วานนี้ (16 พฤษภาคม) ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง ที่ท่าอากาศยานปารีส-ออร์ลี กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการพบปะหารือและเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันกับ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่า จากการพบปะกันเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา มีการนำภาคธุรกิจมาพบปะสานสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง
วันนี้ก็มาตามสัญญาที่บอกว่าจะมาเป็นประธานการพูดคุยและหารือความคืบหน้าว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง ทั้งการค้าระหว่างประเทศ รวมถึง FTA ซึ่งอาจมีความซับซ้อนในหลายด้าน ทางผู้แทนการค้าไทยจึงขอให้ดำเนินการทีละส่วน โดยเฉพาะรถ EV ที่จะส่งเข้ามา ท่านก็เห็นด้วย
เศรษฐากล่าวอีกว่า ส่วนการทำวีซ่าฟรีเชงเก้นได้พูดคุยกัน และยืนยันให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้พ้นการเลือกตั้งสภายุโรปในเดือนมิถุนายนนี้ก็จะดำเนินการต่อไป จึงขอเป็นเดือนสิงหาคมที่จะพิจารณาต่อ แต่ยืนยันว่าสนับสนุน รวมไปถึงการท่องเที่ยวก็พูดคุยกันว่าอาจต้องเพิ่มเที่ยวบิน แต่วันนี้ยังไม่ Free COVID
นอกจากนี้เรื่องของพลังงานสะอาดทางฝรั่งเศสมีพลังงานสะอาดเยอะมาก เราอยากให้ฝรั่งเศสเป็นแม่แบบที่จะพัฒนาพลังงานสะอาดของเรา คาดว่าจะได้พูดคุยกัน และในการประชุมฟอรัมครั้งต่อไปในเดือนกันยายนที่ประเทศไทย ฝรั่งเศสจะนำผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานมาร่วม ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย ราคาถูก และสะอาดที่สุด ส่วน MOU ในวันนี้เกี่ยวกับข้องกับการแลกเปลี่ยนของกระทรวงกลาโหม ซึ่งทางฝรั่งเศสมีอะไรที่จะสนับสนุนไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถถัง โดรน ไซเบอร์ และการป้องกันทั้งหลายที่อยากจะทำร่วมกับไทย ซึ่งวันนี้ พล.อ. ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) มาร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกลางวันด้วย
“มีการพูดคุยในแง่ภาพรวมภาพใหญ่ โดยมีการวางแผนเรื่องการอัปเกรดของกองทัพในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ซึ่งฝรั่งเศสมีอะไรที่จะให้เราบ้าง ก็จะมีการนำทีมงานของเขาไปที่ประเทศไทย อาจรวมไปถึงการฝึกซ้อมรบด้วย และจะได้เห็นว่าเขาสามารถช่วยอะไรกองทัพไทยได้บ้าง” เศรษฐากล่าว
เศรษฐากล่าวอีกว่า ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ก่อนที่จะพบกับประธานาธิบดีมาครง มีโอกาสไปเปิดงาน Thailand-France Business Forum มีการพูดคุยหลายด้าน ทั้งเรื่องการผลิตเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน (SAF) ที่ใช้ในเครื่องบิน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะทำกัน มีการพูดคุยกันหลายวงซึ่งจะมีการยกระดับความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศ เนื่องจากในครั้งนี้มีนักธุรกิจใหญ่เข้ามาจำนวนมาก ถือว่าได้ประโยชน์อย่างมากสำหรับการมาเพียงครึ่งวัน
เศรษฐากล่าวว่า ได้พูดคุยกันสองต่อสองระหว่างตนกับประธานาธิบดีมาครง ในเชิงความสัมพันธ์ที่จะสามารถทำอะไรกันต่อไปได้ ซึ่งเป้าหมายที่จะทำต่อไป คือในเดือนกันยายนจะมีนักธุรกิจจากประเทศฝรั่งเศสไปที่ประเทศไทย
“วันนี้ท่านได้ขอเบอร์โทรศัพท์มือถือไป และได้ทดลองทักทายกันผ่าน WhatsApp มีอะไรก็สามารถพูดคุยกันอย่างชัดเจน และท่านบอกว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งตนระบุว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทั้ง 3 คนน่าจะตั้งกลุ่มขึ้นมาและพูดคุยกัน เป็นเรื่องที่ดี 3-4 ชั่วโมงได้ประโยชน์อย่างมาก และวันนี้ก็เดินทางต่อไปที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี” เศรษฐากล่าว
เรื่องปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล เศรษฐากล่าวว่าแจ้งกับประธานาธิบดีมาครง ว่าไทยยังมีตัวประกันอีก 8 คนที่ยังไม่ทราบชะตากรรม ซึ่งทางประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็เห็นใจ และพร้อมช่วยเหลือให้มีการหยุดยิงชั่วคราว โดยตนได้เรียนไปว่า ขอไปแล้วหลายครั้งแต่ไม่เกิดขึ้นสักที
“ท่านก็มีไอเดียขึ้นมา โดยบอกว่า ขณะนี้สิ่งที่ท่านทำอยู่คือจะใช้โอกาสในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกขอให้หยุดยิง ซึ่งหากทุกคนจำได้ ในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้จะมีการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะกีฬาเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราลืมความขัดแย้ง ถือเป็นโอกาสที่ดีในโอกาสที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน เป็นโต้โผใหญ่ในการรวบรวมประเทศสมาชิก และได้ขอให้ประเทศไทยเข้าร่วม เป็นหนึ่งในอีกหลายประเทศที่จะเข้ามาเพื่อแสดงเจตจำนงขอเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อโอลิมปิกในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี” เศรษฐากล่าว
เศรษฐากล่าวต่อว่า ในปีหน้าฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเกี่ยวกับ AI ซึ่งประธานาธิบดีมาครงเชิญประเทศไทยเข้าร่วมด้วย โดยความสัมพันธ์ของสองประเทศมีความคืบหน้าไปในหลายด้าน