ได้อ่านข่าวเรื่องว่าที่เจ้าบ่าวไปยิงว่าที่เจ้าสาวก่อนแต่งงาน 4 วัน โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากแต่งงาน และเหมือนถูกฝ่ายหญิงบังคับให้แต่ง
ตามข่าวเล่าว่าทั้งคู่เป็นแฟนกันมาตั้งแต่เรียนมัธยม ฝ่ายหญิงเป็นหมอ เป็นผู้หญิงที่ดี เป็นลูกที่ดี ส่วนฝ่ายชายมีกิ๊กในที่ทำงานเดียวกัน จากนั้นเรื่องสืบไปถึงว่ากิ๊กมีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการฆ่า
ในที่นี้คงไม่สามารถออกความเห็นใดๆ ได้ เพราะเรื่องเช่นนี้ย่อมสลับซับซ้อนเกินกว่าคนนอกอย่างเราจะเข้าใจ แต่ที่แน่ๆ การฆ่าคนเป็นอาชญากรรม ผู้ฆ่าก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย และที่ทุกคนพึงเห็นพ้องต้องกันคือ ความขัดแย้งใดๆ ในโลกไม่พึงต้องยุติลงด้วยการ ‘ฆ่า’ (แม้ในหลายกรณีที่ผู้ทำงานเรื่องสิทธิของผู้หญิงต้องพยายามช่วยเหลือผู้หญิงที่ลุกมาฆ่าสามีของเธอ เนื่องจากถูกสามีทารุณกรรมมาต่อเนื่องยาวนาน จนวันหนึ่งเธอเหล่านั้นต้องลุกขึ้นสู้ด้วยการฆ่าสามีเสีย)
ประเด็นที่อยากจะเขียนถึงในที่นี้คือ ผู้หญิงกับการแต่งงาน และการได้ครอบครองผู้ชาย
เราไม่มีทางรู้ว่า มันจริงหรือเปล่าที่ผู้ชายบอกว่าไปฆ่าผู้หญิงเพราะไม่อยากแต่งงาน เพราะคนตายไม่มีสิทธิ์ออกมาแก้ต่าง แต่ข่าวนี้ก็ทำให้ฉันรู้สึกทั้งอยากบอก ทั้งอยากตะโกนถามผู้หญิงทุกคนว่า
เฮ้ยยยยย ทำไมเราต้องแต่งงาน? ทำไมเราต้องมีผัว ถ้าผู้ชายคนหนึ่งไม่อยากแต่งงานกับเรา ทำไมเราไม่ปล่อยไอ้นั่นออกไปจากชีวิตเรา จะไปเหนี่ยวรั้ง บังคับ ขัดขืนเพื่อ?
แล้วทุกครั้งที่ฉันดูละครโทรทัศน์ไทย มันก็ยังต้องมีเรื่องราวว่าด้วยผู้หญิงจำนวนสองคน สามคน เที่ยวไปมะรุมมะตุ้ม ไปแย่ง ไปทึ้ง ไปตบตีต่อกันเพื่อจะได้ครอบครองผู้ชาย จากนั้นละครก็สอนให้เรารู้ว่า ‘ใครได้ คนนั้นชนะ’
คำถามต่อไปคือ เดี๋ยวนะ ผู้ชายคือสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของผู้หญิงตั้งแต่เมื่อไร แค่การมีจู๋เป็นของตนเองนี่ชนะแล้วเหรอ? ชีวิตผู้หญิงหนึ่งคนไม่มีอะไรให้แสวงหาท้าทายมากกว่านั้นเหรอ?
กลับมาที่เรื่องการแต่งงาน
ใช่ ความรักเป็นเรื่องสวยงาม การสร้างครอบครัวเป็นเรื่องสวยงาม การมีครอบครัวสุขสงบเป็นเรื่องสวยงาม แต่มันไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องไปยืนบนเส้นทางสายนี้
และมันน่าเศร้ายิ่งที่ลัทธิความรัก เพศสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง และการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวอันเป็นเพียงหนึ่งในวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับเซ็กซ์ ครอบครัว ความรัก ท่ามกลางวิถีอื่นๆ อีกนับพันๆ แบบในโลกนี้ถูกเชิดชูขึ้นเป็นบรรทัดฐานหลักบรรรทัดฐานเดียวมาต่อเนื่องกว่า 200 ปี จนท้ายที่สุดเป็นมากกว่าบรรทัดฐาน นั่นคือกลายเป็น ‘ศีลธรรม’ ที่เราไม่จำเป็นต้องท้าทายหรือตั้งคำถามแล้ว และใครก็ตามที่ไม่สามารถอยู่ใน ‘ศีลธรรม’ ได้ก็จะถูกจัดประเภทเป็นพวกไร้ศีลธรรม ไร้ยางอาย ไร้การควบคุมตนเอง ต่ำกว่าสัตว์ ไม่สมบูรณ์ บกพร่อง ฯลฯ
แน่นอน เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบของรัฐและกฎหมายสมัยใหม่ทั้งหมดทำให้ พลเมืองของรัฐต้องเข้าสู่บรรทัดฐานของการเป็นหญิง-ชาย แต่งงานได้ทีละครั้งกับทีละคน และรัฐก็อยากให้เรามีลูก เพราะรัฐต้องการพลเมือง รัฐก็อยากให้เราเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครอบครัว เพื่อใช้สถาบันครอบครัวอุ้มชูความมั่นคงและความต่อเนื่องของรัฐสืบไป แต่รู้อย่างนี้แล้วเราควรจะคิดได้ใช่ไหมว่า เออ ถ้าอย่างนั้นไอ้เรื่องผัวเดียวเมียเดียว หรือการที่เราเกิดมาแล้วต้องแต่งงานมีลูกเนี่ย มันไม่ใช่ ‘ศีลธรรม’ หรือไม่ใช่ ‘ธรรมชาติ’ มันเป็นกลไกหนึ่งของรัฐ มีกฎหมาย มีระบบทางสังคม (เช่น โรงเรียน) มาขับเคลื่อน ดังนั้นหากเรารู้สึกว่า เฮ้ย เราไม่เหมาะกับสิ่งนี้หรอก เราก็ควรมีสิทธิ์มองหาทางเลือกอื่นๆในการมีความรัก มีชีวิต มีครอบครัว มีเพศสัมพันธ์แบบอื่นๆ
คืออ้างว่าที่มนุษย์ต้องมีผัวมีเมียทีละคนเพราะต้องทำตามกฎหมาย ก็ยังจะฟังขึ้นเสียยิ่งกว่ามาอ้างเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม
แต่ก็ต้องอย่าลืมว่ารัฐไม่ได้บังคับให้เราต้องมีผัวหรือมีเมีย การเป็นโสดไม่ผิดกฎหมาย แล้วไยเรา โดยเฉพาะผู้หญิงถึงอยากมีผัวกันนักกันหนา มีแล้วก็ทั้งหึงทั้งหวง ดูน่าเวทนาเอามากๆ ยิ่งเวลาพวกผัวๆ เอาเรื่องความหึงของเมียมาเป็นมุกล้อเลียน ความเวทนานี้ก็จะยิ่งทับถมทวีคูณ ฟังทีไรฉันก็จะรู้สึกว่าชายเหล่านั้นกำลังเบ่งอวัยวะเพศของตนเองให้พองๆ ใหญ่ๆ พร้อมประกาศศักดาว่า “เฮ้ย นี่ของดีนะเว้ย ใครก็อยากได้”
สำหรับฉัน การที่มนุษย์เกิดมาทั้งทีแล้วมองไม่เห็นทางเลือกอื่นของการใช้ชีวิตนอกจากทางที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมนั้นมันคือโศกนาฏกรรม และในหลายกรณี มันก็กลายเป็นโศกนาฏกรรมไปจริงๆ เช่น กรณีว่าที่เจ้าบ่าวไปยิงว่าที่เจ้าสาว หรือแม้กระทั่งการฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในความรัก
มันเป็นโศกนาฏกรรมอย่างสาหัสมากๆ หากเราจะคิดว่าความรัก เมื่อเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เปลี่ยนใจไม่ได้ หรือต้องนำมาซึ่งการครอบครอง เป็นเจ้าของอย่างไร้เงื่อนไข ต้องแต่งงาน เป็นของกันและกันตลอดกัลปาวสานเท่านั้น
เขียนอย่างนี้อาจมีคนเถียงว่า เฮ้ย ขืนไม่ทำอย่างนี้ โลกคงปั่นป่วนฉิบหายเลย
ซึ่งทำให้ต้องขอชี้แจงต่อไปว่า อืม ถ้าชอบการแต่งงานแบบบรรทัดฐานและทำได้ อยู่กับมันได้ ไม่เดือดร้อน ไม่ทุรนทุราย ไม่แอบไปมีเมียน้อย ไม่เคยเบื่อ รู้ว่าดี ชอบ ง่ายดี ไม่ปวดหัว ก็เลือกการแต่งงานแบบนั้น
แต่ไม่ได้แปลว่าการแต่งงานแบบนั้นคือศีลธรรมชุดเดียวที่ทุกคนต้องทำตามกันไปหมด แล้วคนที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะ fit in กับระบบนี้ หรือโครงสร้างพื้นฐานในชีวิตไม่เอื้อจะให้หล่อเลี้ยงชีวิตแต่งงานแบบนี้ได้ก็ต้องพยายามเอาตัวไปยัดๆ ไว้ในกรอบ สุดท้ายก็นำมาสู่การแหกกรอบแบบไร้ทิศทาง เละตุ้มเป๊ะอยู่นั่นเอง
อ้าว ถ้าเป็นแบบนี้ สิ่งที่ฉันแนะนำคือสำส่อนไปทั่วเหรอ?
คำตอบคือใช่และไม่ใช่ แต่ฉันกำลังจะบอกว่าชีวิตของมนุษย์แต่ละคน เราควรทำเทเลอร์เมดให้ตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องพยายามยัดตัวเองลงไปในเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่โรงงานเขาตัดมาแล้ว จะดีกว่าไหมถ้าเราค่อยๆ ทำความรู้จักตัวเอง ทำความเข้าใจเงื่อนไขของตัวเราเอง ไปจนถึงค่อยๆ เรียนรู้ว่า เออ เราต้องการอะไรในชีวิต การใช้ชีวิตแบบไหนที่เราสบายใจกับมันมากที่สุด และนั่นหมายความว่าความเข้าใจเหล่านั้นย่อมมีพลวัตรด้วยตัวของมันเอง เปลี่ยนแปลงได้ ปีนี้รู้สึกว่าแบบนี้ดี ปีหน้าอาจจะเห็นว่าอีกแบบดีก็ไม่เห็นจะเป็นไร ตราบที่เราตระหนักในการทำความเข้าใจกระบวนการเหล่านี้ในตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ
และจะทำอย่างนั้นได้ มีอะไรที่เราควรเดินออกมาจากชุดเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สังคม ‘ตัด’ ไว้รอเราบ้าง
อัตลักษณ์ทางเพศแบบตายตัว
เลิกมองว่าตัวเราเป็นหญิง ชาย เกย์รุก เกย์รับ กะเทย ทอม ดี้ ไบ ฯลฯ เลิกยึดว่าเราจะเป็นอะไร จากนั้นเราก็สามารถรักใครก็ได้ถ้าเรารู้สึกว่า เออ ชอบคนนี้ รักคนนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเอาอัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นกรอบว่า เฮ้ย ชั้นเป็นทอม เลยต้องจีบแต่ดี้ หรือฉันเป็นเกย์ ก็ต้องเป็นแฟนกับคนที่เป็นเกย์ด้วยกันสิ ล่าสุดเพิ่งได้อ่านบทสัมภาษณ์ผู้ชายคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาชอบจูบกับผู้ชาย แต่ถ้ามีการสอดใส่ ชอบการสอดใส่กับผู้หญิงมากกว่า ซึ่งอ่านแล้วมันเมกเซนส์มากๆ ว่า อืม ถ้าคนเราปล่อยวางกรอบกรงขังว่าฉันเป็นไอ้นี่ไอ้นั่น เราอาจจะมีโอกาสเผชิญหน้ากับ sensations ทั้งปวงในตัวเราอย่างซื่อตรงมากขึ้น และนำไปสู่การมีเซ็กซ์ที่มีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญ การปล่อยวางกรอบเกณฑ์เหล่านี้อาจจะทำให้เรามีโอกาสเจอคนที่เป็น soulmate ที่ก่อนหน้านี้เราไม่เจอ เพราะมัวแต่ไปยึดติดว่าเขาอาจเป็นเกย์ แต่เราเป็นหญิง เป็นแฟนกันไม่ได้
การแต่งงานไม่ใช่การตีตราเป็นเจ้าของ แต่หมายถึงการบริหารชีวิตร่วมกันของคนคู่หนึ่ง
ไม่พึงคิดว่าการแต่งงานคือการปักธงจับจองเป็นเจ้าของอย่างไร้เงื่อนไข ไร้การเปลี่ยนแปลง เขาเป็นของเรา เราเป็นของเขา ผัวข้าใครอย่าแตะ เมียข้าใครอย่ามอง (แต่ถ้ามีปัญหาในเชิงรูปธรรม เช่น ทรัพย์สิน มรดก กิจการ เงินทอง ที่ดิน ก็โฟกัสไปที่เรื่องทางกายภาพเหล่านี้ในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกรรม แต่ไม่ใช่เพราะการเป็นผัว-เมียในความหมายของการเป็นเจ้าของชีวิตกันและกัน)
ลองตรองดูเถิด ในหลายกรณีที่เราเห็นผู้หญิงตบตีด่าทอกันแทบตายเรื่อง ‘แย่งผัว’ กัน หันไปมองหน้าผัวที่แย่งๆ กันนั้นก็เข่าทรุดว่า เดี๋ยว นี่แย่งไปทำเป็นส่วนผสมอาหารเป็ดเหรอ? ดูสิ้นสภาพ สิ้นประโยชน์ขนาดนั้น ถ้ามีคนอยากได้ก็น่าจะรีบยื่นให้แล้วแถมเงินไปอีกก้อน แต่เป็นเพราะเรามัวแต่ไปคิดว่า ถ้านี่คือผัวเรา ถ้านี่คือเมียเรา มันต้องเป็นของเรา การที่คนอื่นมาแย่งไปถือเป็นการหยามน้ำหน้า หมิ่นเกียรติ ดูถูกกัน หากคิดเช่นนี้ก็ต้องทบทวน อาการหึงอัตโนมัตินี้เกิดเพราะเราไม่อยากเสียคนนี้ไปจากชีวิต หรือแค่เราไม่อยากสูญเสียอีโก้ของตนเองเท่านั้น
หนัง ละคร นิยายก็เพลาๆ การสร้างพล็อตที่ให้ผู้หญิงมาตบแย่งผู้ชายกันวันยังค่ำเสียที หรือถ้าหนัง นิยาย ละคร เขาไม่เลิกเขียน เลิกทำ ผู้หญิงก็ควรเดินออกมาจากการครอบงำนั้นด้วยตนเอง
การแต่งงานไม่ใช่หมุดหมายแห่งความสำเร็จในชีวิต
รางวัลสำหรับชีวิตผู้หญิงไม่ได้อยู่ที่มีชายสักคนมาคุกเข่าขอเราแต่งงาน มีงานแต่งงานแบบเจ้าหญิง-เจ้าชายอย่างในหนังฮอลลีวูด ไม่ใช่เลย คือถ้าจะมีก็แค่ อืม… เป็นเหมือนต่างหู กำไล มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่เสียหาย (ที่ต้องเน้นผู้หญิงเพราะในวาทกรรมกระแสหลัก ผู้หญิงถูกกระทำจากประเด็นนี้มากกว่าเพศสภาพอื่น) แต่ไม่ใช่แก่นแกนของชีวิต
ถ้าอยากมีลูก สมัยนี้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ก็ทำให้ผู้หญิงมีลูกได้โดยไม่ต้องมีผัว ในเมืองไทยอาจจะยังผิดกฎหมาย แต่ถ้าเราอยากได้ก็ควรไปผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายตัวนี้เสีย
ผู้หญิงควรสนุกกับชีวิตและควรได้เป็นเจ้าของชีวิตตัวเองตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า โดยไม่ต้องคิดต้องแคร์ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ เดี๋ยวหาแฟนไม่ได้ เดี๋ยวไม่ใครเอาไปเป็นเมีย
ส่วนผู้ชาย ฉันก็ไม่ค่อยรู้จริงๆ ว่าผู้ชายเขาอยากมีเมียไปทำไม? กลัวเหงา? กลัวไม่มีคนทำอาหารให้กิน อยากมีลูก หรือคิดว่าเครื่องสมโภชอย่างหนึ่งของความเป็นชายคือ ‘เมีย’ ไม่อย่างนั้นแล้วมันเป็นชายไม่เต็มชาย หรือท้ายที่สุด กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในระบอบชายเป็นใหญ่นั่นแหละที่หวนกลับมาทำร้ายผู้ชายเอง นั่นคือ ผู้ชายถูกเลี้ยงดูมาให้ต้อง ‘พึ่งพิง’ ใครสักคนอยู่เสมอ ผู้ชายอยู่ไม่ได้หากไม่มี ‘แม่’ ดังนั้นพวกเขาต้องหาแม่คนที่สอง
และแม่คนที่สองนี้ต้องแสดงบทบาทเป็นลมใต้ปีก หรือล่าสุด บทบาทของน้องก้อยที่มีให้พี่ตูนนั้นก็น่าจะเป็นบทบาทเมียในอุดมคติของสังคมไทยไปอีกยาวนาน ผู้ชายไทยก็คงอยากมีเมียแบบก้อยที่อยู่เคียงข้างสามีอย่างไร้เงื่อนไข และอุทิศชีวิตนี้ให้กับสามีไปโดยสิ้นเชิง ผู้หญิงก็อยากมีสามีแบบพี่ตูนที่รักเดียวใจเดียว ให้เกียรติภรรยาอย่างยิ่ง
ไม่ได้แปลว่าฉันต่อต้านการมีชีวิตคู่หรือคี่ ในกรณีที่อาจมีบางพาร์ตเนอร์อยู่กัน 3 คนหรือ 4 คนก็ยังได้ แต่การประกอบ ‘ครอบครัว’ บนฐานของความรัก กามารมณ์ ไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปแบบของการแต่งงานและการเป็นครอบครัวผัวเดียวเมียเดียวเสมอไป แต่ละปัจเจกบุคคลพึงสามารถออกแบบชีวิตครอบครัวของตนให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของเราเองได้ และที่สำคัญ การอยู่ตามลำพังเป็นโสดไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวและไร้ซึ่งความสุขแต่อย่างใดเลย เพียงแต่ที่ผ่านมาคนโสดทำให้ดูทุกข์และหม่นหมอง เพราะคนโสดเองไปสมาทานมาตรฐาน ‘ความสุข’ ของสังคมที่ถือว่าการมีคู่เป็นปทัสถานต่างหาก จึงทำให้การทำอะไรคนเดียวหรืองานเทศกาลทั้งหลายดูเป็นนรกสำหรับคนโสด
ทิ้งปทัสถานนั้นไปได้ก็จะพบว่า การไม่มี ‘แฟน’ มันโคตรสนุก โคตรคล่องตัว
การเลิกราเป็นเรื่องที่ดี
ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร เราจะมีกันและกันไปจนวันตาย เราจะแก่ไปด้วยกัน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นชุดคำพูดสำเร็จรูปที่ทำให้การ ‘คบหา’ กันของมนุษย์บิดเบือนไปจากความเป็นจริง มันช่างไม่ realistic เอาเสียเลย
ไม่ได้แปลว่าไม่มีคู่ที่เขาอยู่กันจนแก่แล้วก็ยังรักกัน มีความสุขกัน แต่ที่เขาอยู่กันจนแก่และยังรักกันมากๆ ก็เพราะนั่นคือสภาวะความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดเพราะไปสัญญิงสัญญาอะไรกันเอาไว้ เขาอยู่ก็เพราะอยากอยู่ อยู่แล้วมีความสุข
นึกออกไหม ถ้าคนไม่อยากอยู่ด้วยกันแล้ว จะให้สาบานไว้แน่นหนาแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องเลิกกัน หรือถ้าฝืนอยู่ ทนอยู่ เพราะคิดว่าได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้แล้ว ไม่กล้าแหกคำสัญญา ก็ลองคิดดูก็แล้วกันว่าชีวิตคู่นั้นจะนรกแตกชวนให้เฉาตายแค่ไหน
สิ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์มีสุขภาพดีน่าจะเป็นการตระหนักว่า หากความสัมพันธ์นี้ไม่ลงตัว และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความสุข สิ่งที่ดีที่สุดคือการยุติมันเสีย
ความรักนั้นเหมือนอากาศ มันลอยอยู่รอบตัวเรา ตักตวงมาใช้ได้ไม่มีวันหมด ถ้าความรักกับคนนี้หมด เราก็เริ่มรักใหม่กับคนอื่นได้อีก ไม่เห็นจำเป็นว่าความรักต้องเป็นอมตะมหานิรันดร์กาลอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
การเลิกกับใครสักคนก็เหมือนการรีเซตระบบ สิ่งที่ควรทำไม่ใช่มาคร่ำครวญว่าชีวิตล่มสลายแล้วเจ้าเอย แต่คือการกระฉับกระเฉงชีวิตขึ้นมาใหม่เหมือนงูลอกคราบ สดชื่นจะตาย และพึงรู้ว่าเราสามารถมีรักครั้งใหม่ ครั้งใหม่ ครั้งใหม่ ได้อีกจนเราหมดลมหายใจนั่นแหละ
การนอกใจเป็นเรื่องธรรมดา
แฟนเราไปนอนกับคนอื่น? แล้วไง? มันไม่ได้มีอะไรแตกหักเสียหายสักหน่อย ไม่ใช่ไปนอนกับคนอื่นมาครั้งหนึ่งแล้วจู๋จะสั้นลงทีละมิลฯ จนค่อยๆ หายไป หรือเมียเราไปนอนกับคนอื่นแล้วจิ๋มจะหดๆ ลงไปจนไม่เหลืออะไรเลย ไปมีอะไรกับคนอื่นก็ยังกลับมาเป็นชิ้นเป็นอันครบสามสิบสองอยู่ หรือถ้าไปนอกใจแล้วกลับมาไม่ครบสามสิบสอง แถมเงินหาย โดนหลอก โดนโกง อันนั้นก็ควรมานั่งคิดว่า เออ ต้องเลิกกับมันแล้วล่ะ ไม่ใช่เลิกเพราะมันนอกใจ แต่เลิกเพราะเราไม่ควรมีชีวิตอยู่กับคนโง่ หรือนอกใจเราไปนอนกับคนอื่นแล้วไม่อยากมีเซ็กซ์กับเราอีกต่อไป ให้ย้อนกลับไปอ่านข้อความข้างบนทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ควรไปนอนกับคนที่อยากนอนกับเราเท่านั้นเอง
เปิดใจสักนิดอาจพบว่าเพศสัมพันธ์นอก ‘คู่’ อาจช่วยให้ชีวิตคู่ (หรือไม่คู่) รื่นรมย์ขึ้น และทำให้โฟกัสของการใช้ชีวิตร่วมกันกระจายไปอยู่ในจุดอื่นๆ ของชีวิตนอกจากเรื่องการเอากัน ถึงที่สุด การมีเซ็กซ์กันมันอาจเป็นแค่น้ำโซดาซู่ซ่าๆ แต่ไม่ใช่อาหารหลัก ไม่ใช่แก่นสารที่จะเอาไว้นิยามชีวิตครอบครัวว่าจะอยู่หรือไปเพราะเรื่องนี้
หรืออาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่สามารถมีเซ็กซ์กับคนได้มากกว่าหนึ่งคนในเวลาเดียวกัน โดยไม่ได้กระทบต่อความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับคนที่เขาเลือกใช้ชีวิตอยู่ด้วย ตรงนี้เองที่ฉันบอกว่าลองถอยจากปทัสถานเดิม แล้วค่อยๆ ทำความรู้จักตัวเองไปเรื่อยๆ
ถ้าจะมีใครสักคนไม่อยากแต่งงานกับเราก็ปล่อยเขาไปเถอะ อย่าให้ต้องเกิดเหตุมายิง มาฆ่ากัน และคนเราก็ไม่ควรจะต้องไปยิง ไปฆ่าใคร เพียงเพราะเขาไม่ใช่คนที่เราอยากอยู่ด้วย
ออกแบบเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับตัวเอง หาผ้า หาร้านตัดผ้า ค่อยๆ เย็บ ค่อยๆ สอย ค่อยๆ เรียนรู้ว่าเสื้อผ้าแบบไหนที่เราใส่แล้วสวยที่สุด มีความสุข สบายตัวที่สุด และเสื้อผ้าชุดนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร