×

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ แนะแนวทาง ‘ปลูกป่า-ปลูกคน’ ทางออกช่วยไทยบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส

โดย THE STANDARD TEAM
19.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (19 กันยายน) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมภาคี ร่วมจัดเสวนาชี้ทางรอดจากหายนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเวทีเสวนา Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024 หัวข้อ ‘ปลูกป่า ปลูกคน: ทางเลือก ทางรอด’ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หัวใจของความสำเร็จที่ประเทศไทยจะบรรลุตามข้อตกลงประกอบด้วยการใช้กระบวนการทางธรรมชาติ (Nature-based Solution) และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนมาจากการปลูกป่าบนดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ดำเนินมาครบ 36 ปี

 

“การมีป่าเพียงอย่างเดียวกำลังจะไม่เพียงพอ เพราะโลกกำลังต้องการป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และนอกจากนั้นป่ากับความหลากหลายจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งก็คือชุมชน ดังนั้นในการเดินไปสู่เป้าหมายของประเทศจะต้องมีทั้งสองปัจจัยนี้ และจะแยกจากกันไม่ได้”

 

ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ปลูกป่าบนดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่า 10,000 คน และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกว่า 419,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ภาคีต่างๆ ในระยะยาว

 

นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากกรมป่าไม้ และภาคีภาครัฐและเอกชน 25 องค์กร ที่ร่วมกับ 281 ชุมชน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนกว่า 258,186 ไร่ โดยมีเป้าหมายขยายโครงการไปยังป่าชุมชน 1 ล้านไร่ ภายในปี 2570 จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ในปัจจุบัน

 

“ในช่วงไฟป่าที่ผ่านมา คนไทยพากันหวาดกลัว PM2.5 แต่เราพบว่าไฟป่าในป่าชุมชนที่ร่วมงานกันลดลงจากเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% จึงพิสูจน์แล้วว่าชุมชนเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม สอดคล้องกับพระบรมราโชบาย ปลูกป่า ปลูกคน นี่จึงทำให้เห็นว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดี ตั้งแต่แก้ปัญหาหมอกควัน เพิ่มพื้นที่ป่า สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และเอกชนได้รับคาร์บอนเครดิต”

 

ในขณะที่การแสวงหาคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ม.ล.ดิศปนัดดา ยังตั้งข้อสังเกตว่า ประชาคมโลกกำลังจัดมาตรฐานคาร์บอนเครดิตกันใหม่ โดยมีแนวโน้มการพัฒนาคาร์บอนเครดิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า

 

ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘นโยบายและแนวทางการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ’ ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญและรับมือกับปัญหาที่ตามมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ 

 

ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส จะต้องดำเนินการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อนำไปสู่การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก 

 

รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี 2065 รวมทั้งเป้าหมายการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

นอกจากนี้ประเทศไทยได้รับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM-GBF) เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การบรรลุพันธกิจปี 2030 (2030 Mission) และวิสัยทัศน์ปี 2050 ให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์

 

ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ ดังนี้ 

 

  • เป้าประสงค์ A เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทุกระบบนิเวศ 
  • เป้าประสงค์ B ดำรงรักษาหรือเพิ่มพูนประโยชน์ที่ได้รับจากธรรมชาติ 
  • เป้าประสงค์ C แบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม 
  • เป้าประสงค์ D แก้ปัญหาช่องว่างทางการเงินและแนวทางดำเนินงานอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ปี 2050

 

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อวางกรอบกฎหมาย กลไก และเครื่องมือในภาคบังคับและส่งเสริมที่จำเป็นและเหมาะสมกับการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน 

 

สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP29) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2024 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการผลักดันการยกระดับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0) ซึ่งมีกำหนดจัดส่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 

 

ดร.พิรุณ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของโลกใบนี้ จึงต้องช่วยกันดูแล และส่งต่อโลกที่ดีและยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป”

 

ทั้งนี้ ภายในงานยังพูดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ควบคู่กับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนภายใต้โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ผลพลอยได้เป็นคาร์บอนเครดิตที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน และการเสวนาหัวข้อ ‘ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ: จากทางเลือกสู่ทางรอด’ โดยตัวแทนภาคเอกชนมาแบ่งปันวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน และกลยุทธ์ที่ปฏิบัติได้จริง 

 

นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังพร้อมนำองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนไปเสริมทัพกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรเอกชน เพื่อนำกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กรไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และการจัดงานครั้งนี้ยังได้รับตรารับรอง Net Zero Event งานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X