 สติ ความรู้สึกตัว ความระลึกได้ ความรับรู้ การเอาจิตไปรับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือปรากฏขึ้นในปัจจุบัน ร้อยละ 64.30 อันดับ 2 ศีล 5 ศีลพื้นฐานที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ชาวพุทธทุกคนยึดถือปฏิบัติเป็นหลักของชีวิต ร้อยละ 46.71 อันดับ 3 หลักการ 3 ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ร้อยละ 46.30 อันดับ 4 พรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ร้อยละ 34.59 และอันดับ 5 มัชฌิมาปฏิปทา ยึดมั่นในทางสายกลาง ร้อยละ 34.48

 

เสริมศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ผลสำรวจครั้งนี้ได้สอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชน คิดว่าภาครัฐควรส่งเสริมกิจกรรมใดเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามมีข้อเสนอแนะให้จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตร ฟังธรรม เวียนเทียน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งรณรงค์ให้ลด ละ เลิก อบายมุข โดยนำศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง บุคคลที่มีชื่อเสียง มาร่วมรณรงค์ เชิญชวน ผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ใช้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนาผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ เกม การ์ตูน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เพราะในปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์มีอิทธิพลในชีวิตประจำวันอย่างมาก จัดกิจกรรมค่ายคุณธรรมจริยธรรม เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชน มีคุณธรรมมากขึ้น กิจกรรมท่องเที่ยวในเส้นทางสายบุญ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้สู่ภาคการท่องเที่ยวไทยมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงวัฒนธรรมจะนำความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาในการจัดกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในปีต่อไป เพื่อให้การจัดกิจกรรมมีความน่าสนใจ ส่งเสริมการเรียนรู้พระพุทธศาสนาและการท่องเที่ยวเชิงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชนและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising