×

หยาดเหงื่อ เวลา ค่าตอบแทน คุยกับ มะเดี่ยว ชูเกียรติ เพื่อขยายภาพ ‘การมีชีวิตอยู่’ ของคนบนโลกโปรดักชัน

08.02.2023
  • LOADING...
มะเดี่ยว ชูเกียรติ

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • มะเดี่ยวเล่าว่าหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรงของทีมงานกองถ่าย คือการผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมแรงงานในวงการโปรดักชันให้เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถช่วยปกป้องทีมงานกองถ่ายให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม และได้รับค่าแรงอย่างสมน้ำสมเนื้อ 
  • มะเดี่ยวคิดว่าปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในวงการโปรดักชันคงจะไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที แต่หากทีมงานทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ทีมงาน รวมถึงรัฐ มานั่งพูดคุยกันเพื่อช่วยกันหาทางออกและช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครอง ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น  
  • เมื่อถามถึงสิ่งที่มะเดี่ยวอยากจะกล่าวกับทีมงานกองถ่ายในปัจจุบัน มะเดี่ยวได้กล่าวให้กำลังใจทีมงานทุกคนที่รักในวงการโปรดักชันและยังคงตั้งใจทำงานอยู่ พร้อมเชิญชวนให้ทีมงานกองถ่ายออกมาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่สนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกันด้วยเหตุและผล เพื่อช่วยกันผลักดันให้วงการนี้เติบโตไปในทางที่ดีขึ้น 

จากจุดเริ่มต้นของมุกประชาสัมพันธ์ค่าตัวนักแสดงในภาพยนตร์ ส่งผลให้ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่วันนี้เป็นทั้งโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์และซีรีส์ ที่เติบโตอยู่ในวงการมายาวนาน ผ่านผลงานกำกับ เช่น คน ผี ปีศาจ, 13 เกมสยอง, รักแห่งสยาม ฯลฯ ต้องออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างภายในระบบกองถ่าย 

 

THE STANDARD POP ชวนมะเดี่ยวพูดคุยถึงประเด็นที่เกิดขึ้นกับคนทำงานเบื้องหลังอีกครั้งอย่างลึกขึ้น เพื่อหวังว่าประสบการณ์ตรงที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงจะเป็นแว่นขยายให้ ‘บางสิ่งบางอย่าง’ ถูกมองเห็น สะกิดใจ ไปจนถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ขึ้นในอนาคต 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ต้นทุน เวลา คุณค่าของคนทำงาน ‘สเตตัสในวันนั้น’ เพื่อสะท้อนความเป็นจริงเบื้องหลังกองถ่าย 

 

นักแสดงเป็นตำแหน่งที่อยู่เบื้องหน้า เป็นจุดขายที่ได้รับความสำคัญอันดับต้น จนนายทุนมองว่าสามารถดึงดูดกลุ่มผู้รับชมมาได้ ขณะที่คนฝ่ายโปรดักชันต้องเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบาก มะเดี่ยวจึงอยากสร้างบทสนทนาเชิงวิพากษ์ที่คนกองจะรู้สึกภาคภูมิใจกับการดูแลคนทำงานด้วยกันให้มีชีวิตที่ดีขึ้น 

 

 

“สายงานนี้มันคล้ายๆ กับการสร้างบ้านนี่แหละ แต่ว่าสิ่งที่เราทำมันคือเหตุการณ์ มันคือโลกจำลอง มันไม่ได้เป็นวัตถุสิ่งของ ถ้าถามว่าลงทุนพอๆ กันไหม ใช่ เราลงทุนเยอะกว่าอีกในบางครั้ง”

 

มะเดี่ยวมองว่าคนทำงานฝ่ายโปรดักชันนั้นถูกเหลียวแลเพียงน้อยนิด หลายคนทำงานเกินขอบเขตที่กำหนดไว้จนล่วงเลยตาราง แลกมากับความเสี่ยงทางสุขภาพและจิตใจ รวมถึงความเสียหายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงานค่อนข้างมาก

 

ยังไม่นับถึงแง่มุมการรองรับอภิสิทธิ์ ‘ดารา’ และผู้ติดตามส่วนตัว กลุ่มคนที่อยู่เหนือห่วงโซ่ในวงการนี้ ทีมงานหลายคนต้องคอยรองรับอารมณ์หรือความต้องการของพวกเขาอยู่เสมอ ซึ่งจุดนี้มะเดี่ยวรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ทำงานหนักอยู่แล้ว เขาเล่าถึงแม้กระทั่งการออกกองเกินกำหนดจนผ่านพ้น 24 ชั่วโมง จากการที่คิวนักแสดงไม่เอื้ออำนวยเพราะอีกฝ่ายไปรับคิวอื่นมาแทนที่ ขณะที่ทีมงานบางคนต้องร่วมกระโจนการทำงานแสนเหนื่อยล้านี้ หากแต่ไม่ได้รับแม้กระทั่งค่า OT 

 

ภาพ: Chookiat Sakveerakul / Facebook

 

“คนทำงานกองไม่ได้มาบอกว่า กูอยากได้ค่าตัวเท่าดารา อะไรเลยนะ เพียงแต่ว่าสเกลค่าตัวคนในโปรดักชันมันโตช้า มันไม่มีสวัสดิภาพที่จะรับประกันว่าเขาจะไม่เอาอะไรมาแลกกับมัน เช่น สุขภาพหรือความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานมากชั่วโมงเกินไป”

 

เมื่อพูดถึงค่าตอบแทนของเหล่าดารา ที่ขณะนี้กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันในโลกออนไลน์ มะเดี่ยวชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ควรจะสนใจแล้ว เขามองว่าปัญหารายได้ของฝ่ายทำงานโปรดักชันนั้นเรื้อรังมานานมาก และยังคงเข้าใจได้ว่าเหล่าดาราก็มีราคาของพวกเขาที่ทางเบื้องหลังต้องจ่าย เพียงแค่ต้องมีระบบการประกันสังคมมารองรับเป็นหลักประกันให้คนทำงาน มีกฎหมายควบคุมแรงงานในวงการโปรดักชันให้เหมาะสม เอื้อให้ทุกคนได้ทำงานและรับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อกับสิ่งที่ทีมงานหลายคนได้สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นเวลาชีวิต หรือสุขภาพร่างกาย

 

การลงทุนก็เป็นอีกสิ่งในฐานะผู้กำกับที่มะเดี่ยวเล็งเห็นถึงจุดที่ควรนำไปใช้กับด้านความคิดสร้างสรรค์ โปรดักชันเสียมากกว่า เนื่องจากต้นทุนโปรดักชันส่วนใหญ่ของภาพยนตร์ไทยหรือละครหลายสิบเปอร์เซ็นต์กลับนำเอาไปลงกับค่าตัวดารา จนลืมเลือนขั้นตอนการเขียนบท ระยะเวลา คนเขียนบทระดับน้ำดี รวมถึงเรื่องเวลาถ่ายทำ งบประมาณน้อยนิดจนกระเบียดกระเสียรส่วนอื่นๆ น้ำเสียงของเขามีความเหนื่อยล้าเจือปนเล็กน้อยยามเอ่ยถึงจุดอ่อนด้านนี้

 

ภาพ: Chookiat Sakveerakul / Facebook

 

ผนวกกับมีคอมเมนต์ของผู้ใช้บัญชีรายหนึ่งในเฟซบุ๊กที่ได้แวะไปร่วมแสดงความคิดเห็นภายในโพสต์ต้นทางของมะเดี่ยวว่า “กองถ่ายคือสถานการณ์ปิดตายที่จำลองโลกของชนชั้นวรรณะได้แบบชัดเจนที่สุด” ซึ่งเรามองว่าเป็นวลีที่เสียดสีคนในวงการนี้ได้อย่างสมจริงมาก มะเดี่ยวได้ให้คำตอบกับประโยคต้นทางไว้ว่า

 

“จริงๆ มันก็เหมือนบริษัทหนึ่งแหละ มีลำดับขั้นของงานละกัน แต่บริษัทนี้มันเคลื่อนที่ไปถ่ายหนังไง ถามว่ามันเห็นได้ชัดขนาดนั้นไหม ผมว่าชัดก็ชัดแหละ อย่างที่อยู่ของผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ดารา อะไรอย่างนี้ ก็จะมีที่อยู่ในสัดส่วนของเขา

 

“เราก็ไม่รู้นะว่ากองคนอื่นเป็นยังไง แต่ว่ามันก็เคยมีการได้ยิน ไม่มีโค้ก ไม่มีน้ำหวาน ไม่มีขนมให้เอ็กซ์ตร้า อันนี้เราก็ว่ามันเกินไปหน่อย ไม่มีโต๊ะให้กินข้าว อันนี้จะเห็นค่อนข้างชัด บางทีกองไปไหนมีโต๊ะให้กินข้าวอยู่ไม่กี่โต๊ะ นอกนั้นไปนั่งกันอยู่ตามพื้นหญ้า พุ่มไม้ นั่งกลางดินกินกลางทราย คือทำกันมานานแล้ว แต่หลังๆ ก็ดีขึ้น เห็นคอมเพลนในโซเชียลมีเดียกันเยอะ 

 

“หลังๆ ผมไปกองก็เห็นว่ามีโต๊ะ พยายามนั่งๆ กันให้ได้มากที่สุด คือเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางกองปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เท่าเทียมจริงๆ อันนี้เราคิดว่ามันจะค่อยๆ หมดลงไปมั้ง ถ้าเกิดพูดกันเยอะๆ ก็จะแสดงความคิดเห็นกันและสะท้อนไปยังบรรดาผู้บริหารให้เขารู้ว่ามีการปฏิบัติกับมนุษย์แบบนี้” 

 

ภาพ: Chookiat Sakveerakul / Facebook

 

นอกจากปัญหาค่าเหนื่อยของทีมงานในกองถ่าย มะเดี่ยวยังมองว่าปัญหาในวงการนี้ค่อนข้างควบคุมผลลัพธ์ของมันได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนักแสดง หรือโปรดักชันก็ตาม การพูดถึงความเป็นธรรมในการทำงานค่อนข้างยาก เนื่องจากความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทุกอย่างส่วนใหญ่ถูกนายทุนกุมบังเหียนอยู่มากโข งานบางชิ้นจึงอาจไปไม่ถึงมือคนดู หรือแม้กระทั่งคนเขียนบทบางคนอาจจะเป็นเพชรในตม มะเดี่ยวยังคงยืนยันจุดเดิมว่าความยุติธรรมที่สำคัญที่สุด คือการกำหนดเวลาของการทำงาน และคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานที่เท่าเทียมกันในทุกๆ ฝ่าย

 

“ถ้าเขามีความมั่นคงทั้งการเงินและความเป็นอยู่ เขาก็สามารถครีเอตงานที่มันสบายใจได้ อย่างที่บอกงานที่เราทำมันต้องใช้อารมณ์ ต้องใช้บรรยากาศในการทำ ถ้าคุณกังวลว่าเดือนหน้ากูจะมีอะไรกินหรือเปล่าวะ กูเลยรับไป 4 เรื่อง แล้วก็ต้องไปวิ่งรอบสับรางกัน งานมันก็สับๆ ไม่มีคุณภาพ จริงไหมล่ะ”

 

มุมมองนี้ได้ถูกแลกเปลี่ยนจากมะเดี่ยว เมื่อเราถามถึงระบบจ้างงานที่ไม่มั่นคง ซึ่งอาจส่งผลกับการทำงานสร้างสรรค์จนออกมาไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเขาได้ตอบกลับมาว่า ตนเองโชคดีที่เจอคนที่ตั้งใจทำงานโดยตลอด ไม่เคยมีใครลดประสิทธิภาพในการทำงานของตัวเอง แต่กลับถูกใช้งาน รีดเค้นพลังของพวกเขาไปจนหมดสิ้น มะเดี่ยวย้ำกับเราอย่างหนักแน่นมากว่า สิ่งตอบแทนหยาดเหงื่อคือใจความหลักของทุกอย่าง คนจะสามารถดำรงอยู่ได้ ที่ไม่ใช่การอยู่เป็น เพราะพออยู่ได้แล้วชีวิตคนทำงานจะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

 

 

พอได้คุยกับมะเดี่ยวเรื่อยๆ เราจึงอยากรู้ถึงปัญหาชอกช้ำการทำงานหนักที่ส่งผลต่อตัวเขา มะเดี่ยวตอบว่า ยิ่งชั่วโมงการทำงานเยอะความกดดันก็ยิ่งสูง สมมติเขามีคิวถ่ายทำที่ต่างจังหวัด แล้วดารามีคิวจำกัด เขาจำเป็นต้องถ่ายซีนเหล่านั้นให้จบ จนขอบเขตการทำงานล่วงเลยเกินเวลา แทบไม่ได้นอน บางครั้งทีมงานเองก็ท้อแท้และเสียสุขภาพไป เขาบอกว่าตัวเองยังหลุดพ้นจุดนี้ไปไม่ได้จึงต้องลุกขึ้นมาพูด

 

“ประสบการณ์ตรงของการทำงานเยอะๆ อย่างแฟนเราเขาก็เสียตอนเขาอายุ 31 เป็นตากล้อง ทำกันไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ออกกองอยู่ 20 วัน ตื่นเช้า นอนเที่ยงคืน ตีห้าหกโมงลุกมาทำละ เรี่ยวแรงมันมีอะ มันไหว มันก็ได้ค่าตอบแทนที่ค่อนข้างโอเคนะ แต่เห็นไหมสิ่งที่ได้รับกลับมามันไม่คุ้ม มันไม่คุ้มเลย มันเอาทุกอย่างกลับคืนมาไม่ได้ แล้วมันก็เปลี่ยนชีวิตเราเลยนะ ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าไม่เกิดสิ่งนี้ขึ้น เราอาจจะมองโลกนี้ มองวงการนี้อีกแบบหนึ่ง”

 

ว่าด้วยการสูญเสียคนรักไปจากภาระงานอันหนักหน่วง แง่มุมด้านนี้มะเดี่ยวได้เคยพูดตามสื่อมาแล้วหลายแห่ง เขายอมรับว่าตอนนั้นคือช่วงเวลาที่ต้องกอบโกยตามวัยที่ยังมีเรี่ยวแรงและพลัง แต่ก็ต้องนำไปจ่ายให้หมอหมด จนกระทั่งมีบทเรียนให้มะเดี่ยวได้เรียนรู้ว่าบางอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย และบางทีมันแพงจนเขาซื้อคืนกลับมาไม่ได้ หรือซื้อคืนกลับมาได้ด้วย 

 

“ไม่อยากให้คนอื่นต้องเจออะไรแบบเรา ต้องเจออะไรแบบนี้เหมือนเรา ถ้ามันมีอะไรบางอย่างที่จะช่วยไม่ให้ใครต้องมาเกิดการสูญเสียแบบนี้ได้ ก็ทำให้มันเกิดขึ้นเถอะ วงการเรามันจะได้เฮลตี้กับคนที่เข้ามาแล้วก็จะรันวงการนี้กันต่อไป เพราะบางทีคนเก่งๆ คนที่เขาแบบว่ามีความสามารถ แต่เขาเจอการทำงานแบบนี้ก็ไม่ไหวไง เขาก็หนีไปทำอย่างอื่น เป็นคุณครู ไปทำยูทูบ ที่เขาควบคุมการทำงานของตัวเองได้ เขาก็ไปทำ แล้วพอมันไม่มีคนเก่งๆ มาต่อยอด ไม่ใช่ว่าคนที่ทำอยู่ไม่เก่ง แต่คนเก่งมันอาจจะตายก่อนวันอันควรก็ได้ไงใครจะรู้ 

 

“มาคุยกันว่าเราจะมีชีวิตกันอยู่ต่อไปได้อย่างสุขภาพแข็งแรงดี แล้วก็มีค่าตอบแทนที่มั่นคง แล้วก็คนรุ่นหลังๆ เขาเห็นว่าอาชีพการงานนี้มันดูไม่สิ้นหวัง มันดูไม่ใช้เขาจนเยินแล้วโยนทิ้งอะไรแบบนี้ เขาถึงจะเดินก้าวเข้ามาได้ ใครที่จะเป็นตัวกลางที่จะทำให้การพูดคุยนี้เกิดขึ้นได้ก็ยินดีนะ รอวันที่เราจะได้นั่งคุยกันแล้วหาทางออกร่วมกัน”

 

ภาพ: Chookiat Sakveerakul / Facebook

 

“เราไม่อยากให้ใครล้มหายตายจากไปก่อนเวลาอันควรจริงๆ หลังจากแฟนตายไป ทีมอาร์ตคู่ใจก็ตายตามไปอีกคน มันจึงเป็นเรื่องที่เจ็บปวด เราอยู่ในวงการนี้พร้อมกับการล้มหายตายจากของคนที่เรารักและคนที่เป็นกัลยาณมิตรไปหลายคนมากๆ”

 

มะเดี่ยวยังเชื่อว่าที่คนในแวดวงนี้เลือกทำอาชีพนี้เพราะความรักที่แท้จริง ใครก็ตามที่อยู่ด้วยกันมาได้ถึงทุกวันนี้เพราะมีใจให้วงการนี้ หลายคนยอมอดทนและทำงานนี้ เพราะนี่เป็นอาหารทางจิตวิญญาณของพวกเขา

 

“เรานับถือ เรารัก เราศรัทธาในอุดมการณ์นี้ของทุกคนมากเลย ที่เหนื่อยและทำมันมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็ทำกันต่อไปครับ และช่วยกันออกมาพูดอย่างสร้างสรรค์ มาเปิดบทสนทนาแลกเปลี่ยนในเรื่อง เช่น เราอยากเห็นชีวิตอนาคตข้างหน้าของเราเป็นอย่างไร อยากเห็นน้องๆ ที่เข้ามาในวงการเติบโตไปแบบไหน ร่วมกันส่งเสียงไปให้ถึงผู้หลักผู้ใหญ่ ให้รู้ว่าพวกเราอยากทำงานสายนี้อยู่ เพียงแต่ว่าเราอยากให้อนาคตดีๆ มันเกิดขึ้นไปด้วยกัน อยากให้ออกมาพูดกันแบบสร้างสรรค์ เราเชื่อว่าการนั่งคุยกันด้วยเหตุด้วยผลมันจะสามารถทำให้สิ่งนี้ขับเคลื่อนไปได้ มันเป็นการหันหลังให้กันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising