×

ฝุ่นข้ามแดน ร่างกฎหมายอากาศสะอาดจัดการอย่างไร

02.02.2024
  • LOADING...

ทำไมเราถึงต้องให้ความสนใจกฎหมายอากาศสะอาด? 

 

มลพิษและฝุ่นควัน PM2.5 ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลต่ออากาศบ้านเรามากขนาดไหน? 

 

แล้วการออกกฎหมายสั่งห้ามนำเข้าสินค้าที่มาจากการสร้างมลพิษจะสามารถทำได้จริงหรือไม่?

 

ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นคำถามที่คาใจใครหลายคน กฎหมายอากาศสะอาดทั้ง 7 ร่าง ที่จะรวมเป็นร่างกฎหมายเพียงแค่ฉบับเดียว จะเป็นความหวังที่ทำให้อากาศในไทยดีขึ้นได้จริงหรือไม่ ติดตามทั้งหมดได้ในบทความนี้ 

 

แม้ 7 ร่างผ่านสภาแล้ว สื่อและประชาชนจำเป็นต้องติดตามต่อหรือไม่?

 

แม้ร่างอากาศสะอาดทั้ง 7 ร่างจะผ่านวาระที่ 1 ของสภาไปแล้วก็ตาม สังคมไทยบางส่วนยังคงถกเถียงและให้ความสนใจต่อวิธีการจัดการมลพิษด้วยการบังคับใช้กฎหมาย

 

เราได้ติดต่อสอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ยื่นร่างกฎหมายอากาศสะอาดของพรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ว่า

 

 

“ไม่ควรถกเถียงประเด็นนี้แล้ว เป็นหน้าที่กรรมาธิการที่ต้องคุยรายละเอียด ตัวเขาเองไม่ใช่กรรมาธิการ ก็ต้องให้เกียรติคนทำงาน สภารับหลักการทุกร่างแล้ว ยังไปนั่งถกเถียงว่าร่างของคนไหนเป็นแบบใด คนพูดคงไม่เข้าใจกลไกสภา”

 

แต่ถ้าเป็นฝั่งของ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการวิสามัญฯ กลับมองต่าง เขาอยากให้ประชาชนอย่างเราช่วยกันติดตามความเคลื่อนไหวของร่างกฎหมายอากาศสะอาดต่อไป

 

 

“ปกติประชาชนจะสนใจกฎหมายต่างๆ ในวาระที่ 1 พอจบวาระแรกจะขาดความต่อเนื่อง แล้วร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่อยู่ในชั้นของกรรมาธิการมีตั้ง 7 ร่าง แต่ละร่างก็มีรายละเอียดต่างกัน เรื่องนี้จึงไม่สามารถจะหายไปจากสังคมได้ เพราะว่าการร่างกฎหมายหลังจากนี้จะส่งผลต่อทุกคน ดังนั้นในความเห็นของผม วาระที่ 2 จึงสำคัญกว่าวาระที่ 1”

 

ส่วนทางด้านของ จักรพล ตั้งสุทธิธรรม เลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และประธานคณะกรรมาธิการอากาศสะอาด กล่าวในการแถลงข่าวความคืบหน้าของคณะกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาว่า แม้ร่าง 7 ฉบับจะแตกต่างกัน จนทำให้ประชาชนเกิดข้อกังวลว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่อยากให้ทุกคนสบายใจว่าเวลานี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังใช้องค์ความรู้ที่มีร่วมกันศึกษาในแต่ละมาตราเพื่อประโยชน์สูงสุด

 

‘มลพิษข้ามแดน’ ถึงเวลาไทยต้องกำหนดบทลงโทษชัดเจน

 

ในร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับอากาศสะอาดทั้ง 7 ร่าง มีประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าที่มีแหล่งที่มาจากการสร้างมลพิษทางอากาศ

 

ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ของพรรคก้าวไกล ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมองว่าตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีการแก้ปัญหาที่ชัดเจนมากพอ

 

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ โดย คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับเครือข่ายอากาศสะอาด ก็ได้กำหนดอายุความการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดที่ทำให้เกิดมลพิษข้ามแดน จะต้องมีอายุความ 10 ปี มีโทษปรับอัตราสูง ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ความเร็วลม ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ค่าดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ ในการตรวจสอบ

 

ถ้าดูร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ มีโทษปรับ 50,000 บาท, ผู้ที่เผาในที่โล่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 50,000 บาท, ผู้ที่ปล่อยทิ้งอากาศเสียโดยไม่มีการบำบัดให้มีคุณภาพตามมาตรฐานควบคุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนอกประเทศ ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท 

 

 

จุลพันธ์ผู้ยื่นร่างของพรรคเพื่อไทยกล่าวในสภาว่า ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ของพรรคเพื่อไทย มีหลักการและเหตุผลแบบเดียวกับของ ครม. ที่ระบุถึงข้อบังคับมลพิษข้ามแดน โดยยกตัวอย่างว่าตอนนี้ในอาเซียนมีแค่สิงคโปร์ที่บังคับใช้กฎหมายนี้ เพราะได้รับมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาป่าในอินโดนีเซีย เมื่อฝุ่นควันไหลข้ามมายังสิงคโปร์ รัฐบาลจึงกำหนดกฎหมายเพื่อบังคับให้บริษัทข้ามชาติถ้าเผาหรือก่อมลพิษเกินกำหนด การค้าขายของคุณกับสิงคโปร์จะมีปัญหา

 

วันนี้ไทยก็เจอปัญหาเดียวกัน เป็นผลกระทบจากระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ ‘Contract Farming’ จากการปลูกข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าดูตัวเลขจะเห็นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และเมียนมา มีความเชื่อมโยงกับภาวะหมอกควันที่เกิดขึ้นในเมืองไทย

 

กฎหมายฉบับนี้จึงให้อำนาจรัฐบริหารราชการเชิงพื้นที่ พัฒนามาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด เฝ้าระวัง เตือนภัย จัดเก็บข้อมูล และกำหนดบทลงโทษ เก็บภาษี ค่าปรับ สั่งหยุดการนำเข้า ลดการเผาผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อลงโทษผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษเหมือนอย่างที่สิงคโปร์ทำ

 

สรุปคร่าวๆ ได้ว่า ร่างของพรรคเพื่อไทยจะยึดหลักการ ‘ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย’ และจะจัดการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องมลพิษข้ามแดน 

 

ส่วนฝั่ง สส. พรรคก้าวไกล อย่างภัทรพงษ์ แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่า ถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่ ครม. ได้เพิ่มเนื้อหาการนำเข้าสินค้าจากการเผาเข้ามาหลังสุด แต่สิ่งที่เขากังวลคือการขาดจุดเชื่อมต่อระหว่างบทลงโทษกับผู้ประกอบการที่มีความผิด แม้จะมีการกำหนดบทลงโทษแล้วก็ตาม

 

การขาดจุดเชื่อมต่อที่ว่าคือ หากร่างทั้ง 7 ฉบับรวมกันเหลือร่างเดียว หนึ่งในเงื่อนไขที่เขาคิดว่าร่างของตัวเองควรจะได้ไปต่อคือเรื่องการออกข้อบังคับให้ผู้ประกอบการจะต้องทำรายงาน ระบุให้ชัดว่านำเข้าวัตถุดิบมาจากที่ไหน มีการจัดการและกำจัดอย่างไร ขนส่งด้วยวิธีไหน ระบุไปยันละติจูด ลองจิจูด

 

เมื่อเข้าสู่โรงงานแล้วมีการแปรรูป กระบวนการต่างๆ ปล่อยมลพิษไปแล้วเท่าไร ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีรายงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้คณะทำงานและประชาชนสามารถตรวจสอบแบบย้อนกลับได้ว่า สิ่งที่ระบุในรายงานของผู้ประกอบการไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือไม่

 

เพราะถ้าไม่มีรายงานส่วนนี้อาจทำให้มีช่องโหว่กับผู้ก่อเหตุที่เป็นต้นตอของปัญหา เช่น สมมตินาย A จ้างนาย B ให้จัดหาวัตถุดิบจากการเผาเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการในโรงงาน ต่อให้มีข้อกฎหมายระบุชัดเจน เราก็อาจไม่สามารถเอาผิดไปถึงนาย A ได้ สิ่งที่จะช่วยในเรื่องนี้ก็คือการรายงานของผู้ประกอบการ

 

นอกจากนี้ภัทรพงษ์มองว่า ผู้ประกอบการและองค์กรหลายแห่งไม่ได้กลัวโทษทางแพ่งหรืออาญา ไม่ได้กลัวการปรับหรือบทลงโทษทางกฎหมายมากเท่ากับบทลงโทษทางสังคม หากมีการตัดสินแล้วว่าผู้ประกอบการรายใดมีความผิด ก็จะต้องเปิดเผยรายชื่อออกสู่สาธารณะด้วย

 

ซึ่งร่างของก้าวไกลเป็นฉบับเดียวที่ระบุเรื่องการเปิดเผยรายชื่อ เช่นเดียวกับการบังคับติดฉลากสินค้าที่ไม่ได้มาจากการเผา สามารถทำเป็นระดับ Eco Friendly บนสินค้า โดยไม่ต้องใช้กฎหมาย แต่รัฐสามารถประกาศขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมได้เลย ซึ่งเขามองว่าหากรัฐมีการขยับ สังคมก็พร้อมร่วมกันผลักดันแน่นอน

 

เขายังยกตัวอย่างในประเทศสวีเดน เราจะเห็นเนื้อสัตว์ที่มีฉลาก Carbon Footprint Labels แล้วพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีฉลากระบุว่า เนื้อแพ็กนั้นถูกผลิตด้วยวิธีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ากระบวนการผลิตแบบปกติมากถึง 25%

 

เขาเชื่อว่าประชาชนควรได้รับรู้ว่าใครคือคนที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษที่ทำให้พวกเขาต้องเจอกับปัญหานี้ นั่นคือการทำโทษทางสังคมที่ประชาชนจะต้องได้ตัดสินใจ ผู้คนควรมีสิทธิรู้ว่าสินค้าที่มาจากการเผามีอะไรบ้าง รวมถึงสิทธิในการเลือกว่าจะซื้อสินค้าเหล่านี้หรือไม่

 

เมื่อถึงวันที่ไทยมีกฎหมายมลพิษข้ามแดนจริงๆ ก็จะสอดคล้องกับข้อบังคับของสหภาพยุโรป หรือ EU ที่ห้ามนำเข้าสินค้าที่มาจากการเผาหรือก่อให้เกิดมลพิษทุกชนิด มีการออกโทษบังคับใช้กับเจ้าของผู้ครอบครองและผู้ที่ก่อมลพิษทั้งทางตรงและทางอ้อม และกำหนดไว้ว่าประเทศที่จะเป็นคู่ค้ากันได้ก็ควรต้องมีกฎหมายเรื่องมลพิษข้ามแดนบัญญัติและบังคับใช้ด้วย 

 

ในเรื่องความต่างของมลพิษข้ามแดน มุมมองของจักรพล ประธานคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า เราจำเป็นต้องวิเคราะห์หลายส่วน ถ้าจะต้องตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาในเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะก็ต้องทำ เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจว่าแม้จะแตกต่าง แต่กรรมาธิการฯ ก็จะรีดไขมันที่ไม่จำเป็น และบูรณาการผสมผสานให้กลายเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์ที่สุด 

 

Fair Trade ที่ไม่แฟร์กับคนไทย?

 

ประเด็นมลพิษข้ามแดนไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องแค่การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเท่านั้น ภัทรพงษ์ระบุว่า เวลานี้พี่น้องเกษตรกรและผู้ผลิตของไทยก็เผชิญกับความไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย สิ่งที่นักนิติบัญญัติและรัฐบาลควรทำตั้งนานแล้วคือการจัดการระบบให้เกิดความยุติธรรมกับคนในประเทศ

 

เขาอ้างอิงคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่แสดงความคิดเห็นเรื่องการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์ไว้ว่า เพราะการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จึงจำเป็นจะต้องนำเข้าสินค้าต่อไป คู่กับการใช้มาตรการ Zero Tax ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ให้เวลาคู่ค้าแต่ละประเทศได้ปรับตัวและปฏิบัติตาม 

 

ภัทรพงษ์ระบุว่า ได้ดูรายละเอียดประกาศการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ปี 2567 ที่เพิ่งต่ออายุใหม่แล้ว ในเนื้อหาไม่ได้ระบุอะไรเพิ่มเติมจากเดิม จึงถือว่าไม่ได้แตกต่างจากประกาศชุดก่อนที่แก้ไขปัญหาไม่ได้

 

และในเดือนธันวาคม 2566 พรรคก้าวไกลเคยเสนอแนะไปแล้วว่าควรจะพิจารณาการห้ามนำเข้า แต่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าทำไม่ได้ ดังนั้นในมุมของภัทรพงษ์ คำว่า Fair Trade ที่ใช้กับต่างชาติจึงไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย

 

ถ้าถามว่าไม่แฟร์ในด้านไหน? ปัจจุบันเกษตรกรไทยต้องเข้าระบบการกำหนดพื้นที่ละติจูด ลองจิจูด ต้องให้ข้อมูลชัดเจนว่าเขากำลังปลูกอะไร ปลูกที่ไหน แต่กับการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ ทำไมรัฐไทยถึงไม่ให้ผู้ประกอบการต่างชาติระบุพิกัดแบบเดียวกันบ้าง

 

หากรัฐบาลไทยมีข้อกังวลเรื่อง Fair Trade หรือผลกระทบด้านการนำเข้า-ส่งออก ก็สามารถใช้ความตกลงการนำเข้าเสรีสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement) หรือ ATIGA แม้ข้อตกลงนี้จะระบุให้แต่ละประเทศต้องลดภาษีสินค้าเกษตรให้เป็นศูนย์ แต่ว่าถ้าสินค้าบางอย่างเข้าข่ายในมาตรา 7 ที่ระบุว่า แต่ละประเทศสามารถที่จะไม่ดำเนินการตามพันธกรณีนี้ก็ได้ ด้วยเหตุผลในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช เงื่อนไขนี้ก็จะไม่กระทบกับ Fair Trade 

 

ภัทรพงษ์อ้างว่า กระทรวงพาณิชย์เคยชี้แจงว่ามีผู้ประกอบการต่างชาติหลายเจ้าส่งหนังสือรับรองมายังกระทรวงฯ เพื่อยืนยันว่าสินค้าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เขาจึงติดต่อไปยังกระทรวงฯ เพื่อขอข้อมูลว่าใช้เกณฑ์อะไรในการตรวจสอบรับรอง แต่สิ่งที่เขาได้กลับมาคือแบบฟอร์มธรรมดาที่ไม่มีใครกรอกอะไรเลย และเป็นเอกสารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังสือรับรองที่ว่าด้วย 

 

ก็ต้องรอดูว่าพรรคก้าวไกลจะตั้งคำถามต่อเรื่องนี้อีกครั้งหรือไม่ แล้วกระทรวงพาณิชย์จะออกมาชี้แจงข้อสังเกตนี้อย่างไร 

 

อากาศสะอาด = สิทธิพึงมีของพลเมืองไทย

 

เวลานี้การจัดการเรื่องมลพิษและฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายยังคงกระจัดกระจายและมีผู้รับผิดชอบหลายหน่วยงาน มีทั้ง 8 กระทรวง, 12 กรม, 3 สำนักงาน, 2 กอง และ 1 คณะ 

 

เสียงส่วนใหญ่ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน มองตรงกันว่า การทำงานตามโครงสร้างแบบนี้ขาดความเป็นเอกภาพ กระจัดกระจายเกินไป การไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจนทำให้แก้ปัญหามลพิษที่กระทบกับชีวิตของประชาชนไม่ได้เสียที ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้คือต้องบูรณาการเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้

 

จักรพลระบุว่า ตอนนี้คณะกรรมาธิการฯ กำลังทำงานอย่างเข้มข้น โดยสาระของการทำงานจะมีกรอบใหญ่อยู่ 2 เรื่อง คือ 

 

 

  1. สาเหตุของการเกิดฝุ่นพิษในประเทศ 
  2. หมอกควันข้ามพรมแดน 

 

ซึ่งจะต้องวางแผนแก้ปัญหาให้ครอบคลุม มีมาตรการลงโทษวินัยการเงินการคลัง เก็บภาษีบาปจากผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว

 

แม้การทำค่าฝุ่นให้ลดลงในปีนี้อาจจะยังไม่ทันท่วงที แต่คณะกรรมการ PM2.5 แห่งชาติ ที่เขาอยู่ก็ยังทำงานต่อ ในขณะที่คณะกรรมาธิการอากาศสะอาดกำลังศึกษาร่างกฎหมายอย่างเข้มข้น จะเป็นการทำงานเชิงคู่ขนานกัน ไม่ใช่ว่ารอแค่กฎหมายเสร็จในปีหน้าถึงจะเริ่มการเทกแอ็กชันแต่อย่างใด

 

ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็ได้รับผลกระทบ อย่างที่อาจารย์คนึงนิจย้ำในสภาว่า คนไทยจะต้องมีสิทธิในการไม่เป็นมะเร็งปอด สิทธิที่จะไม่ตายก่อนวัยอันควร รวมถึงสิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รู้ค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์

 

หรืออย่างที่ภัทรพงษ์มองว่า ประชาชนต้องมีสิทธิได้หายใจในอากาศที่สะอาด หากมีค่าฝุ่นหรือควันพิษเกินมาตรฐานนานกว่า 24 ชั่วโมง ก็มีสิทธิที่จะได้รับการแจ้งเตือนจากท้องถิ่น มีสิทธิในการตรวจโรคและเข้ารับการรักษาแบบเท่าเทียม รวมถึงมีสิทธิในการฟ้องรัฐที่เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชน

 

และพวกเราในฐานะประชาชนก็ควรจะต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของร่างกฎหมายอากาศสะอาดกันต่อไป เพื่อดูว่าสุดท้ายแล้วร่างกฎหมายที่จะบังคับใช้ในปีหน้าจะสามารถแก้ปัญหาที่คาราคาซังนี้ได้หรือไม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X