×

สินค้าลักชัวรีกำลังเจอแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว แบรนด์ไหนจะรอดหรือร่วง?

30.05.2024
  • LOADING...

หลังจากที่เผชิญกับความท้าทายในช่วงสิ้นปีที่แล้ว หุ้นกลุ่มสินค้าลักชัวรียังคงชะลอตัวต่อไปในไตรมาสแรกของปีนี้ ความกังวลหลักมาจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ซึ่งทำให้การใช้จ่ายของชาวจีนลดลงตามไปด้วย แบรนด์หรูหลายแบรนด์อย่าง Louis Vuitton, Chanel, Dior และ Gucci กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดในปีนี้ว่าการเติบโตอาจเหลือเพียงเลขหลักเดียว แต่ดูเหมือนว่าบางแบรนด์อาจจะยังเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

 

แนวโน้มของหุ้นกลุ่มสินค้าลักชัวรีอาจจะชะลอลง

 

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการเติบโตของยอดขายกลุ่มสินค้าลักชัวรีทั่วโลกจะชะลอตัวลงเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว ซึ่งส่งสัญญาณถึงความท้าทาย ท่ามกลางความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

 

LVMH ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่อันดับ 2 ของยุโรป และมีมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านยูโร เผยว่ายอดขายในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) อาจลดลงถึง 6% ขณะที่ Chanel เตือนว่าอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากยิ่งขึ้น และนักวิเคราะห์มองว่าบริษัทอาจเจอกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในด้านอัตรากำไรของแบรนด์ด้วย

 

แบรนด์หรูอย่าง Louis Vuitton และ Dior ยังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการขึ้นราคาสินค้าอาจทำให้ความต้องการสินค้าระดับไฮเอนด์ลดลง เมื่อเดือนที่แล้ว Kering เจ้าของ Gucci ออกคำเตือนว่า ยอดขายในไตรมาสแรกอาจลดลง 10% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มของภาคธุรกิจนี้

 

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ความต้องการที่อ่อนแอลง รวมถึงลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ช้อปปิ้งในต่างประเทศลดลง กำลังพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญกับความยากลำบาก จากการประมาณการของ HSBC มองว่าการเติบโตของภาคธุรกิจนี้เหลือเพียง 1.5% ก่อนที่จะกลับมาเติบโตเป็นเลขสองหลักในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4

 

Gucci ได้ต่อสู้กับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของตลาดสินค้าแบรนด์เนมที่เคยเฟื่องฟูในจีน และการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ไปสู่ ‘Quiet Luxury’ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนและประณีตยิ่งขึ้น

 

สิ่งนี้ทำให้ Kering กลุ่มบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส เจ้าของ Gucci, Yves Saint Laurent, Bottega Veneta และแบรนด์หรูอื่นๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มากกว่าแบรนด์หรูคู่แข่งอื่นๆ เนื่องจากรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดจีน

 

สรุปภาพรวมรายได้ของแบรนด์ลักชัวรี

 

Kering รายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ยอดขายในไตรมาสแรกลดลงมากถึง 10% โดยบริษัทรายงานยอดขายอยู่ที่ 4.8 พันล้านดอลลาร์ (4.5 พันล้านยูโร) สำหรับไตรมาสแรก ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการของนักวิเคราะห์ที่ 4.8 พันล้านดอลลาร์ แต่คาดว่ารายได้จากการดำเนินงานจะลดลงระหว่าง 40-45% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี

 

Gucci ซึ่งมียอดขายประมาณครึ่งหนึ่งของ Kering มีรายได้ลดลง 18% สู่ 2.2 พันล้านดอลลาร์ (2.1 พันล้านยูโร) เนื่องจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่งผลกระทบอย่างหนักต่อแบรนด์แฟชั่นรายนี้

 

LVMH ของ Bernard Arnault กลุ่มบริษัทหรูสัญชาติฝรั่งเศสที่อยู่เบื้องหลัง Louis Vuitton และคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของ Kering รายงานยอดขายที่เพิ่มขึ้น 3% ในไตรมาสแรกของปี โดยอยู่ที่ 8.1 พันล้านดอลลาร์ (7.5 พันล้านยูโร)  ซึ่งตรงกับความคาดหวังของนักวิเคราะห์

 

ยอดขายสำหรับแผนกแฟชั่นและเครื่องหนังทำกำไรได้มากที่สุดที่ 2% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดจากการเติบโตด้วยตัวเลขหลักเดียวต่างจากในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว บริษัทเติบโตมากถึง 17% และกลุ่มสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังเติบโตอย่างมากที่ 18%

 

Hermès รายงานผลประกอบการไตรมาสแรก แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของยอดขายที่แข็งแกร่ง Hermès มีรายได้รายไตรมาสอยู่ที่ 3.81 พันล้านยูโร โดยเพิ่มขึ้น 17% บริษัทมีการเติบโตเป็นเลขสองหลักในทุกส่วนของโลก โดยเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นมีการเติบโตอยู่ที่ 14% แม้จะมีการซื้อขายที่ลดน้อยลงจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็ตาม

 

Miu Miu ทำไตรมาสแรกของปี 2024 ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยทาง Prada Group รายงานการเติบโตมากถึง 89% เมื่อเทียบเป็นรายปีในยอดค้าปลีกในช่วงเวลานี้ บริษัทเปิดเผยว่ารายได้สุทธิรวมเพิ่มขึ้น 16% เป็น 1.27 พันล้านดอลลาร์ (1.19 พันล้านยูโร) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 

 

Prada ยอดขายเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี แม้ว่ากลุ่มบริษัทจะไม่แจกแจงตัวเลขเหล่านี้ตามหมวดหมู่ แต่ก็น่าสังเกตว่า Prada Beauty ที่เพิ่งเปิดตัวในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาน่าจะมีส่วนในการเติบโตครั้งนี้เช่นกัน

 

Prada และ Miu Miu ถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่ดี ท่ามกลางความท้าทายในตลาดกลุ่มสินค้าลักชัวรี เพราะแม้ว่าแบรนด์หรูหลายๆ แบรนด์จะอ้างถึงการชะลอตัวในเอเชียที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดขายและรายได้ลดลง แต่ Prada Group ยังคงสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและยุโรปได้อย่างสวยงาม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising