×

LUNA: The Immersive Musical Experience ละครเวทีที่คุณมีส่วนร่วมจนเหมือนอยู่ในดิสนีย์แลนด์

11.11.2022
  • LOADING...
LUNA: The Immersive Musical Experience

HIGHLIGHTS

  • นับเป็นความทะเยอทะยานสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการละครเวทีของไทย สำหรับ LUNA: The Immersive Musical Experience ที่ใช้เทคนิค Immersive Musical โดยผู้ชมจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง สามารถเลือกเส้นทางเดินรับชมได้ด้วยตัวเองมากกว่า 10 รูปแบบ และมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงได้อีกด้วย ซึ่งถ้าใครเคยได้ไปเที่ยวนิวยอร์ก และเป็นสายละครเวทีก็จะมีการแสดงลักษณะใกล้เคียงกันในชื่อ Sleep No More ซึ่ง LUNA ก็น่าจะได้แรงบันดาลใจจากละครเรื่องนี้
  • LUNA เปิดโอกาสให้คนดูเลือกตามติดชีวิตของตัวละครแต่ละตัว และจะเปลี่ยนไปติดตามตัวอื่นๆ เมื่อไรก็ได้ จุดนี้คือความสนุกเหมือนได้ผจญภัยไปกับเรื่องราวในจินตนาการ ได้มุด ได้ซ่อน และตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์ตรงหน้า ในขณะเดียวกันด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ ทำให้บางฉากจำกัดจำนวนผู้ชม คนดูจำนวนหนึ่งจึงต้องถูกทิ้งไว้ในฉากที่ไม่ใช่ส่วนสำคัญของเรื่อง และต้องรอเวลาจนกว่าเหตุการณ์สำคัญจะเกิดขึ้น ทำให้เกิดช่วงเดดแอร์แบบเลี่ยงไม่ได้

 

 

นับเป็นความทะเยอทะยานสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการละครเวทีของไทย สำหรับ LUNA: The Immersive Musical Experience ที่ใช้เทคนิค Immersive Musical โดยผู้ชมจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง สามารถเลือกเส้นทางเดินรับชมได้ด้วยตัวเองมากกว่า 10 รูปแบบ และมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงได้อีกด้วย ซึ่งถ้าใครเคยได้ไปเที่ยวนิวยอร์ก และเป็นสายละครเวทีก็จะมีการแสดงลักษณะใกล้เคียงกันในชื่อ Sleep No More ซึ่ง LUNA ก็น่าจะได้แรงบันดาลใจจากละครเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน 

 

ก่อนจะเข้าเรื่อง LUNA ขอเท้าความถึง Sleep No More ก่อนสักหน่อยว่าละครเวทีเรื่องนี้เป็นละครเงียบ ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์เรื่อง McBeth ซึ่งว่าด้วยการล้างแค้น อาฆาต โดยเกิดขึ้นที่โรงแรม McKittrick ทีมผู้สร้างเลยเนรมิตตึกเก่า 5 ชั้น และสร้างประสบการณ์ความหลอนให้กับผู้ชม ตั้งแต่การให้จับไพ่คนละใบ แยกผู้ชมเป็นกลุ่มๆ ทุกคนจะต้องสวมหน้ากาก ปิดโทรศัพท์ และห้ามพูดคุยกันตลอดการแสดง จากนั้นก็ปล่อยผู้ชมไปตามจุดต่างๆ ได้เห็นฉากและพฤติกรรมตัวละครเสมือนเป็นพยานในเหตุฆาตกรรม ซึ่งแน่นอนว่าคงดูได้ไม่ครบ แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะดูไม่รู้เรื่อง เพราะท้ายที่สุดทุกคนจะได้มารวมตัวกัน และเห็นบทสรุปของตัวละคร ดังนั้น แต่ละคนก็จะได้รับประสบการณ์แตกต่างกันออกไป 

 

ส่วน LUNA เป็นละครเพลงดัดแปลงมาจากบทประพันธ์เรื่อง The Girl Who Drank the Moon ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘แซน’ แม่มดแห่งป่า ที่ชาวเมืองโพรเทคเทอเรทต้องสังเวยเด็กทารกให้นางเป็นประจำทุกปี วันหนึ่งเธอเผลอให้เด็กน้อย ลูน่า ดื่มกินแสงจันทร์ซึ่งเปี่ยมไปด้วยพลังเวทมนตร์ นางจึงรับเด็กทารกผู้นั้นไว้ในความดูแล พร้อมกับสะกดเวทมนตร์ของเด็กคนนั้นไว้ ลูน่าเติบโตมากับแม่มดแห่งป่า ปีศาจหนองน้ำ และมังกรจิ๋ว จนอายุครบ 13 ปีซึ่งเป็นเวลาที่พลังเวทมนตร์ของเธอจะเป็นอิสระ แต่ไม่มีใครคาดคิดได้ว่าในเวลาเดียวกันนั้นเอง ชายคนหนึ่งเดินทางเข้าไปในป่า ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะปลดปล่อยผู้คนของเขาให้เป็นอิสระด้วยการฆ่าแม่มดตนนั้น 

 

โดยละครเรื่องนี้สร้างฉากป่าและเมืองสุดอลังการบนพื้นที่ 1 ไร่ของ Q Stadium ชั้น M ใน ดิ เอ็มควอเทียร์ และแยกผู้ชมออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เดินเข้าทางฝั่งเมือง และเดินเข้าทางฝั่งป่า ให้ได้รับรู้เหตุการณ์และเหตุผลของแต่ละฝ่าย บางเหตุการณ์ผู้ชมทั้งสองกลุ่มก็จะได้มาเจอกัน จนกระทั่งถึงบทสรุปของเรื่อง

 

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้ชมละครเวทีทั้งสองเรื่องต้องบอกว่า LUNA เล่นท่ายากกว่าด้วยการทำละครแนวแฟนตาซี ซึ่งแต่ละคนก็จะมี ‘ความแฟนตาซี’ แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการสร้างอารมณ์ร่วมตั้งแต่เข้าไปก็ทำได้ไม่ดีเท่า Sleep No More ที่ใช้ ‘ความหลอน’ อันเป็นอารมณ์สามัญของมนุษย์ ถ้าให้เทียบก็เหมือนการเดินเข้าดิสนีย์แลนด์กับบ้านผีสิงที่ให้ความรู้สึกตื่นเต้นไม่เท่ากัน จึงต้องอาศัยการละลายพฤติกรรมอยู่นานพอสมควรกว่าที่เราจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของละคร 

 

ที่ยากไปกว่านั้นคือ เมื่อละครเปิดโอกาสให้คนดูมีบทสนทนากับตัวละคร คนดูจึงกลายเป็นตัวแปรที่ควบคุมได้ยาก ก็ต้องยอมรับในความสามารถของนักแสดงที่ทำให้เรื่องราวลื่นไหลไปได้ดีพอสมควร ในขณะเดียวกันก็มีคนดูกลุ่มใหญ่ที่ไม่ค่อยชินกับการโต้ตอบกับคนแปลกหน้า ก็อาจจะมีอาการ ‘เหวอ’ อยู่เหมือนกัน 

 

LUNA เปิดโอกาสให้คนดูเลือกตามติดชีวิตของตัวละครแต่ละตัว และจะเปลี่ยนไปติดตามตัวอื่นๆ เมื่อไรก็ได้ จุดนี้คือความสนุกเหมือนได้ผจญภัยไปกับเรื่องราวในจินตนาการ ได้มุด ได้ซ่อน และตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์ตรงหน้า ในขณะเดียวกันด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ ทำให้บางฉากจำกัดจำนวนผู้ชม คนดูจำนวนหนึ่งจึงต้องถูกทิ้งไว้ในฉากที่ไม่ใช่ส่วนสำคัญของเรื่อง และต้องรอเวลาจนกว่าเหตุการณ์สำคัญจะเกิดขึ้น ทำให้เกิดช่วงเดดแอร์แบบเลี่ยงไม่ได้ 

 

ส่วนในเรื่องของเนื้อหาก็ต้องยอมรับว่า ละครเรื่องนี้สร้างจากบทประพันธ์ที่ดี สมกับที่เป็นหนึ่งในสุดยอดวรรณกรรมเยาวชนของศตวรรษที่ 21 โดยให้มุมมองเหตุผลของคนสองกลุ่มที่มีความคิดและความเชื่อแตกต่างกัน ซึ่งก็ไม่อาจตัดสินได้ว่าใครถูกหรือผิด และความคิดของคนอ่านและคนดูก็อาจจะเปลี่ยนไปเมื่อถึงวัยที่เปลี่ยนแปลง จนเรื่องนี้กลายเป็นบทประพันธ์ที่เติบโตไปพร้อมๆ กับผู้อ่าน ซึ่งถ้าอยากเปิดโลกจินตนาการอย่างอิสระหรือพาลูกหลานไปดูด้วย ผู้เขียนแนะนำให้เข้าประตูทางฝั่งป่า หรือถ้าไปดูมากกว่าหนึ่งคนก็แยกทางไปเข้าคนละฝั่งเพื่อนำเรื่องราวทั้งสองมุมมาปะติดปะต่อกันก็ได้ 

 

 

สรุปแล้วผู้เขียนขอให้คะแนน LUNA ในเรื่องความตั้งใจ และสร้างประสบการณ์แบบใหม่ให้กับคนดู แม้จะมีหลายๆ จุดที่ยังไม่ลงตัว แต่ก็ช่วยสร้างกระแสให้กับวงการละครเวทีไทยที่หยุดการแสดงไปนานพอสมควร ส่วนคำแนะนำสำหรับคนดูคือ อยากให้เปิดใจและเปิดโลกจินตนาการ ปลดปล่อยตัวเองเหมือนไปเดินเล่นในสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ และพร้อมจะโต้ตอบกับตัวละครในเทพนิยายตลอดเวลา นั่นแหละ…จะช่วยเพิ่มอรรถรสให้ละครเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว 

FYI

การแสดง LUNA: The Immersive Musical Experience เป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือมูลนิธิชัยพฤกษ์ ผู้ชมสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนในขั้นตอนสุดท้ายของการซื้อบัตร โดยเงินบริจาคทั้งหมดจะส่งมอบให้กับมูลนิธิชัยพฤกษ์ เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้า และเยาวชนผู้ขาดโอกาสภายใต้การดูแลของมูลนิธิชัยพฤกษ์

 

พิเศษ! รับบัตรแบบพิเศษ (Limited Edition) เพื่อใช้ผ่านเข้าไปในเส้นทางลับของการแสดง เมื่อร่วมบริจาคสมทบทุนตั้งแต่ 400 บาทขึ้นไป ต่อ 1 บัตรชมการแสดง

 

จองบัตรได้ที่ https://ticketmelon.com/castscape/lunathemusical

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X