×

อยู่ร่วมกับสัตว์ป่าอย่างไรโดยไม่ทำร้ายกัน หมอล็อต สัตวแพทย์สัตวป่า แนะแนวทางแก่นักท่องเที่ยวและชาวบ้าน

14.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • สัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน คือชื่ออันดับต้นๆ ที่สื่อช่องทางต่างๆ มักจะขอให้แสดงความเห็นเวลามีกรณีข่าวการปะทะระหว่างคนกับสัตว์ในพื้นที่ป่า ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ พวกล่าสัตว์ป่าต่างถิ่น หรือนักท่องเที่ยว
  • ปัญหาสำคัญที่กรมอุทยานแห่งชาติเจอทุกวันนี้คือ สัตว์ป่าเสียชีวิต เพราะคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หวังดีให้อาหารสัตว์ ทำให้สัตว์ป่าลงมาในพื้นที่ชุมชน ไปกินพืชเกษตรและแหล่งน้ำซึ่งมีการใช้สารเคมี และไปทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน นักล่าสัตว์ก็มาดักรอสัตว์ป่าแถวพื้นที่ให้อาหาร ทำให้ถูกฆ่าง่ายขึ้น
  • นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่จอดรถให้อาหารสัตว์ป่าและรอถ่ายเซลฟี ทำให้สัตว์ป่าเรียนรู้ พอเห็นรถก็กระโดดลงมาขวาง เพื่อขออาหาร ทำให้ถูกรถชน
  • หมอล็อตชี้ว่า การอนุรักษ์สัตว์ป่าทำควบคู่กับการท่องเที่ยวได้ แต่ต้องสร้างความรู้แก่ประชาชนถึงพฤติกรรมสัตว์ป่า และคิดในมุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า นอกจากคนจะได้ประโยชน์จากป่าเป็นคนแรก เขาก็ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นคนแรกเช่นกัน

กระแสเรื่องพงไพร สัตว์ป่า พันธ์ุพืช และการอนุรักษ์ กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ข่าวการล่าเสือดำโดยนักธุรกิจจากองค์กรดังได้รับการโหมกระพือผ่านสื่อทุกช่องทาง

 

นอกจากการละเมิดลักลอบค้าและล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ การท่องเที่ยวยังเป็นพื้นที่ที่เกิดการปะทะระหว่างคนกับป่าอยู่เป็นประจำ

 

ย้อนกลับไปช่วงปลายเดือนกันยายนปีที่แล้ว ภาพและวีดิทัศน์ที่แสดงให้เห็นนักท่องเที่ยวชายหญิงในชุดนักวิ่ง 2 คน พยายามจะถ่ายภาพกับช้างป่า ‘งาเบี่ยงเล็ก’ ในระยะ 50 เมตร ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณด่านเนินหอม จังหวัดปราจีนบุรี สร้างกระแสวิจารณ์ร้อนแรงทางสื่อทุกรูปแบบ

 

แน่นอนว่าการที่สังคมเคยเผยแพร่ความรู้และคำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับนักท่องเที่ยวในถิ่นของสัตว์ป่ามาก่อนหน้านี้ จากการที่ผู้มาเยือนและสัตว์เจ้าถิ่นเคยปะทะกันมาหลายกรณี ทำให้คนส่วนใหญ่ที่เห็นข่าวต่างก็เทใจเลือกอยู่ข้างช้างแทบทั้งสิ้น และนึกบันดาลให้ช้างวิ่งเร็วกว่านั้นขณะไล่กวดผู้รุกรานทั้งสองด้วยความขุ่นเคือง

 

แทบทุกกรณีที่เกิดการปะทะกันระหว่างคนและช้างในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เรามักจะได้เห็นสื่อเผยแพร่คำแนะนำจากชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นคนกลางระหว่างสองฝั่งไปโดยปริยาย

 

ด้วยอาชีพสัตวแพทย์สัตว์ป่า หมอล็อต-ภัทรพล มณีอ่อน ต้องเป็นคนกลางระหว่างสัตว์ป่ากับคู่กรณี ไม่เฉพาะรายที่เป็นนักท่องเที่ยวเท่านั้น กรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ในพื้นที่ และชาวบ้านที่ถูกบุกรุกที่ทำกิน หรือกลุ่มพรานป่าที่ลักลอบจับสัตว์ต้องห้ามเป็นส่วนหนึ่งของงานที่หมอล็อตพบเจอในการทำงานเป็นประจำ

 

“ผมประจำอยู่ที่กรมอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่เป็นที่ทำงานที่หนึ่ง เป็นห้องทำงานห้องหนึ่งเท่านั้น” หมอล็อตเกริ่นนำในตอนเริ่มต้น ก่อนที่ THE STANDARD จะลงเอยด้วยการพูดคุยยาวนานกับนายสัตวแพทย์สัตว์ป่าผู้นี้ เพื่อหาจุดสมดุลในการดูแลให้คนและป่าพึ่งพากันได้อย่างลงตัว

ทุกชีวิตถูกกำหนดให้อยู่ในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน อยู่ในระบบนิเวศที่จำเพาะเจาะจงของสัตว์แต่ละชนิด การที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมาอยู่ร่วมกันได้ มันเป็นเรื่องที่ยาก ต่อให้มีการปรับตัวก็ตาม

ทุกวันนี้เรายังได้เห็นกรณีการปะทะกันระหว่างสัตว์ป่ากับนักท่องเที่ยวในพื้นที่อยู่เรื่อยๆ ใช่ไหม

ใช้คำว่า ‘การเผชิญหน้า’ ดีกว่าครับ เพราะถ้าใช้คำว่า ปะทะ อาจจะฟังแล้วเหมือนมีการโจมตีกันด้วย คนกับสัตว์ป่าอยู่ด้วยกันได้ต้องมีเรื่องของการปรับตัวในการอยู่ร่วมกันได้ เป็นการปรับตัวเฉพาะมนุษย์อย่างเดียว ส่วนสัตว์ป่าเขาเรียนรู้ แต่การจะปรับตัวเป็นเรื่องที่ยาก ฉะนั้นมนุษย์พอเป็นฝ่ายที่ปรับตัวได้ กลับไม่ยอมปรับตัว การปรับตัวให้อยู่รอดด้วยกันเลยเกิดขึ้นไม่ได้

 

อย่างสมมติเวลาช้างออกมา มนุษย์ก็ปรับตัวไม่ทำร้าย แต่บางทีช้างออกมาจากป่าแล้วเตลิด เดินหากินไปเรื่อย ขยายอาณาเขตพื้นที่หากินไปเรื่อยตามสัญชาตญาณ พอลูกออกมา ทั้งพ่อและแม่ช้างก็เคยพาเดินออกมาในชุมชน มากินพืชไร่ชาวบ้าน ลูกช้างก็เรียนรู้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นทุกชีวิตถูกกำหนดให้อยู่ในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน อยู่ในระบบนิเวศที่จำเพาะเจาะจงของสัตว์แต่ละชนิด การที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมาอยู่ร่วมกันได้มันเป็นเรื่องยาก ต่อให้มีการปรับตัวก็ตาม พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีประโยคหนึ่งที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ‘อยากให้คนอยู่กับป่า คนกับสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้’ อยู่ด้วยกันได้อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในความหมายนี้ ไม่ได้หมายความว่าช้างป่ามาอยู่หลังบ้าน แต่ให้คนอยู่กับป่าและพึ่งพาซึ่งกันและกัน

 

ทำให้เวลานี้การเผชิญหน้าระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่ายังเกิดขึ้นอยู่ เพราะมีปัจจัยเข้ามาเสริม ปัจจัยอย่างแรกคือ มีบ้านของเขาเอง ถ้าบ้านน่าอยู่ ใครๆ ก็อยากอยู่บ้าน แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งดินโป่ง แหล่งทุ่งหญ้า พอมีพืชต่างถิ่น เอเลียน สปีชีส์ ประชากรเพิ่มมากขึ้น สัตว์เหล่านี้ออกนอกพื้นที่ ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า นั่นคือความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติจากสภาวะโลกร้อน เรื่องของพืชต่างถิ่น หรือเอเลียน สปีชีส์

 

ประเด็นที่สอง ไม่น่าเชื่อนะครับ เป็นเรื่องของความปรารถนาดี ความหวังดี ยกตัวอย่างกรณีของสำนักสงฆ์ที่อยู่ชายป่า เอาอาหาร เอาผลไม้ไปให้สัตว์ป่า เพราะคิดว่าเป็นการทำบุญทำทาน เป็นกุศลที่ทำให้อิ่มเอมใจ แต่กลับทำให้สัตว์เหล่านี้ติดใจและลงมากินเป็นประจำ พืชอาหารเหล่านี้รสชาติหวาน หอม อร่อย ขณะที่พืชอาหารในป่ารสฝาด เฝื่อน ขม เปรี้ยว ก็เลยมากินพืชอาหารที่มนุษย์นำมาทิ้งไว้ให้ แล้วก็ติดใจในรสชาติ ก็อยากมาอีก ขณะเดียวกัน พระ ญาติโยม ก็รู้สึกเมตตา สัตว์ก็ยิ่งมาอีก ก็เตลิดมา นั่นคือเรื่องของการทำบุญที่ผิดเพี้ยน

 

อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นพวกคนรวยที่อยู่ตามแนวป่า พูดตรงๆ เลย เราเข้าใจว่าคนเหล่านี้มีศักยภาพทางสังคมและเศรษฐกิจสูง บางทีก็ไปซื้อบ้านอยู่แนวป่า และอยากจะเอาอาหารเล็กๆ น้อยๆ ให้กับนก สัตว์ป่า ปลูกต้นกล้วย ทำแหล่งน้ำแหล่งหญ้าให้สัตว์ป่า โอเค สัตว์ป่าลงมาก็จริง แต่อย่าลืมนะว่ามันเตลิด นอกจากนี้สิ่งที่ตามมาก็คือ สัตว์ป่าเหล่านี้มีโอกาสเสียชีวิตได้ง่ายมาก เพราะพอลงมาในพื้นที่ชุมชน ไปกินพืชเกษตรกรรมซึ่งมีการใช้สารเคมี ลงมากินน้ำในแหล่งน้ำที่มีสารพิษสารเคมีตกค้าง ลงมาทำลายพืชไร่ ทรัพย์สินของชาวบ้าน ชาวบ้านโกรธแค้นก็ไปยิง ไปทำร้ายช้าง ทำร้ายสัตว์ป่า ก็เกิดความสูญเสีย

 

แล้วอีกโอกาสหนึ่งที่เกิดขึ้นง่ายที่สุดก็คือ นายพรานสมัยนี้เวลาล่าสัตว์ป่า เขาไม่เข้าไปในป่าแล้วครับ เขามาล่าแถวชายป่า แถววัด ล่าหลังวัด เพราะคนเอาอาหารมาให้ เอาของไปวางไว้ เมื่อสัตว์ลงมากิน พวกนายพรานก็ยิง พอยิงปุ๊บ ยกขึ้นรถ แล้วก็กลับเลย ขนย้ายได้เลย นายพรานเหล่านี้อาศัยความเข้าใจแบบศรีธนญชัยว่า เขาไม่ได้เข้าไปล่าในป่าจึงไม่ผิด สัตว์มันออกมานอกป่า มาในพื้นที่เขา ฉะนั้นสัตว์ป่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นี่คือความเสียหายในชีวิตสัตว์ป่าที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์

 

 

งานของเราก็ต้องมีการพลิกแพลงเชิงรุกและเชิงรับ ตามเกมให้ทันด้วย

ใช่ครับ กลยุทธ์ของเราก็ต้องดูว่า ตอนนี้มนุษย์ได้ประโยชน์อะไรจากป่าบ้าง เขามองแค่ไหน เราเองในฐานะกลุ่มคนที่รู้ผลดีผลเสีย เราต้องทำให้ชาวบ้านและคนกลุ่มอื่นๆ ได้รู้อีกด้านหนึ่งด้วยว่า นอกจากเขาจะได้ประโยชน์จากป่าแล้วนะ เขาก็จะได้รับโทษด้วยเช่นกัน หากเขาทำลายพื้นที่ป่าและธรรมชาติ ต้องให้เขาคิดในมุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แล้วส่วนเสียเวลาที่มันมีผลกระทบเกิดขึ้น ชาวบ้านจะได้รับก่อน เพราะเขาอยู่กับป่า เช่น ภัยธรรมชาติ อากาศเปลี่ยน วาตภัย อุทกภัยต่างๆ ฯลฯ

 

เราให้ข้อมูลความรู้ ทำให้เขาเป็นผู้รับรู้ก่อน ขั้นต่อไปคือให้เขาได้สัมผัส อากาศร้อน โลกร้อนเป็นอย่างไร ภาวะแห้งแล้งเป็นอย่างไร ผลกระทบจากการที่เราทิ้งขยะ สัตว์ป่ามากินขยะแล้วอุดตันในกระเพาะ แล้วถ่ายออกมาไม่ได้เป็นอย่างไร การให้อาหารลิง แล้วลิงเรียนรู้พฤติกรรมผิดธรรมชาติ วิ่งตัดหน้ารถ แล้วรถชนตาย เราเอาชาวบ้านมาสัมผัส จากรับรู้ มาสัมผัส แล้วชาวบ้านจะรับรู้ด้วยตัวเองว่า เขาคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

    

พอเขาอยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สิ่งที่เขาจะคิดโดยอัตโนมัติขึ้นมาเลยก็คือ การประชาสัมพันธ์ที่ออกมาจากใจเขาเอง เพราะเขารู้ สัมผัส และเห็น จนออกมาเป็นคำพูดจากปากเขาเอง โดยที่ไม่ต้องไปจำว่าภาครัฐบอกมาว่าอย่างนี้นะ พอคนเหล่านี้กลับไปบ้าน ไปคุยกับครอบครัว ไปคุยกับสังคมเขา โรงเรียนและเพื่อนๆ รอบตัว การกระจายข้อมูลเหล่านี้จะไปแบบตัวต่อตัว แล้วคนคนนั้นก็จะเป็นฮีโร่คนหนึ่งเลยที่มีความเข้าใจและอิน​ในเรื่องนี้ เข้าใจว่า “เฮ้ย เราไปเขาใหญ่มา ลิงอยู่ข้างทาง อาหารให้ได้ไหมนะ อาหารมีเยอะแยะเลย มันกินใบไม้ 60% กินผลไม้ 39% อีก 1% เป็นแมลง แต่บางคนเอาอาหารไปให้มันกิน มันเรียนรู้นะ พอมันเรียนรู้ รถขับผ่านมา มันกระโดดขวาง รถชนตายเลย เบรกไม่ทัน” เรื่องราวแบบนี้ เขาจะเล่าด้วยตัวเขาเอง เพราะเดี๋ยวนี้เรามีช่องทางสื่อสารหลายช่องทางมาก

 

มีพฤติกรรมอะไรของนักท่องเที่ยวที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยชอบใจ

ให้อาหารสัตว์ครับ ผมมักมีคำถามนำเสมอว่า เวลาคนมาเที่ยวธรรมชาติ เที่ยวป่า เที่ยวเขา แล้วได้อะไร ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า “ได้พักผ่อน ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ อากาศดี บริสุทธิ์ มีความสุข” อะไรต่างๆ มากมาย พอเราถามกลับว่า “แล้วธรรมชาติตรงนั้นได้อะไรจากเราบ้าง” ก็ตอบไม่ได้ ถ้าตอบคำถามกันใหม่ ก็คงได้ขยะ ได้มลพิษ ได้ขี้ ได้เยี่ยว ได้อะไรก็ว่ากันไป แต่ส่วนใหญ่ตอบไม่ได้เลย

 

พอถึงจุดหนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวออกมาแบบ win-win กับทุกฝ่าย ธรรมชาติก็ได้ ตัวเราก็ได้ ชุมชนก็ได้ เวลาไปเที่ยว เจอสัตว์ข้างทาง บางคนคิดว่า สัตว์มาขอทาน หรืออยากใกล้ชิดสัตว์ เอาอาหารไปให้มันกิน ถ่ายรูป ถ่ายเซลฟี แต่อาหารเหล่านี้ที่ให้สัตว์กิน บางอย่างคนกินได้ สัตว์กินไม่ได้ แล้วมันทำให้สัตว์พวกนี้เปลี่ยนพฤติกรรม ฉะนั้นการให้อาหารเท่ากับให้ความตาย นี่คือนิยามที่แสดงให้เห็นผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเลย

เราเองในฐานะกลุ่มคนที่รู้ผลดีผลเสีย เราต้องทำให้ชาวบ้านและคนกลุ่มอื่นๆ ได้รู้อีกด้านหนึ่งด้วยว่า นอกจากเขาจะได้ประโยชน์จากป่าแล้ว เขาก็จะได้รับโทษด้วยเช่นกัน หากเขาทำลายพื้นที่ป่าและธรรมชาติ

ที่เขาใหญ่เอง จุดที่มีทั้งนักท่องเที่ยว สัตว์ป่า และชาวบ้านเผชิญหน้ากัน มันถึงขั้นวิกฤตหรือยัง

ตอนนี้ในเขาใหญ่เอง จุดที่เผชิญหน้ากันระหว่างคนกับสัตว์ป่าได้บ่อยที่สุดคือในอุทยาน จุดที่พบกันคือบนถนน เพราะบนถนนคือพื้นที่ที่มนุษย์สัญจร ขณะเดียวกันช้างป่าก็ออกมาเดินบนถนน ซึ่งมันก็มีวาทกรรม มีการโต้เถียงกันว่า ก็เพราะมนุษย์ไปสร้างถนนตัดพื้นที่ป่า ทำให้ช้างป่าต้องออกมา แล้วเราไปสร้างผลกระทบขึ้นมาเอง

 

ถึงจุดนี้เราก็ต้องตั้งสติ มันไม่ใช่เวลาที่จะมาตัดสินว่าช้างมาก่อน คนมาทีหลัง มันอยู่ในจุดที่ต้องบอกว่า ณ เวลานี้เราจะทำอย่างไรกันดี เรื่องของเรื่องก็คือ ถนนเส้นนี้ใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน ปรากฏว่าถนนเส้นนี้สร้างมาเพื่อคนสัญจร คนได้ประโยชน์ แต่รู้ไหมว่าสำหรับช้าง พื้นถนนที่มันเรียบ ช้างเดินสบาย ประหยัดพลังงานได้ พื้นที่อื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสูงชัน ลูกช้างเดินพื้นที่เรียบๆ ปลอดภัยจากสัตว์มีพิษอื่นๆ พื้นที่ถนนกลางวันมีความร้อนสะสม พอตกกลางคืน อากาศเย็นมาก พื้นถนนจะเป็นพื้นที่ให้ความอบอุ่น สองข้างทางที่เป็นร่องน้ำก็เป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า มีหญ้า มีต้นไม้ มีอาหารกินได้ ช้างเองเป็นสัตว์ที่หากินในพื้นที่ราบ การเดินบนถนนหมายถึงไม่ต้องใช้พลังงานบนภูเขาเพื่อปีนป่ายแล้วหมดแรง เมื่อแรงเหลือก็มีโอกาสผสมพันธุ์ได้ พื้นที่ถนนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่อย่างนั้นช้างจะไม่มาผสมพันธุ์บนถนน

 

สิ่งที่ผมพูดไปคือประโยชน์ที่ช้างได้จากถนน ฉะนั้นเราต้องชี้ให้สังคมได้เห็น ไม่ใช่พูดแต่ว่า “เราไปตัดถนนผ่านบ้านมัน” มันไม่เกี่ยว มันอยู่ที่การปรับตัว การแก้ไขปัญหา การเผชิญหน้าระหว่างคนกับสัตว์ป่า เราต้องเรียนรู้พฤติกรรมช้างหรือสัตว์อื่นๆ เพื่อปรับพฤติกรรมมนุษย์ นี่คือแนวคิดแก้ปัญหาการเผชิญหน้ากัน ฉะนั้นเวลามีปัญหาปุ๊บ พอมีเรื่องของการจัดการ การเรียนรู้พฤติกรรมช้าง มีการอารักขา เมื่อมนุษย์กับช้างมาเจอกันบนถนน ช้างต้องมาก่อน เพราะนั่นคือบ้านของเขา เขาจะเดินไปที่ไหน พวกเขาอารักขาให้ เพราะเรารู้พฤติกรรมเขา พาเขาไปส่ง แล้วรถยนต์จึงค่อยวิ่ง รถยนต์ต้องหยุดให้ก่อนสองข้างทาง

 

หรือแม้กระทั่งเมื่อนักท่องเที่ยวขับรถมาเจอช้าง ต้องมีข้อปฏิบัติอย่างไร เว้นระยะห่าง 30-50 เมตร อย่าเปิดไฟสูง อย่าบีบแตรให้ช้างตกใจ อย่าดับเครื่องยนต์ ช้างตาไม่ดี หูดี เขาได้ยินเสียงเครื่องยนต์ เขาจะได้รู้ว่า นี่รถยนต์ เพราะเขาเคยรู้จักแล้ว ถ้าดับเครื่องเมื่อไร ตาเขาไม่ดี เขาจะเดินมาดู เวลามาดู เอางวงมาจับ พละกำลังเขามหาศาล ทำให้รถยุบ ช้างก็กลายเป็นจำเลยว่าไปพังรถ

 

 

สิ่งที่เราได้เห็นมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการเผชิญหน้ากัน เข้าใจว่าถึงตอนนี้นักท่องเที่ยวน่าจะมีภูมิความรู้มากขึ้น

ความผิดพลาดหรือปัญหาบางอย่างที่มันเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราไม่โทษนักท่องเที่ยว เราโทษตัวเราเอง นักท่องเที่ยวเสียค่าเข้าอุทยาน เสียค่าบริการ เขามาเที่ยว ข้อมูลเหล่านี้คือสิ่งที่เขาควรจะได้รับจากการมาเที่ยว เพราะบางเรื่องบางกรณี เขารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราไม่ถึงกับอาฆาตมาดร้าย หรือจะไปบังคับใช้กฎหมาย ต้องดูพื้นฐานว่า บางทีเขาไม่รู้จริงๆ และบางทีเราไม่ได้ให้ข้อมูลเหล่านี้ ฉะนั้นการทำงานในเชิงเข้าใจซึ่งกันและกัน เราก็ควรจะให้ข้อมูลกับเขา ถ้าเราให้ข้อมูลดีพอแล้ว แต่ยังมาทำผิด ก็ว่ากันอีกทีหนึ่ง

 

นั่นคือเหตุผลที่หมอล็อตให้ความสำคัญกับการมาบรรยายให้ความรู้แก่คนทั่วไปมากขึ้น แทนที่จะทำงานอยู่ในพื้นที่ป่าอย่างเดียว

จริงๆ ก็ทำสลับกัน ระหว่างป่าและเมือง จากเดิมในป่า 100% ก็เหลือ 80/20 70/30 60/40 ตอนนี้ก็ 50/50 ตอนนี้การสื่อสารและการเดินทางไม่ได้มีข้อจำกัดเหมือนในอดีต

 

การดูแลจัดการสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยาน พอเรามีการบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ สิ่งหนึ่งที่ตามมาที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับอุทยานแห่งชาติ บทบาทของอุทยานแห่งชาติคือ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่อนุรักษ์ ฉะนั้นถ้าเราจัดการสถานการณ์ได้ สิ่งที่จะได้ตามมาก็คือการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมาจากทุกภูมิภาคของโลก บางครั้งเขาเก็บเงินมาเที่ยวเมืองไทย เพราะอยากเห็นป่า ลำพังช้างเลี้ยง ช้างบ้าน เคยเห็นแล้ว พอได้มาเห็นช้างป่าจริงๆ ในธรรมชาติจริงๆ แล้วได้ใกล้ชิด โดยที่มีพวกเราเจ้าหน้าที่คอยดูแลจัดการอำนวยความสะดวก บริหารสถานการณ์ได้ นั่นคือไฮไลต์ของเขาเลย คือประสบการณ์ที่เขาจะได้ในฐานะนักท่องเที่ยว

ผมมักจะมีคำถามนำเสมอว่า เวลาคนมาเที่ยวธรรมชาติ เที่ยวป่า เที่ยวเขา แล้วได้อะไร ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า ‘ได้พักผ่อน ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ อากาศดี บริสุทธิ์ มีความสุข’ อะไรต่างๆ มากมาย พอเราถามกลับไปว่า ‘แล้วธรรมชาติตรงนั้นได้อะไรจากเราบ้าง’ ก็ตอบไม่ได้

ในฐานะคนที่ทำงานเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่า หมอล็อตและทีมงานไม่ได้รังเกียจการท่องเที่ยว

เราไม่ต่อต้านการท่องเที่ยว เราสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจของกรมอุทยานคือเรื่องการท่องเที่ยว จะเห็นว่าปีหนึ่งๆ รายได้จากการท่องเที่ยวที่กรมอุทยานเก็บได้มากขึ้น เกิดจากการบริหารจัดการงานอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวได้

 

ที่ผ่านมาการบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ในระดับที่เราพอใจขนาดไหน

พอใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การพอใจไม่มีจุดสูงสุด เพราะความพึงพอใจของเรา ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เราเจอ ปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งนั้น แล้วก็เป็นเรื่องใหม่ๆ เพราะฉะนั้นพัฒนาการของปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าเราบริหารจัดการได้ แก้ไขได้ นั่นคือความพึงพอใจ

 

 

พื้นที่ป่า พื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัดกับเขาใหญ่ ปัญหาก็น่าจะต่างกันใช่ไหม

ต่างกันครับ เขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวมาเยอะ มากางเต็นท์ มาพักผ่อน ด้วยความที่เป็นพื้นที่สูง บรรยากาศดี แต่อ่างฤาไนเป็นพื้นที่ป่าราบนะครับ อากาศก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ก็มีนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มาเที่ยว แล้วความหลากหลายของชนิดสัตว์ป่าก็ไม่ต่างกัน

 

ปัจจัยในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์เข้ามาช่วยด้านหนึ่งคือ การเข้ามาของมนุษย์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งก็คือนักท่องเที่ยว มนุษย์ที่ไม่ถูกกฎหมายล่ะ ก็คือพวกที่มาเพื่อล่าและทำลาย เพราะฉะนั้นระบบการเฝ้าระวังการป้องกันการลาดตระเวนก็ต้องมีอีกระบบหนึ่ง

 

หน้าที่ของเราต้องเผชิญหน้ากับทั้งสัตว์ป่าตามหน้าที่โดยตรง เรายังต้องรับมือกับนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในพื้นที่ด้วย รวมทั้งพรานป่าล่าสัตว์อีก

พวกล่าสัตว์ พวกที่เข้ามาในพื้นที่ป่าอย่างผิดกฎหมาย

 

เรามีทีมคอยติดตามความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้อย่างไร

มีเจ้าหน้าที่ครับ ทางอุทยานฯ มีชุด Smart Patrol หรือชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ มีเครื่องมือพิกัด GPS มีเครื่องมือติดต่อสื่อสาร มีการจับเส้นทางเดิน มีอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ มากมาย มีการเคลื่อนย้ายของกลางไปตรงไหน เจ้าหน้าที่จะไปดักอย่างไร มีกล้องติดอยู่ นั่งอยู่ในที่ทำการ ดูจากจอ มีการส่งภาพมารายงานได้ รู้ปุ๊บ เราก็ยังไม่ไปจับ จะดูว่าเขาจะขนออกจากป่าไปไหน เพราะในไม้จะฝังเครื่องจับสัญญาณไว้ เทคโนโลยีเราไปถึงขนาดนั้น

 

ในการดำเนินงานจริงๆ เราต้องเป็นมากกว่าสัตวแพทย์ นั่นคือความท้าทาย ทำให้เราทำงานด้วยความสนุก ตื่นเต้น และรู้สึกภาคภูมิใจในวิชาชีพ

 

 

ดูเหมือนว่าหมอล็อตเองก็เป็นประเภทกล้าลุย กล้านำเสนอต่อผู้บริหารระดับบนให้รับรู้ปัญหาด้วย

ต้องเอาให้ชัดครับ มันหมดยุคแล้วในเรื่องของการบิดเบือนข้อมูลที่เราต้องรอคำสั่งอย่างเดียว เพราะเรื่องบางอย่าง เราเห็นในพื้นที่ เหตุผลหนึ่งที่ผมต้องแบ่งทำงานในป่าในเมือง 50/50 เพราะเราต้องการให้เกิดความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ออกนโยบาย เพราะเมื่อก่อนคนทำไม่ได้ออกกฎ คนออกกฎไม่ได้เป็นคนทำ มันก็เลยสวนทางกันตลอด เวลานี้เองเราอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติและผู้กำหนดนโยบายไปในตัว จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้นโยบายหลายอย่างมันไม่ได้ผิดเพี้ยน เรากำลังไปได้ถูกทาง แล้วผู้ใหญ่เขาให้ความสำคัญต่อมุมมองและความคิดของผู้ปฏิบัติ เพราะเป็นคนที่รู้จริง ฉะนั้นนโยบายก็เลยไม่ผิดเพี้ยน ก็เลยสนุก ผมเองมาเป็นที่ปรึกษา ไปโน่นมานี่ มีอะไรก็รายงานผู้ใหญ่ ตอนนี้เจ้าหน้าที่หนึ่งคนมีส่วนสำคัญมาก หรือแม้แต่ชาวบ้านคนหนึ่งที่อยู่รอบป่า ส่วนใหญ่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน เราก็ไปรับฟัง เรียนรู้ แล้วนำมาปรับใช้ นำมาเป็นพันธมิตรกับเรา ต้องมีกลยุทธ์หลากหลาย

 

เหมือนกรณีหนึ่งที่ทีมงานพยายามตามหาช้างป่าที่ถูกยิง แต่ตามอย่างไรก็ไม่เจอ ช้างตัวนี้เรานับเวลาถอยหลังแล้วว่า ถ้าภายใน 5 เดือน ไม่เจอ คงไม่รอดแน่ คนที่จะตามเขาเจอคือใครรู้ไหม คือคนที่ยิงเขา ทำอย่างไรเราจะหาคนคนนี้ได้ ไม่ยาก ไปที่วัด ให้ผู้ใหญ่บ้านนัดชาวบ้านมาเจอ เอาภาพช้างขึ้นจอ เราเล่าให้ฟังว่า เราเป็นใคร มาทำอะไรตรงนี้ เพราะมีช้างป่าถูกยิง แล้วเราต้องตามรักษา พอขึ้นภาพปุ๊บ รู้เลยว่าใครเป็นคนยิง ชาวบ้านเดินไปชี้เลย นั่นคือการพิพากษา

 

ทีนี้พอเป็นแบบนี้ เราเป็นข้าราชการ เรามักจะคิดว่า เรามีพระเดช กฎหมายอยู่ในมือ ประเด็นนี้ร้ายมาก ทำร้ายช้าง ฆ่าช้าง เราใช้พระเดชกันจนลืมไปว่า เรายังมีมืออีกมือหนึ่ง ก็คือพระคุณ มันขึ้นอยู่กับว่าเวลาเราทำงานกับประชาชน เราจะใช้อะไร ถ้าเราใช้พระเดช ก็ได้ศัตรูเพิ่ม ถ้าเราใช้พระคุณ เราจะได้เพื่อนเพิ่ม เอาเขามาเป็นแนวร่วมช่วยตามรอยช้าง การกินนอนตกระกำลำบากในป่าด้วยกัน มันทำให้เกิดความสนิทใจอัตโนมัติ พอไปเจอช้าง ผมก็ให้ลุงทำแผล ล้างแผลช้าง คีบกระสุนออกตามที่ผมบอก ความรู้สึกของคนคนหนึ่งที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนเลวในหมู่บ้านก็เหมือนได้ล้างบาป แล้วลุงยังเอาภาพภาพนั้นไปติดที่บ้านใต้รูปรัชกาลที่ 9 เพื่อบอกลูกหลานว่า ครั้งหนึ่งเคยช่วยรักษาช้าง จากนายพรานล่าสัตว์ป่า ผมก็ดึงลุงมาเป็นเจ้าหน้าที่แทน ผมว่างานของเรา แม้จะมีหน้าที่รักษากฎหมาย แต่บางทีต้องใช้ศิลปะในการดำเนินการด้วย

เวลาไปเที่ยว เจอสัตว์ข้างทาง ก็เอาอาหารไปให้มันกิน ถ่ายรูป ถ่ายเซลฟี แต่อาหารที่ให้สัตว์กินเหล่านี้ บางอย่างคนกินได้ แต่สัตว์กินไม่ได้ แล้วมันทำให้สัตว์พวกนี้เปลี่ยนพฤติกรรม ฉะนั้นการให้อาหารเท่ากับให้ความตาย นี่คือนิยามที่แสดงให้เห็นผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเลย

ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่สนใจอาชีพสัตวแพทย์สัตว์ป่าเพิ่มขึ้นด้วยใช่ไหม

ใช่ครับ พอเราแสดงบทบาทของเราให้เห็นชัดๆ เขาก็จะเห็นว่า เราทำดีแล้ว เท่านี้นะ แต่ถ้าจะดีกว่านี้ต้องมีกำลังเพิ่มขึ้น หนึ่ง สอง สาม สี่ เขาจะเห็นอัตโนมัติ ฉะนั้นผมว่า ข้าราชการยุค 4.0 ต้องคิดใหม่ กล้าคิดสวนทางจากภาพเดิมที่คนมองเรา

 

นอกจากคนเมืองในคราบนักท่องเที่ยวจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ในพื้นที่โดยตรงแล้ว การขยายที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่เองที่เบียดเบียนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า ทำให้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามที่หมอล็อตบรรยายก่อนหน้านี้ พื้นที่อาศัยน้อยลง สัตว์ป่ากระจุกตัวในพื้นที่ ทำให้มีโอกาสผสมพันธุ์แบบเลือดชิดหรือสายเลือดใกล้กันเกินไป

สำหรับคนในพื้นที่ ภัยคุกคามทางตรงคือ การล่า ทางอ้อมคือ การทำลายถิ่นอาศัย การบุกรุก การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย เรื่องของพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลง เพราะเลือดชิด เรื่องของโรค เพราะพันธุกรรมอ่อนแอลง

 

เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ เมื่อประชากรมนุษย์เพิ่ม การใช้ทรัพยากรก็ต้องเพิ่ม แต่ถึงตอนนี้ การบุกรุกและการทำลายพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์อยู่ในจุดที่ต้องฟื้นฟู จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เหลือยังอยู่รอดได้ เรากำลังทำลายธรรมชาติในจุดที่มันถึงขีดสุดแล้ว จนถึงจุดที่ธรรมชาติเองก็กำลังคัดเลือกเราผ่านรูปแบบของภัยธรรมชาติ สภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ทั้งโลกร้อน เอลนีโญ ลานีญา แม้กระทั่งโรคระบาดหรือโรคติดต่อ นี่คือสิ่งที่ธรรมชาติกำลังใช้เป็นเครื่องมือในการคัดเลือกมนุษย์ มนุษย์เองก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอดเช่นกัน เรากำลังคิดว่า เราต้องเอาชนะธรรมชาติให้ได้ในการหาหนทางรักษาโรค โรคระบาดหรือโรคติดต่อที่ธรรมชาติกำลังปล่อยมา เพื่อคัดเลือกเรา

 

แต่อย่าลืมว่า เชื้อโรคคือธรรมชาติ ไม่มีใครเอาชนะธรรมชาติได้ เราต้องใช้ธรรมชาติสู้กับธรรมชาติ แนวทางที่ดีที่สุดคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การอยู่กับธรรมชาติโดยเบียดเบียนให้น้อยที่สุดนั่นคือ การใช้ธรรมชาติในการรักษาธรรมชาติเอง โดยมีสองนัยคือ การปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ และสองคือ ใช้สิ่งที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา เอาให้ตัวเราอยู่รอดโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising