×

ลอยกระทงมาจากไหน เกี่ยวข้องกับผีและความตายอย่างไร

21.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • คนไทยเชื่อว่าลอยกระทงมีมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย เพราะเชื่อตามวรรณกรรมเรื่อง นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และเชื่อตามที่อธิบายไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งความรู้ชุดนี้ถูกเผยแพร่ในแบบเรียน และการท่องเที่ยว นับแต่ปี พ.ศ. 2520 ที่มีการจัดงานลอยกระทงที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทำให้คนในสังคมจดจำและยากที่จะรื้อถอนความทรงจำนี้ออกไป
  • ในกลุ่มนักประวัติศาสตร์ทางเลือกต่างนำเสนอมานานแล้วว่า ลอยกระทงไม่ได้กำเนิดขึ้นที่สุโขทัย และไม่ได้มีเฉพาะในไทย หากแต่เป็นประเพณีที่แชร์ร่วมกันหลายประเทศ
  • พบภาพสลักที่ปราสาทบายน (อายุราว พ.ศ.1750 เก่ากว่าสุโขทัย) เป็นรูปนางในถือกระทงเรียงกันเป็นแถว เพื่อลอยกระทงลงในแม่น้ำ เหนือภาพของนางในมีภาพของกษัตริย์นั่งในเรือ แวดล้อมด้วยนางสนมที่มีกระทงในมือ แสดงว่าลอยกระทงเป็นประเพณีที่ราชสำนักให้ความสำคัญ  
  • ด้วยความเชื่อในศาสนาพุทธที่รับมาจากอินเดีย จึงเกิดการผสมผสานความเชื่อเดิม และอธิบายเสียใหม่ว่าลอยกระทงทำไปเพื่อขอขมาพระแม่คงคาหรือบูชาพระพุทธบาทนั่นเอง

ทางการยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทง เช่น ในเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้ข้อมูลว่า ประเพณีการลอยกระทงของไทยนั้นรับ วัฒนธรรมประเพณีมาจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในอินเดียเรียกประเพณีนี้ว่า ‘ทีปะวารี’ (ทีปาวลี) และประเพณีลอยกระทงนี้ยังเป็นพิธีบูชาพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีอีกด้วย

 

เช่นเดียวกันกับที่ทางการยังโปรโมตว่าลอยกระทงมีกำเนิดที่อาณาจักรสุโขทัย ทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงการไม่ค้นคว้าและติดตามการเปลี่ยนแปลงของความรู้ ไม่แปลกใจที่คุณภาพของการศึกษาไทยจะไปไม่ถึงไหน

 

ทำไมคนไทยจึงเชื่อว่าลอยกระทงมีมาแต่ครั้งยุคสุโขทัย เพราะ หนึ่ง เชื่อตามวรรณกรรมเรื่อง นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งมีฉากและชื่อตัวละครเป็นยุคสุโขทัย แต่แท้จริงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวินิจฉัยว่าแต่งในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

สอง เชื่อตามที่อธิบายไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งอธิบายว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นในรัชสมัยของพระอรุณมหาราช ซึ่งความรู้ชุดนี้ก็เผยแพร่ในแบบเรียนและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนับแต่ปี พ.ศ. 2520 มีการจัดงานลอยกระทงที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ก็ยิ่งทำให้คนในสังคมจดจำ ยากที่ จะรื้อถอนความทรงจำนี้ออกไป

 

ความจริงในกลุ่มนักประวัติศาสตร์ทางเลือกต่างนำเสนอมานานแล้วว่า ลอยกระทงไม่ได้กำเนิดขึ้นที่สุโขทัย และไม่ได้มีเฉพาะในไทย หากแต่เป็นประเพณีที่แชร์ร่วมกันหลายประเทศ

 

ภาพสลักเล่าเรื่องลอยกระทงที่ปราสาทบายน อายุราว พ.ศ. 1750 แถวล่างเป็นนางในที่กำลังถือกระทง

 

หลักฐานเก่าสุดอยู่ที่เขมร

แม้ว่าไม่มีใครสามารถชี้ชัดลงได้ว่าลอยกระทงกำเนิดขึ้นเมื่อใดและมาจากไหน แต่มีความเป็นไปได้ที่ลอยกระทงเป็นพิธีขอขมาผีน้ำมาก่อน ดังจะเห็นได้จากบางท้องที่ทุกวันนี้ยังใช้กระทงรูปเรือใส่อาหารและเงินลงไปเพื่อลอยไปให้ผี

 

ต่อเมื่อรับศาสนาจากอินเดียเมื่อสัก 2,000 ปีที่แล้ว จึงแปลงผีน้ำให้เป็นพระแม่คงคา เพื่อทำให้ประเพณีศักดิ์สิทธิ์ขึ้น แต่ร่องรอยบูชาผีก็ยังเห็นได้จากการใส่เงินลงไปในกระทง

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ เชื่อว่าลอยกระทงเป็นประเพณีที่สืบมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ และไม่ใช่ของสุโขทัย เพราะไม่ปรากฏในจารึกหลักใด มีเพียงคำว่า ‘เผาเทียนเล่นไฟ’ อีกทั้งสุโขทัยเป็นเมืองแล้งน้ำ จึงต้องขุดตระพังเพื่อกักเก็บน้ำ ไม่ได้ใช้ลอยกระทงแบบที่เห็นในสื่อทุกวันนี้ แต่ลอยกระทงนั้นเป็นของเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือกรุงศรีอยุธยา

 

นางในถือกระทงเตรียมลอยกันที่ท่าน้ำ ภาพสลักหินที่ปราสาทบายน กัมพูชา

 

กรุงศรีอยุธยามีวัฒนธรรมร่วมกับเขมรอย่างสูง จึงคงจะสืบทอดประเพณีลอยกระทงมาจากเขมร เมืองพระนคร มีหลักฐานให้เห็นอยู่ที่ภาพสลักที่ปราสาทบายน (อายุราว พ.ศ.1750 เก่ากว่าสุโขทัย) เป็นรูปนางในถือกระทงเรียงกันเป็นแถว เพื่อลอยกระทงลงในแม่น้ำ เหนือภาพของนางในมีภาพของกษัตริย์นั่งในเรือ แวดล้อมด้วยนางสนมที่มีกระทงในมือ แสดงว่าลอยกระทงเป็นประเพณีที่ราชสำนักให้ความสำคัญ  

 

ภาพวาดการลอยกระทงในจีนสมัยโบราณ กระทงทำเป็นรูปดอกบัวแบบไทย

Photo: history.sina.com.cn

 

ลอยกระทงมาจากจีน?

นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า ลอยกระทงอาจมาจากจีน ดร.ศิริวรรณ วรชัยยุทธ สาขาวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า วัฒนธรรมจีนมีลอยกระทง แต่เรียกว่า ‘ลอยโคม’ (ฟั่งเหอเติง) รูปร่างของโคมก็คล้ายกับกระทงของไทย แต่ไม่ได้ลอยเพื่อขอขมาพระแม่คงคา หากแต่ลอยเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ และยังส่องทางให้ผีขึ้นมาสู่โลกมนุษย์

 

ประเพณีนี้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ราชวงศ์ถัง และแพร่หลายทั่วจีนในสมัยราชวงศ์หยวน โคมในตลาดของจีนสมัยราชวงศ์หมิง-ชิง ทำเป็นรูปดอกบัว มีทั้งลอยในแม่น้ำและทะเล นอกจากเป็นงานอุทิศส่วนกุศลให้คนตายแล้ว ยังเป็นงานสนุกสนานรื่นเริงด้วย

 

เป็นไปได้เหมือนกันว่า ลอยกระทงอาจมาจากลอยโคม พระยาอนุมานราชธนให้ความเห็นว่า การลอยกระทงนี้แต่เดิมเรียกว่า ‘ชักโคมลอยโคม’ ซึ่งปรากฏอยู่ในนางนพมาศ รูปร่างโคมจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ แต่นางนพมาศมาประดิษฐ์ให้เป็นรูปดอกบัว (พระยาอนุมานราชธน 2504:6) แนวคิดการทำกระทงรูปดอกบัวของนางนพมาศ ซึ่งเป็นวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ คงได้มาจากจีน

 

 

ทีปาวลี เป็นพิธีบูชาเทพเจ้า

ทีปาวลีถือเป็นเทศกาลแห่งแสงสว่าง และปีใหม่ของอินเดีย เพราะเป็นการเปลี่ยนฤดูจากฝนไปหนาว จึงจัดในช่วงราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

 

อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในเทศกาลนี้จะมีการจุดประทีปใส่ถ้วยเล็กๆ วางตามบ้าน ท่าน้ำ และบางที่ลอยในแม่น้ำคงคา แต่ไม่ทำเป็นรูปกระทงแบบไทยหรือจีน

 

มีเพียงเมืองพาราณสีที่เดียวที่พบว่ามีการลอยประทีปลงแม่น้ำ ประทีปนี้ทำจากใบไม้แห้งเป็นรูปทรงคล้ายชามเล็กๆ ใส่ดอกไม้ จากนั้นจึงเอาไปลอยในแม่น้ำคงคา หรือตั้งตามท่าน้ำเพื่อบูชาเทพเจ้า

 

เหตุที่คนอินเดียทำพิธีทีปาวลี เพราะมีตำนานเล่ากันว่า เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการนิวัตินครอโยธยาของพระรามและพระนางสีดา ชาวเมืองต่างปีติยินดีจึงต่างพากันจุดประทีปประดับประดาทั่วเมือง

 

แต่มีอีกความเชื่อว่า เป็นเทศกาลบูชาพระแม่ลักษมี ซึ่งเป็นเทพีแห่งความร่ำรวยและโชคลาภ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พ่อค้าจุดประทีปบูชากันมาก เพื่อหวังให้ชีวิตร่ำรวยสว่างไสว

 

ดังนั้น ทีปาวดีจึงไม่เกี่ยวกับการบูชาพระแม่คงคา หรือพุทธประวัติแต่อย่างใด

 

 

ลอยกระทง ประเพณีเชื่อมโลกวิญญาณ

ไม่ว่าจะเป็นลอยกระทง ลอยประทีป หรือลอยโคม จะพบว่าประเพณีเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับโลกหลังความตาย

 

ในจีนเชื่อว่า แม่น้ำเป็นทางเชื่อมหรือแดนต่อระหว่างยมโลกกับมนุษยโลก การลอยโคมก็เพื่อส่องทางให้ผีข้ามแม่น้ำไน่เหอ

 

มีตำนานหนึ่งน่าสนใจเล่าว่า พระมารดาของพระโมคคัลลานะได้ทนทุกข์อยู่ในนรก ด้วยความอยากช่วยพระมารดา พระโมคคัลลาจึงได้ถวายเครื่องไทยทานให้ ส่งผลให้พระมารดาพ้นทุกข์ ต่อมาในยุคราชวงศ์เหนือใต้ได้ผนวกความเชื่อนี้เข้ากับงานลอยโคม

 

ในส่วนของตำนานรอยพระพุทธบาทนั้น พระยาอนุมานราชธนได้อธิบายว่า ที่นางนพมาศลอยโคมเพื่ออุทิศสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานทีในอินเดีย ซึ่งพญานาคอัญเชิญให้พระพุทธเจ้าทรงเหยียบไว้นั้น มีการบันทึกไว้ว่า เมื่อได้สอบถามพบว่า ‘ผู้ชำนาญบาลี ก็ว่าเรื่องนี้ไม่เคยพบในที่ใดในพระคัมภีร์ เห็นจะเป็นเรื่องปรัมปราแต่งขึ้นทีหลัง เพื่ออธิบายถึงต้นเหตุลอยกระทง แต่เรื่องเงินปลีกใส่ในกระทงไม่มีกล่าวเลย และก็ไม่เห็นเหตุว่าถ้าเป็นเรื่องบูชาพระพุทธบาท ที่ใส่เงินปลีกไปด้วยเพื่อประโยชน์อันใด’ (พระยาอนุมานราชธน 6)

 

สรุปสั้นๆ คือ ลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธบาทไม่มีในอินเดีย เป็นตำนานท้องถิ่น แต่เอาเป็นว่า ตำนานนี้ก็บอกเราว่า กระทงนั้นเชื่อมโยงกับนาค ซึ่งคนโบราณถือว่า นาคหรืองูเป็นสะพานเชื่อมต่อกับโลกหลังความตาย

 

มีอีกตำนานหนึ่งที่น่าสนใจ จะขอเล่าอย่างสั้นๆ คือ เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ กาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ วันหนึ่งเกิดพายุ ไข่ของแม่กา 5 ใบจึงตกลงไปในน้ำ ไข่ทั้ง 5 ใบนี้มีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ เอาไปอุปการะอย่างละฟอง เมื่อไข่ฟักได้เกิดเป็นมนุษย์ และไปบวชเป็นฤษี ซึ่งแต่ละองค์มีนามตรงกับพระพุทธเจ้า 5 องค์ ได้แก่ กุกุตสันโธ โกนาคมโน กัสสโป โคตโม เมเตโย

 

ภายหลังเมื่อทั้งหมดตรัสรู้กลายเป็นพระพุทธเจ้า พระมารดาซึ่งกลายเป็นท้าวพกาพรหมจึงจำแลงลงมาเป็นกาเผือก และบอกลูกทั้งหมดว่า หากวันใดคิดถึงตน ในวันเพ็ญเดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกเป็นตีนกา และปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงลงในแม่น้ำ

 

สรุปตำนานข้างต้นก็คือ กระทงเป็นเครื่องสื่อสารถึงคนในโลกหลังความตาย

 

นอกจากนี้กระทงยังอาจมีต้นเค้าและสัมพันธ์กับเรือส่งวิญญาณ พระยาอนุมานราชธน (2504:8) เล่าว่า ในประเพณีของหลวงสมัยก่อนในกลางเดือน 11 จะทำเป็นกระทงรูปเรือขนาดเล็กลอยกัน

 

ทางภาคเหนือในวัดใหญ่หลายหมู่บ้านจะจัดทำกระทงใหญ่เป็นรูปเรือ เรียกว่า ‘สะเปา’ (คำนี้คงมาจากคำว่า สำเภา) ซึ่งจะตั้งไว้กลางลานวัด ภายในบรรจุของกินของใช้เอาไว้ จากนั้นเมื่อตกเย็น ชาวบ้านก็จะนำกระทงเล็กพร้อมกับเรือสะเปาไปล่องในแม่น้ำ โดยมีเป้าหมายอย่างหนึ่งคือเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษ (ปัจจุบันการลอยสะเปาบางที่ถูกจัดเป็นประเพณีใหญ่โต เพราะการท่องเที่ยวและกระแสท้องถิ่นนิยม)

 

แต่เมื่อผู้คนในภูมิภาคนี้รับความเชื่อในศาสนาพุทธจากอินเดียมา จึงได้ผสมผสานความเชื่อเดิม และอธิบายเสียใหม่ว่าลอยกระทงทำไปเพื่อขอขมาพระแม่คงคา หรือบูชาพระพุทธบาทนั่นเอง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

ค้นคว้าเพิ่มเติมได้จาก

  • พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, บรรณาธิการ. 2558. ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก. กรุงเทพฯ: โครงการศิลป์เสวนาพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ที่ http://arts.tu.ac.th/culture/Master%20Kratong4.pdf
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. “ลอยกระทง, เห่เรือ มาจากไหน?,” ใน ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก. กรุงเทพฯ: โครงการศิลป์เสวนาพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
  • ศิริวรรณ วรชัยยุทธ. “ลอยโคม-ลอยกระทงในแบบวัฒนธรรมจีน,” ใน ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก. กรุงเทพฯ: โครงการศิลป์เสวนาพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
  • กิตติพงศ์ บุญเกิด. “เทศกาลทีปาวลี และเทวทีปาวลีของอินเดีย,” ใน ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก. กรุงเทพฯ: โครงการศิลป์เสวนาพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
  • พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ). 2504. เทศกาลลอยกระทง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X