ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ลงนามรับรองร่างกฎหมายปฏิรูปเงินบำนาญที่ยืดขยายอายุของผู้ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญจาก 62 เป็น 64 ปี หลังสภารัฐธรรมนูญมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีเหตุชุมนุมประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในหลายเมืองสำคัญทั่วประเทศก็ตาม
โดยสมาชิกสภารัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวที่ผลักดันโดยรัฐบาลมาครง โดยเฉพาะประเด็นการเพิ่มอายุเกษียณเป็น 64 ปี และการขยายอายุการทำงานที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการรับเงินบำนาญเต็มจำนวนเป็น 43 ปี
ในขณะที่ข้อเสนอเล็กน้อยราว 6 ข้อได้รับการปฏิเสธ ซึ่งรวมถึงการบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ประกาศจำนวนพนักงานที่อายุมากกว่า 55 ปีที่พวกเขาจ้างงาน และการออกแบบสัญญาพิเศษสำหรับพนักงานที่มีอายุมากกว่าเกณฑ์ดังกล่าว
ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากมารวมตัวชุมนุมประท้วงตั้งแต่ก่อนช่วงที่สภารัฐธรรมนูญจะมีมติรับรองแผนปฏิรูปเงินบำนาญฉบับนี้ พร้อมแสดงจุดยืนว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยและไม่ต้องการกฎหมายนี้
โดยกระแสความไม่พอใจรุนแรงขึ้นหลังจากที่ เอลิซาเบธ บอร์น นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว โดยไม่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาฝรั่งเศส ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งปลุกกระแสการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ
ขณะที่สหภาพแรงงานฝรั่งเศสระบุว่า พวกเขาเคารพการตัดสินใจของสภารัฐธรรมนูญ แต่จะยังคงเดินหน้าประท้วงใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้มาครงและรัฐบาลฝรั่งเศสยกเลิกกฎหมายนี้ในท้ายที่สุด พร้อมเรียกร้องให้พี่น้องแรงงานชาวฝรั่งเศสทั่วประเทศพร้อมใจกันออกมาแสดงพลังครั้งใหญ่ในวันแรงงาน 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
ทางด้าน มารีน เลอ แปง ผู้นำฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศส ประณามแผนปฏิรูปเงินบำนาญว่าเป็นสิ่งที่โหดร้ายและไม่ยุติธรรม พร้อมทั้งชี้ว่า หากแผนปฏิรูปนี้ถูกนำมาใช้เป็นกฎหมายจริง นั่นจะถือเป็นการแตกหักขั้นสุดท้ายระหว่างชาวฝรั่งเศสกับ เอ็มมานูเอล มาครง
แฟ้มภาพ: Ludovic Marin / AFP
อ้างอิง: