ในฐานะมนุษย์ที่ต้องดำรงชีพด้วยน้ำและอาหาร เราอาจให้ความสำคัญกับอาหารที่สะอาดและปลอดภัยเท่านั้น แต่ในวันที่การบริโภคของเรากำลังสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และยังสามารถเป็นตัวชี้วัดความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน จึงเป็นที่มาของบทบาทหน้าที่โดยชอบธรรมในฐานะผู้บริโภค ที่ควรให้ความสำคัญกับความโปร่งใสของข้อมูลและที่มาของอาหาร จะได้มั่นใจว่าอาหารที่เราซื้อปลอดภัยจริง และผลิตด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เป็นธรรมต่อโลก ต่อสังคม และต่อเรา
วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้บริโภค คุณก็แค่ต้องเพิ่มปัจจัยในการเลือกใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตที่ให้มากกว่าความสะดวกสบายหรือราคาที่ดึงดูดใจ แต่จะต้องให้ความโปร่งใสของข้อมูลและที่มาของแหล่งอาหารอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่ชัดเจนของเรา ยิ่งส่งพลังมากยิ่งทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตยกระดับมาตรฐานที่ดีให้ดียิ่งขึ้น
ฝั่ง ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอาหารไทย ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ด้วยการสร้างมาตรฐานและกฎเกณฑ์ในการดำเนินงาน ไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยแต่ต้องดูกันตั้งแต่ที่มา กระบวนการผลิต ขั้นตอนของการเพาะปลูก การเลี้ยง การขนส่ง การแปรรูป การจัดจำหน่าย เพราะทั้งหมดไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยของอาหาร แต่เป็นปัญหาแวดล้อมเชิงโครงสร้างที่สร้างผลกระทบมากมาย เพราะหากซูเปอร์มาร์เก็ตให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของบริษัทเอง รวมถึงการคัดเลือกสินค้า ผู้ผลิต และคู่ค้า ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และคุณธรรม จริยธรรมทางสังคมได้มากที่สุด ย่อมสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับวงการอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน
และเพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ จึงเป็นที่มาของการเกิดตัวชี้วัดและองค์กรในการประเมินมาตรฐานของ ‘ซูเปอร์มาเก็ต’ ภายใต้แคมเปญ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ ซึ่งทำโดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ Oxfam (อ็อกแฟม) ประเทศไทย ด้วยการจัดทำรายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นประจำทุกปี ซึ่งปี 2564 ดำเนินการเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยใช้หลักการประเมินแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อ ได้แก่ นโยบายด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ นโยบายแรงงาน นโยบายด้านผู้ผลิตรายย่อย นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายด้านความปลอดภัยทางอาหาร และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคของ 8 ซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำของไทย ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า โดยให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
จากผลคะแนนการประเมินในปีนี้ โลตัสสามารถคว้าคะแนนอันดับหนึ่งด้วยคะแนนรวม 35.83 คะแนน สูงสุดในกลุ่ม 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของไทย จากการประเมินนโยบายและแนวปฏิบัติทั้ง 7 ตัวชี้วัดหลัก โลตัสยังสามารถทำคะแนนสูงสุดมากถึง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านความรับผิดชอบและความโปร่งใส ด้านแรงงาน ด้านเกษตรกรรายย่อย ด้านเพศ และด้านผู้บริโภค
สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืนและกฎหมาย ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย เผยว่า “ในฐานะห้างค้าปลีก โลตัสมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง จากแหล่งที่ยั่งยืนในราคาที่เอื้อมถึง เราจะเดินหน้าเพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจของเราอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าของเราผ่านทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการดูแลเพื่อนพนักงาน คู่ค้า ผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกรไทย ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อม
“นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าแล้ว การเปิดเผยนโยบายและข้อปฏิบัติให้เป็นสาธารณะ รวมถึงการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใสกับทุกภาคส่วนก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง โลตัสขอขอบคุณ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ Oxfam (อ็อกแฟม) ประเทศไทย ที่ได้จัดทำแคมเปญผู้บริโภคที่รักอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย ยกระดับนโยบายและแนวทางปฏิบัติในด้านความยั่งยืนและธรรมาภิบาลของโลตัส ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการรายย่อย พนักงาน ชุมชน ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อม”
ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา โลตัสมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อลูกค้า เพื่อนพนักงาน คู่ค้า ชุมชนรอบข้าง สังคม และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยเราจะพาไปดูตัวอย่างของนโยบาย การดำเนินงาน และแนวทางการปฏิบัติบางส่วน ที่ทำให้โลตัสได้คะแนนสูงสุดใน 5 ด้าน
- ด้านความรับผิดชอบและความโปร่งใส
โลตัสตระหนักถึงความสำคัญของความรับผิดชอบและความโปร่งใส ซึ่งโลตัสได้มีการจัดตั้ง ‘สายตรงโปร่งใส (Protector Line)’ เพื่อเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสในเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย ผิดจรรยาบรรณการประกอบธุรกิจ ทุจริตคอร์รัปชัน การละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำผิดนโยบายหรือระเบียบบริษัท การทำร้ายและคุกคามทางเพศ การกระทำผิดหรือเอื้อประโยชน์ให้กับคู่ค้า ซึ่งเน้นย้ำถึงการคุ้มครองและการรักษาความลับของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูล และสามารถรับเรื่องร้องเรียนได้ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ เมียนมา และกัมพูชา
โลตัสตระหนักดีว่ากลไกการร้องเรียนเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบ และติดตามการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบขององค์กร และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงดำเนินกลไกตามหลักการของ UNGP เพื่อเป็นช่องทางให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียม มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ รวมถึงพนักงานและแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของโลตัสด้วย
- ด้านแรงงาน
โลตัสส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงาน และการรับรองสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองอย่างจริงจัง ส่งเสริม สนับสนุน และหาแนวทางเพื่อต่อต้านการใช้แรงงานเกณฑ์ และแรงงานที่ใช้การบังคับในทุกรูปแบบ ส่งเสริม รวมไปถึงสนับสนุนและหาแนวทางเพื่อต่อต้านการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง
- ด้านเกษตรกรรายย่อย
นอกจากโลตัสจะมีโครงการรับซื้อตรงจากเกษตรกรในกลุ่มสินค้าเกษตรประเภทผัก บนหลักการการซื้อขายอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส โลตัสยังมุ่งมั่นดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรตามหลัก ‘การตลาดนำการผลิต’ เริ่มตั้งแต่ ร่วมวางแผนเพาะปลูกให้กับเกษตรกร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละสัปดาห์ ช่วยสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าตามมาตรฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเจรจาราคาและปริมาณสินค้าที่เกษตรกรสามารถผลิตได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรจะได้กำไร และบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรได้
ไม่แต่เฉพาะเรื่องการผลิต โลตัสยังสนับสนุนอุปกรณ์ตรวจสอบสารเคมีตกค้าง สอนวิธีการตรวจสอบ และกำหนดแผนการตรวจก่อนเก็บเกี่ยว ให้มั่นใจได้ว่าสินค้าจากการรับซื้อตรงจากเกษตรกรเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพสินค้าอาหารของโลตัส โดยไม่มีสารเคมีตกค้าง จนถึงขั้นตอนการแพ็กสินค้า ออกแบบ และจัดตั้งโรงคัดบรรจุแพ็กตามหลัก GMP และวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โลตัสจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ อาทิ SMEs Business Matching จับคู่เจรจาธุรกิจการค้าทุกเดือน การจัดตลาดนัดให้ผู้ประกอบการได้วางจำหน่ายสินค้า SMEs สินค้า OTOP และการให้พื้นที่ศูนย์การค้าฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- ด้านเพศ
โลตัสให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องเพศอย่างจริงจัง ผ่านการลงนามและการวางแนวทางการดำเนินงานภายในองค์กร อาทิ ลงนามพันธสัญญาส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงคำมั่นสัญญาต่างๆ อาทิ ปฏิบัติต่อหญิงและชายในที่ทำงานทุกคนอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมการศึกษา ฝึกอบรม และการพัฒนาวิชาชีพสำหรับสตรี
ภายในองค์กรมีนโยบายที่เกี่ยวกับข้องกับการจ้างงาน การอบรม การเลื่อนตำแหน่ง ที่ชัดเจนว่าทุกเพศได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม รวมถึงนโยบายด้านการป้องกันการล่วงละเมิดและคุกคามบนฐานของความแตกต่างเชิงเพศสภาพ ไปจนถึงการสนับสนุนความหลากหลายในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ ศาสนา เชื้อชาติ และความเชื่ออื่นๆ
- ด้านผู้บริโภค
นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เช่น สินค้าแบรนด์โลตัสกลุ่มอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผัก และผลไม้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งผู้ผลิตได้ โดยมีข้อมูลที่ชัดเจน มีฉลากผลิตภัณฑ์ให้ข้อมูลโภชนาการอาหารชัดเจน และมีข้อมูลเกี่ยวกับคุณประโยชน์ทางโภชนาการทั้งในสาขาและช่องทางออนไลน์ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าให้กับลูกค้า แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้า การสื่อสารข้อมูลที่สำคัญให้กับลูกค้าอย่างเปิดเผย และผลประโยชน์ของผู้บริโภค
“ผลคะแนนสูงสุดจากการประเมิน Supermarket Scorecard สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อลูกค้า เพื่อนพนักงาน คู่ค้า ชุมชนรอบข้าง สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามค่านิยม 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์” สลิลลากล่าวทิ้งท้าย