×

ครม. มีมติลดภาษีสุรา-ไวน์ พร้อมปรับหลักเกณฑ์ตรวจสินค้าคืนภาษี ส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย

โดย THE STANDARD TEAM
02.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (2 มกราคม) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและรับทราบ 2 มาตรการส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายได้โดยเร็ว ประกอบด้วย

 

1. การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต

 

1.1 สินค้าสุรา

 

  • สุราแช่ชนิดไวน์และสปาร์กลิงไวน์ที่ทำจากองุ่น ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว โดยปรับให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 5 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 1,000 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 

 

  • สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 900 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 

 

  • สุราแช่ชนิดอื่นๆ จากเดิมจัดเก็บภาษีอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ให้กำหนดอัตราภาษีโดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย ดังนี้
    • อุ กะแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 
    • สุราแช่ ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 255 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
    • ทั้งนี้ สุราแช่อื่นๆ กำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

 

  • สุราแช่ที่มิใช่เพื่อการค้า ได้มีการปรับโครงสร้างและอัตราภาษีให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างภาษีและอัตราภาษีในครั้งนี้ โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณเท่ากับอัตราภาษีของสินค้าสุราแช่ ระยะเวลาในการดำเนินการ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

1.2 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ

 

  • โดยปรับลดอัตราภาษีตามมูลค่าจากอัตราร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 5 สำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ได้แก่ ไนต์คลับ, ดิสโก้เธค, ผับ, บาร์ และค็อกเทลเลานจ์ โดยให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 00.00 น. เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ให้สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 จะกลับมาใช้อัตราภาษีตามมูลค่าเดิมคือร้อยละ 10)

 

1.3 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์

 

  • กำหนดให้ยกเว้นอากรศุลกากรสินค้าไวน์ทุกชนิดตามประเภทพิกัด 22.04 (ไวน์ที่ทำจากองุ่นสด และเกรปมัสต์) และ 22.05 (เวอร์มุท และไวน์อื่นๆ ที่ทำจากองุ่นสด ปรุงกลิ่นรสด้วยพืชหรือสารหอม) รวมทั้งสิ้น 21 ประเภทย่อย และให้ลดอัตราอากรจากร้อยละ 60 เป็นยกเว้นอากร ให้มีผลใช้บังคับพร้อมร่างกฎกระทรวงฯ ตามข้อ 1.1 

 

2. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

  • ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เรื่องกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้ที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักรขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตาม ม.84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 และให้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 สรุปได้ดังนี้

 

    • ปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี หรือลดลงประมาณร้อยละ 75
  •  
    • ปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากร 9 รายการ ได้แก่ เครื่องประดับ, ทองรูปพรรณ, นาฬิกา, แว่นตา, ปากกา, สมาร์ทโฟน, แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต, กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) และเข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เป็น 40,000 บาทขึ้นไป และปรับเพิ่มมูลค่าของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เป็น 100,000 บาทขึ้นไป

 

ชัยกล่าวว่า ในภาพรวมมาตรการดังกล่าวที่กระทรวงการคลังเสนอ จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 401 ล้านบาทต่อปี และ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0073

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X