วันนี้ (26 มีนาคม) เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานประชาชน และตัวแทนแรงงานข้ามชาติ เข้าพบเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ยกเลิกเงื่อนไขจำกัดเฉพาะสัญชาติไทยในโครงการ ‘ม33 เรารักกัน’ โดยระมีรายละเอียดระบุว่า
ตามที่รัฐบาลโดยการเสนอของกระทรวงแรงงานได้มีการอนุมัติโครงการ ‘ม 33 เรารักกัน’ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา แบ่งเบาภาระค่าครองชีพและลดผลกระทบแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยจ่ายเงินจำนวนคนละ 4,000 บาท โดยเปิดให้ผู้ประกันตนลงทะเบียนผ่านช่องทาง www.ม33เรารักกัน.com ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม 2564
แต่โครงการดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ จะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น มีผลทำให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสัญชาติไทย เช่น แรงงานสัญชาติสัญชาติเมียนมา กัมพูชา ลาว ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามวัตถุประสงค์ของโครงการประมาณ 2 ล้านคน ไม่ได้รับสิทธิ์ในเงินช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าว
สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมในประเทศไทยจ่ายเบี้ยประกันสังคมในอัตราเท่ากับผู้ประกันตนสัญชาติไทย เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน แรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเช่นเดียวกัน
การกำหนดเงื่อนไขว่าผู้จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ หรือสถานะของบุคคล ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักการ Leave no one behind รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยให้การรับรอง และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมจึงร่วมลงนามในหนังสือฉบับดังกล่าว เพื่อเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่เป็นแรงงานข้ามชาติทุกสัญชาติ ตามโครงการ ‘ม33 เรารักกัน’ อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล