×

ลูกา โมดริช ยอดนักเตะผู้เกิดจากไฟสงคราม กับความลับใต้ความเก่งกาจของชาติโครเอเชีย

15.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • บางคนอาจจะไม่เคยทราบว่า โครเอเชียเป็นชาติเล็กๆ ที่มีประชากรเพียงแค่ 4 ล้านคนเศษ (ถ้าตามคำพูดของ อีวาน ราคิติช กองกลางคนสำคัญของทีมก็คือ 4.5 ล้านคน) เพิ่งจะมีเอกราชเป็นของตัวเองเมื่อปี 1991 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว
  • โมดริชไม่ต่างจากเด็กชาวโครเอเชียคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไฟสงคราม คุณปู่ที่เขารักถูกฆาตกรรมต่อหน้าตั้งแต่อายุแค่ 6 ขวบ บ้านถูกเผา พ่อจำเป็นต้องเข้าร่วมกับกองทัพ ส่วนตัวเขาและครอบครัวต้องอพยพลี้ภัยจากบ้านมาพักอาศัยในโรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อรักษาชีวิตให้รอด
  • ความโหดร้ายในวันนั้นได้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกฝังความเป็นนักสู้ให้เกิดขึ้นแก่ชาวโครเอเชียทุกคน
  • เลือดนักสู้นั้นถูกแสดงออกมาให้เห็นในหลายรูปแบบครับ เกมกีฬาก็เป็นหนึ่งในนั้น ในโลกของกีฬานั้น นักกีฬาจากโครเอเชียถือเป็นนักกีฬาชั้นหนึ่ง พวกเขาเก่งกีฬามากในหลากหลายประเภท
  • สาเหตุที่พวกเขารักและคลั่งไคล้ในเกมลูกหนังนั้นเป็นเพราะ ฟุตบอลมอบในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถหาได้จากการเมืองและเศรษฐกิจที่รุนแรงภายในประเทศ
  • ฟุตบอลมอบ ‘ความหวัง’ ให้แก่พวกเขา เป็นกำลังใจที่จะต่อสู้ชีวิตต่อไป

คืนนี้แล้วนะครับที่เราจะได้รู้กันว่าใครจะได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2018

 

เราเหลือตัวเลือกกันเพียงแค่ 2 ระหว่าง ฝรั่งเศส ทีมเต็งที่ทำตัวได้สมกับความคาดหวัง และ โครเอเชีย ทีมที่ไม่ได้มีใครคาดหวังแต่ทำได้เกินความคาดหวังไปมากเหลือเกิน

 

ด้วยความแตกต่างของสถานะ และจากสิ่งที่เราได้เห็นตลอดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ผ่านมา ผมคิดว่าน่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เป็นแฟนบอลของทั้ง 2 ชาติ แต่อยากจะเอาใจช่วยโครเอเชีย ทีมรองบ่อนขึ้นมาด้วยความประทับใจในเลือดนักสู้ของพวกเขาที่สู้ตายถวายชีวิตมาหลายนัดติด

 

ตั้งแต่รอบ 16 ทีมและรอบ 8 ทีมสุดท้ายที่ต้องสู้กันจนถึงฎีกากับเดนมาร์กและรัสเซีย เจ้าภาพ และล่าสุดก็ต้องสู้กับอังกฤษจนครบ 120 นาที ก่อนจะเอาชนะได้อย่างหวุดหวิดในเกมรอบรองชนะเลิศ (จนกลายเป็นทีมแรกที่เล่นต่อเวลาพิเศษ 3 นัดติดต่อกันแล้วชนะรวดในฟุตบอลโลก)

 

ความใจสู้ของพวกเขาชนะใจแฟนบอลทั่วโลกได้โดยไม่ตั้งใจ

 

แต่ความจริงแล้วความใจสู้ของโครเอเชียไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรสำหรับพวกเขาครับ เพราะสายเลือดโครแอตนั้นเกิดมาเพื่อเป็นนักสู้โดยธรรมชาติ

 

หลายคนอาจจะทราบ แต่บางคนอาจจะไม่เคยทราบว่า โครเอเชียเป็นชาติเล็กๆ ที่มีประชากรเพียงแค่ 4 ล้านคนเศษ (ถ้าตามคำพูดของ อีวาน ราคิติช กองกลางคนสำคัญของทีมก็คือ 4.5 ล้านคน) เพิ่งจะมีเอกราชเป็นของตัวเองเมื่อปี 1991 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว

 

แต่กว่าจะมีเอกราชเป็นของตัวเอง พวกเขาต้องเสียเลือดเสียเนื้อในสงครามการประกาศเอกราชอยู่หลายปี กว่าไฟสงครามจะสงบและมีลมหายใจที่เป็นอิสระบนแผ่นดินเกิดของตัวเองนั้นก็กินระยะเวลาหลายปี

 

ในหมู่นักเตะโครเอเชีย หลายคนเกิดและเติบโตในยุคของสงคราม หนึ่งในนั้นคือ ลูกา โมดริช กัปตันทีมในวัย 32 ปีที่เป็นหนึ่งในคนที่มีโชคชะตาชีวิตที่แสนเศร้าในวัยเยาว์ครับ

 

ไฟสงครามและสนามฟุตบอลกลางลูกระเบิด

เมื่อ 6 ปีก่อนในช่วงที่โมดริชย้ายจากท็อตแนม ฮอตสเปอร์มาอยู่กับเรอัล มาดริดใหม่ๆ มีสถานีโทรทัศน์ของสเปนเดินทางไปโครเอเชียเพื่อค้นหา ‘ต้นกำเนิดของโมดริช’ และถ่ายทอดมาในรูปแบบภาพยนตร์สารคดี

 

ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนั้นมีการบอกเล่าจากทั้งโค้ชของเขาในวันวาน เพื่อนร่วมทีมที่โตมาด้วยกันในทีมเอ็นเค ซาดาร์ เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เป็นนักฟุตบอล ครอบครัว ผู้สื่อข่าว

 

เรื่องเล่าทำให้เราได้รู้เรื่องราวที่แสนเจ็บปวดของกองกลางรูปร่างเล็กคนนี้ครับ

 

ในวัยเด็กโมดริชไม่ต่างจากเด็กชาวโครเอเชียคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไฟสงคราม คุณปู่ที่เขารักถูกฆาตกรรมต่อหน้าตั้งแต่อายุแค่ 6 ขวบ บ้านถูกเผา พ่อจำเป็นต้องเข้าร่วมกับกองทัพ ส่วนตัวเขาและครอบครัวต้องอพยพลี้ภัยจากบ้านมาพักอาศัยในโรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อรักษาชีวิตให้รอด เสียงที่เขาได้ยินทุกวันไม่ใช่เสียงดนตรี แต่เป็นเสียงระเบิดและเสียงเตือนภัยต่างๆ

 

ในสภาพแวดล้อมและชีวิตที่โหดร้าย ฟุตบอลคือเพื่อนที่ดีที่สุดของเจ้าหนูลูกาในวันนั้น ทุกๆ วันหากไม่มีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น เขาจะออกไปเตะฟุตบอลเล่นเสมอ ที่ลานจอดรถของโรงแรมบ้าง บางครั้งก็เตะที่ระเบียงในห้องพักบ้าง เตะคนเดียวบ้าง เตะกับเพื่อนบ้าง

 

มีเรื่องเล่าตลกๆ ว่า จำนวนกระจกที่แตกเพราะลูกเตะของลูกามีมากกว่าจำนวนที่แตกเพราะแรงสั่นสะเทือนจากระเบิดลงเสียอีก

 

“มีเด็กคนหนึ่งที่เตะฟุตบอลไปทั่วโรงแรมตลอดทั้งวัน” โยซิป บายิโล ประธานสโมสรเอ็นเค ซาดาร์ เผย “เขาตัวผอมและตัวเล็กมากสำหรับเด็กในวัยนั้น แต่เราสามารถมองเห็นได้ทันทีว่ามีบางสิ่งที่พิเศษเกิดขึ้นกับเขา แต่เอาจริงๆ ในเวลานั้นไม่มีใครสักคนที่คิดฝันว่าวันหนึ่งเขาจะกลายเป็นผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ในแบบที่เขาเป็นอยู่ในทุกวันนี้”

 

นอกจากในโรงแรมแล้ว โมดริชยังได้เข้าร่วมเล่นในทีมเยาวชนของเอ็นเค ซาดาร์ด้วย แต่การฝึกซ้อมในวันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะพวกเขาอยู่ในพื้นที่สงคราม บ่อยครั้งที่ต้องเปลี่ยนจากการวิ่งในสนามฟุตบอลเป็นการวิ่งหนีเอาชีวิตรอดเข้าที่กำบังให้ทัน

 

“ตอนนั้นเรากลัวมาก นั่นคือสิ่งที่ผมจำได้ มีระเบิดนับพันลูกที่ยิงใส่กันในหุบเขาที่ล้อมรอบ บางลูกตกลงมาที่สนามฟุตบอลก็มี พวกเราต้องวิ่งหนีหลบเข้าที่กำบัง” โตมิสลาฟ บาซิช หนึ่งในโค้ชที่สอนวิชาลูกหนังให้โมดริช และเป็นคนที่กัปตันทีมโครเอเชียยกย่องว่าเป็น ‘พ่อคนที่สอง’ กล่าว

 

ฟุตบอลคือสิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขาหลบหนีจากความเป็นจริงที่เจ็บปวดได้

 

บาซิชยังเป็นผู้ที่คอยดูแลปกป้องโมดริชในวันที่ยากลำบากในทางเกมลูกหนังเพราะรูปร่างที่เล็กของเขา ทำให้ไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะเป็นนักฟุตบอลได้ Hajduk Split ทีมที่เขาเชียร์มาตั้งแต่เด็กก็ปฏิเสธที่จะรับเขาเข้าทีม

 

เรื่องนี้เคยทำให้เขาคิดที่จะเลิกเล่นฟุตบอลเลยทีเดียว แต่ดีที่บาซิชรั้งหัวใจเขาไว้ทัน ก่อนที่โมดริชจะสู้ต่อและได้ไปอยู่กับ Dinamo Zagreb ทีมคู่ปรับตลอดกาลของ Hajduk Split แทน

 

เช่นกันกับครอบครัวที่สนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ โดยแม้สงครามจะยุติในเวลาต่อมา พวกเขาก็เลือกจะพักอาศัยในห้องเล็กๆ ในโรงแรมที่พักสำหรับผู้ลี้ภัยมากกว่าจะกลับไปยังหมู่บ้านในบ้านเกิด เพื่อที่จะทำให้พวกเขาควบคุมรายจ่ายได้เพียงพอที่จะให้โมดริชได้เล่นฟุตบอลต่อไป

 

โดยที่ตัวเขาเองก็สู้เต็มที่ด้วยเช่นกัน ในวันที่ Dinamo Zagreb ยังไม่เชื่อมั่นในฝีเท้าเขาถูกส่งตัวไปให้ทีมอื่นยืมถึง 2 ครั้งกับ ซรินสกี สโมสรในบอสเนีย และ Herzegovina กับ Inter Zapresic ในย่านชานเมืองซาเกร็บ แต่โมดริชก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาคือของจริง

 

หลังจากนั้นเขาจึงได้รับสัญญาเป็นระยะเวลา 10 ปีกับ Dinamo Zagreb ทำให้ครอบครัวและทุกคนที่ผลักดันมาตลอดภูมิใจ

 

“สงครามทำให้ผมแกร่งขึ้น” โมดริชเคยกล่าวไว้ “เราไม่ใช่คนที่ถูกทำลายได้โดยง่าย และเรามีความมุ่งมั่นที่เราจะแสดงให้เห็นว่าเราสามารถประสบความสำเร็จได้”

 

จากถ้อยคำของเขา อาจทำให้เราเข้าใจได้กับภาพการวิ่งไล่บอลจนสุดสนามของโมดริชในหลายเกมที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงของการต่อเวลาพิเศษ

 

ทั้งๆ ที่เขาไม่จำเป็นต้องวิ่งไล่ขนาดนั้นก็ได้ในความเป็น Maestro หรือเจ้าแห่งลูกหนังที่สง่างาม

 

โมดริชแค่อยากชนะ ชนะเพื่อทุกคน

 

เลือดนักสู้ตราหมากรุก กับความหวังที่ชื่อว่าฟุตบอล

นอกเหนือจากโมดริชแล้ว เวดราน ชอร์ลูกา กองหลังจอมเก๋าก็เกิดในบอสเนีย แต่มาโตในโครเอเชียเมื่อปี 1992 ขณะที่ เดยัน ลอฟเรน ปราการหลังตัวหลักเป็นผู้ลี้ภัยจากบอสเนีย ส่วน อีวาน ราคิติช คู่หูในแดนกลางของโมดริช ต้องหนีตามครอบครัวไปในช่วงสงครามบอลข่าน ก่อนจะเติบโตในสวิตเซอร์แลนด์ แต่เขาใช้ชีวิตโดยมี โรเบิร์ต โปรซิเนสกี ฮีโร่ของทีมชาติโครเอเชียเป็นต้นแบบ

 

แน่นอนว่ายังมีอีกหลายคนที่ผ่านวันเวลาที่โหดร้ายแบบนั้นมาครับ เพียงแต่ผ่านมาถึงวันนี้ ความโหดร้ายในวันนั้นได้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกฝังความเป็นนักสู้ให้เกิดขึ้นแก่ชาวโครเอเชียทุกคน

 

เลือดนักสู้นั้นถูกแสดงออกมาให้เห็นในหลายรูปแบบครับ เกมกีฬาก็เป็นหนึ่งในนั้น ในโลกของกีฬา นักกีฬาจากโครเอเชียถือเป็นนักกีฬาชั้นหนึ่ง พวกเขาเก่งกีฬามากในหลากหลายประเภท ซึ่งบางอย่างเราอาจจะไม่เคยรู้ เช่น พวกเขาเป็นแชมป์โลกโปโลน้ำประเภทชายในเวลานี้ ส่วนทีมแฮนด์บอลของพวกเขาได้ที่ 4 ในการชิงแชมป์โลก

 

ในกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่รีโอเดจาเนโร พวกเขาจบอันดับที่ 17 สูงกว่าชาติอย่าง แคนาดา อาร์เจนตินา หรือแอฟริกาใต้เสียอีก

 

แต่กีฬาที่คนโครเอเชียรักและคลั่งไคล้มากที่สุดคือฟุตบอล พวกเขาบ้าคลั่งเกมลูกหนังไม่ต่างจากชาติอย่างบราซิล, อังกฤษ, อาร์เจนตินา และฝรั่งเศส

 

สายเลือดลูกหนังของโครเอเชียนั้นเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ และชวนให้คิดถึงยูโกสลาเวียที่ยิ่งใหญ่ในวันวาน

 

อิกอร์ สติมัช อดีตโค้ชทีมชาติและเป็นหนึ่งในสมาชิกชุดประวัติศาสตร์ที่นำ โครเอเชียคว้าที่ 3 ในการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อ 20 ปีที่แล้วบอกอย่างภูมิใจว่า “คนโครแอตเป็นคนที่มีพรสวรรค์ตามธรรมชาติ”

 

ขณะที่ ลูกา อิวานซิช ผู้บริหารของสโมสรฟุตบอลดังในโครเอเชีย เอชเอ็นเค ริเยกา บอกว่า “ผมคิดว่าพรสวรรค์ของผู้เล่น ความมุ่งมั่น และการทำงานหนักของพวกเขา เป็นสิ่งที่พิเศษ และมันเกิดขึ้นจากตัวตนของพวกเขาอย่างแน่นอน”

 

สาเหตุที่พวกเขารักและคลั่งไคล้ในเกมลูกหนังนั้นเป็นเพราะ ฟุตบอลมอบในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถหาได้จากการเมืองและเศรษฐกิจที่รุนแรงภายในประเทศ

 

ฟุตบอลมอบ ‘ความหวัง’ ให้แก่พวกเขา เป็นกำลังใจที่จะต่อสู้ชีวิตต่อไป

 

ฟรานโย ตุดมาน ประธานาธิบดีคนแรกของโครเอเชียเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ชัยชนะของฟุตบอลสามารถกำหนดตัวตนของประเทศได้มากเท่ากับที่สงครามทำได้”

 

ดังนั้นไม่น่าแปลกใจที่คนโครเอเชียจำนวนมากจะตัดสินใจกระโดดขึ้นรถพร้อมกับพาสปอร์ตในมือเพื่อเดินทางมาให้กำลังใจกับทีมชาติของพวกเขาที่กำลังจะลงทำศึกแห่งความฝันในสนามลุจนิกี สเตเดียมในคืนนี้

 

และไม่น่าแปลกใจที่คน 4.5 ล้านคนในประเทศเฝ้าติดตามทีมชาติของพวกเขาอย่างใจจดใจจ่อในทุกตารางนิ้วของโครเอเชีย

 

พวกเขาลืมทุกเรื่องไปหมดแล้วในเวลานี้

 

เหลือแค่ฟุตบอล กับ 90 นาทีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยบาดแผลจากวันเก่า

 

และความฝันที่อยากจะมีเรื่องเล่าที่ยิ่งใหญ่สักเรื่องเอาไว้นั่งคุยกับลูกหลานในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

Photo: Reuters

อ้างอิง:

FYI
  • ครั้งหนึ่งเคยมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยเด็กด้วยความยากจน โมดริชไม่สามารถหาซื้อสนับแข้งได้ พ่อของเขาเลยทำสนับแข้งจากแผ่นไม้ชิ้นเล็กๆ ให้ แต่เรื่องนี้เขาปฏิเสธในเวลาต่อมาว่าไม่จริง แต่เปิดเผยว่าสนับแข้งคู่แรกของเขามีรูปของโรนัลโด (บราซิล) แปะอยู่ เพราะโรนัลโดคือฮีโร่ในดวงใจของเขา
  • โมดริชเป็นแฟนตัวยงของเชลซีและบาร์เซโลนา แต่ในชีวิตจริงเขาต้องเล่นให้กับคู่แข่งของทีมที่เขารักทั้งท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และ เรอัล มาดริด
  • โมดริชตกเป็นข่าวอื้อฉาวว่าอาจจะถูกจำคุก 5 ปีหลังจบฟุตบอลโลก จากการเบิกความเท็จในคดีของ สลัตโก มามิช อดีตผู้บริหารสโมสร Dinamo Zagreb ผู้ทรงอิทธิพลในวงการฟุตบอลโครเอเชีย ในคดีโกงภาษี
  • ขุนพลโครเอเชียชุดประวัติศาสตร์วันนี้ มีแค่ 2 คนที่เล่นในประเทศ นอกนั้นกระจัดกระจายไปทั่วยุโรป 6 ในอิตาลี, 4 ในสเปน, 3 ในเยอรมนี และอีก 1 ในอังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, ยูเครน และตุรกี
  • หากโครเอเชียชนะฝรั่งเศสคืนนี้ จะได้เงินรางวัลของแชมป์โลกที่ 38 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าแพ้จะได้ 28 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินจำนวนนี้ โดยเฉพาะหากได้เป็นแชมป์โลก ถูกคาดหวังว่าจะนำไปใช้ในการช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลโครเอเชีย
  • และถ้าโครเอเชียได้เป็นแชมป์โลก พวกเขาจะเป็นแชมป์โลกจากชาติที่เล็กที่สุด นับตั้งแต่อุรุกวัยเมื่อปี 1950
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X