วานนี้ (27 มีนาคม) ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ชาวอำเภอแม่สาย และเครือข่ายภาคธุรกิจอำเภอแม่สาย ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่อย่างเป็นระบบทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว หลังจากที่ต้องเผชิญปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ติดต่อกันหลายวันและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชน รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยมี ณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย เป็นผู้รับเรื่อง
ด้าน เศวตยนต์ ศรีสมุทร รองประธานหอการค้า จังหวัดเชียงราย เป็นตัวแทนยื่นหนังสือเรียกร้อง เนื้อหาระบุว่า ขอให้ภาครัฐทั้งจังหวัดเชียงรายและอำเภอแม่สายเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยมีข้อเสนอข้อเรียกร้อง 2 ระยะคือ ระยะเร่งด่วนสำหรับภาวะวิกฤต ประกอบด้วย
- ให้ภาครัฐประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินทันที เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นควัน PM2.5 เช่น หน้ากากอนามัย ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องฟอกอากาศ สำหรับประชาชนอย่างเร่งด่วน
- ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งหารือการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อประชาชนจากการทำการเกษตรกับรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ให้จังหวัดเชียงรายแจ้งประสานประเทศเพื่อนบ้านให้ลดหรืองดการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่ทางการเกษตรในช่วงสถานการณ์คุณภาพอากาศย่ำแย่ โดยยึดตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ซึ่งสมาชิกอาเซียนทุกประเทศได้มีการลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2002
- ให้มีการเฝ้าระวังและการป้องปรามการลักลอบเผาป่าในเขตชายแดนของประเทศอย่างรัดกุม และสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมืออย่างเพียงพอให้แก่กลุ่มเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่า
ส่วนระยะยาว เพื่อการแก้ไขอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
- ให้รัฐบาลกำหนดเกณฑ์ค่ามาตรฐานของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินให้ชัดเจน
- ให้จังหวัดเชียงรายและอำเภอแม่สายจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ผลกระทบจากปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ที่เป็นรูปธรรม และแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของภาคส่วนต่างๆ ในอนาคต
- ให้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ศึกษาผลกระทบการนำเข้าเสรี (AFTA) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเผาป่าและปัญหาหมอกควันจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร และให้พิจารณายกเลิกอัตราการเก็บภาษีการนำข้าวโพดนำเข้าร้อยละ 0
- ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิญผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เจรจาหารือหาทางแก้ปัญหาการเผาข้าวโพดและผลกระทบต่างๆ จากการทำการเกษตร ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน
- ให้รัฐบาลยกระดับการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เป็นปัญหาในระดับภูมิภาคอาเซียน+1 เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกับชาติสมาชิกอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน