ROSCOSMOS หน่วยงานอวกาศของรัสเซีย ยืนยันว่าภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบ 47 ปีของประเทศ ได้เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์เป็นที่เรียบร้อย หลังเดินทางออกจากโลกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา
Luna 25 ภารกิจที่ถูกตั้งชื่อเพื่อสานต่อจากโครงการ Luna ในสมัยสหภาพโซเวียต มีภารกิจล่าสุดคือ Luna 24 เป็นยานไปลงเก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์ส่งกลับโลกมาได้ 170 กรัม เมื่อเดือนสิงหาคม 1976 ถือเป็นความพยายามครั้งแรกของประเทศรัสเซียในการส่งยานของพวกเขาเดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์
ภารกิจนี้มีแผนให้ยานลงจอดบริเวณหลุมอุกกาบาต Boguslawsky ใกล้เคียงกับขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยหากพิจารณาการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ณ จุดดังกล่าว พบว่าดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม สอดคล้องกับกำหนดลงจอดในวันที่ 21 สิงหาคม หากไม่มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมเพิ่มเติม
สำหรับ Luna 25 เดินทางไปด้วยจรวด Soyuz 2.1b จากฐานปล่อย Vostochny ในฟากตะวันออกของประเทศ ซึ่งทรงพลังกว่าจรวดของอินเดีย ทำให้ยานสามารถเดินทางไปถึงดวงจันทร์ด้วยเวลาเพียง 5 วัน ก่อนจะเดินเครื่องยนต์นาน 243 วินาที และ 76 วินาที เพื่อชะลอความเร็วเข้าสู่วงโคจรเมื่อเวลา 15:57 น. ของวันที่ 16 สิงหาคม และเริ่มปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์จากวงโคจร ในระหว่างที่ยานค่อยๆ ลดระดับวงโคจรให้ต่ำลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงจอด
หากไม่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น Luna 25 จะเป็นยานสำรวจลำแรกที่ลงจอดอย่างนุ่มนวลในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยมีอุปกรณ์สำรวจต่างๆ เช่น สเปกโตรมิเตอร์อินฟราเรด, เครื่องวัดค่าฝุ่นบนดวงจันทร์, อุปกรณ์ตรวจจับนิวตรอนและแกมมา เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดได้รับการออกแบบและผลิตภายในรัสเซีย เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาประเทศ ที่ทำให้ความร่วมมือในการสำรวจอวกาศได้รับผลกระทบตามไปด้วย
นอกจากนี้ รัสเซียยังวางแผนภารกิจในอนาคตอย่าง Luna 26 ให้เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี 2027 ตามด้วยการสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์กับยาน Luna 27 ในปีถัดไป รวมถึงภารกิจ Luna 28 ที่จะนำตัวอย่างหินดวงจันทร์กลับสู่โลกอีกครั้ง โดยมีกำหนดขึ้นบินเร็วสุดในปี 2030 หากไม่มีความล่าช้าหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพิ่มเติม
ภาพ: ROSCOSMOS
อ้างอิง: