×

ส่องอนาคตแม่ลูก ‘STA-STGT’ วัคซีนโควิด-19 มา ราคาไปต่อได้หรือไม่

17.11.2020
  • LOADING...
ส่องอนาคตแม่ลูก ‘STA-STGT’ วัคซีนโควิด-19 มา ราคาไปต่อได้หรือไม่

บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA และ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT เป็นคู่บริษัทแม่และลูกที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 โดยช่วงพีกที่สุด ราคาหุ้น STA ขึ้นไปแตะระดับ 36 บาท เพิ่มขึ้น 260% จากปีก่อน 

 

ส่วน STGT ที่เพิ่งจะขายหุ้นไอพีโอและเข้าเทรดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปสูงสุด 94.50 บาท เพิ่มขึ้น 178% จากราคาไอพีโอที่ 34 บาท

 

ปัจจัยบวกสำคัญหนีไม่พ้นอานิสงส์จากโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นทั่วโลก ถึงขนาดที่ว่ามีคำสั่งซื้อเข้ามาล่วงหน้าไปจนถึงกลางปี 2564

 

แต่เมื่อกระแสข่าวของวัคซีนป้องกันโควิด-19 แพร่ออกมาช่วงวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หุ้น STA และ STGT ต่างถูกเทขายจนราคาหุ้นทั้งสองบริษัทติดลบไปมากสุดกว่า 20% จากวันก่อนหน้า ล่าสุดราคาหุ้น STA ปิดที่ 26.75 บาท ส่วน STGT ปิดที่ 72.75 บาท 

 

แนวโน้มกำไรปี 2564 โตต่อ ก่อนจะเริ่มชะลอหลังวัคซีนกระจายทั่วถึง

หมิ่นหลิง หวัง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า วัคซีนสำหรับป้องกันโควิด-19 น่าจะเริ่มกระจายได้ในช่วงไตรมาส 2/63 หรือ 3/64 เพราะฉะนั้นราคาขายเฉลี่ยของ STGT น่าจะเริ่มลดลงช่วงไตรมาส 1/65 โดยคาดว่าจะเห็นการลดลงในช่วงแรกประมาณ 20% และค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นน่าจะลดลงไปอยู่ในระดับประมาณ 23% ช่วงปี 2565 แต่ยังเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากการใช้ถุงมือยางจะแพร่หลายมากขึ้น

 

ทั้งนี้ แรงกดดันจากข่าวการพัฒนาวัคซีนน่าจะกดดันราคาหุ้นของบริษัทมากที่สุดช่วงนี้ และจะกดดันมากอีกครั้งในช่วงที่เริ่มกระจายได้ทั่วถึง แต่ในแง่ของผลประกอบการจะยังเติบโตต่อได้ในปี 2564 แม้ว่าอาจจะไม่ได้เติบโตก้าวกระโดดแบบในปีนี้

 

บล.เอเซีย พลัส ประเมินผลประกอบการของ STA ในปี 2564 ว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง นำโดยธุรกิจถุงมือยาง โดยได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2563-2564 ขึ้น 23.6% เป็น 8.5 พันล้านบาท และ 79% เป็น 1.5 หมื่นล้านบาทตามลำดับ 

 

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 9,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,310% และคงกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 15,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71% โดยคาดทิศทางของกำไรจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงครึ่งปีแรกของปีหน้า ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงหลังจากเริ่มใช้วัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการ

 

Dual Listing และการแตกพาร์ อาจสะท้อนว่าราคาหุ้นผ่านจุดสูงสุด

จากประเด็นที่ STGT อยู่ระหว่างการศึกษาแผนในการทำ Dual Listing โดยต้องการนำหุ้นของบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ควบคู่ไปกับที่ STGT จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์หลักของการนำหุ้นไปจดทะเบียนที่ตลาดสิงคโปร์ เพื่อให้บริษัทสามารถเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนระดับโลกได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มของนักลงทุนที่อาจจะลงทุนในตลาดสิงคโปร์อยู่แล้ว หรือนักลงทุนที่ไม่ต้องการเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องของค่าเงินในกรณีที่ต้องมาลงทุนในไทย นอกจากนี้ยังอาจช่วยให้บริษัทสามารถระดมทุนผ่านตลาดต่างประเทศได้

 

ทั้งนี้ แผนในการทำ Dual Listing เป็นการเดินตามบริษัทแม่อย่าง STA ซึ่งเคยทำเมื่อปี 2554 และเป็นปีที่สินค้าโภคภัณฑ์โดดเด่นมาก และราคาหุ้น STA ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดไว้ แต่หลังจากที่กระบวนการแล้วเสร็จ ราคาหุ้น STA ก็ยังไม่เคยกลับไปสู่ระดับเดิมได้อีก

 

“ในความเห็นส่วนตัว การที่หุ้นเข้าสู่ Story ประเภทการทำ Dual Listing หรือ Split Par จะเป็นช่วงพีกของราคาหุ้นแล้ว ขณะที่การนำหุ้นจดทะเบียนสองตลาด แต่ด้วยสภาพคล่องที่ไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้อย่างที่คิดไว้”

 

ขณะที่หมิ่นหลิงมีมุมมองต่อประเด็นนี้เช่นกันว่า การไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ สามารถพิจารณาเป็น 2 ประเด็น ส่วนแรกคือ ราคาหุ้นของ STGT ซึ่งปัจจุบันหากเทียบกับผู้ผลิตถุงมือในระดับโลก โดยรวมยังคงซื้อขายในมูลค่าที่ต่ำกว่า อิงจาก Forward P/E ปี 2564 ของ STGT ที่ 4 เท่า และบริษัทที่ใกล้เคียงกันอย่าง Top Glove ของมาเลเซีย ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เช่นกัน ซื้อขายที่ Forward P/E 8 เท่า จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น

 

อีกประเด็นหนึ่งคือ มุมมองของนักลงทุนต่อการทำ Dual Listing ซึ่ง STGT ไม่ได้มีแผนในการออกหุ้นใหม่ แต่จะเป็นการนำหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมที่สมัครใจโอนหุ้นไปสิงคโปร์ ในส่วนนี้มองว่าอาจจะเป็นหุ้นของครอบครัวสินเจริญกุล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงกองทุนต่างประเทศที่ถืออยู่ราว 10%

 

“หากเป็นการนำหุ้นของครอบครัวผู้ถือหุ้นใหญ่ไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ นักลงทุนอาจมองได้ว่าเป็นความตั้งใจที่จะนำหุ้นไปขายหรือไม่ และด้วยช่วงเวลาที่กระบวนการจะแล้วเสร็จซึ่งน่าจะเป็นไตรมาส 2/64 เป็นช่วงที่แรงหนุนจากโควิด-19 เริ่มหมดลงไปแล้ว”

 

ราคายางพาราในไทยฟื้นตัวต่อเนื่องสูงสุดรอบ 3 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกร เปิดเผยเกี่ยวกับราคายางพาราของไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 57.6 บาทต่อกิโลกรัม นับเป็นราคาสูงสุดในรอบ 3 ปี เทียบกับปี 2561 ที่ 42.7 บาทต่อกิโลกรัม และล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2563 ราคาเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 53.8 บาทต่อกิโลกรัม

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าราคาน้ำยางสดของไทยน่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ในระยะสั้นคือ ช่วงที่เหลือของปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ที่ราว 53-58 บาทต่อกิโลกรัม ด้วยแรงหนุนจากความต้องการถุงมือยาง โดยเฉพาะถุงมือทางการแพทย์

 

ในระยะข้างหน้า ความต้องการถุงมือยางของโลกจะยังคงมีอยู่ แม้จะมีการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ได้สำเร็จแล้วก็ตาม แต่คาดว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปในแง่ที่หันมาใส่ใจสุขอนามัยมากขึ้นในระยะยาว อีกทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมสุขภาพ อัตราส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรรวม และการพัฒนามาตรฐานคุณภาพระบบสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนา ล้วนส่งผลต่อความต้องการถุงมือยาง

 

ส่องอนาคตแม่ลูก ‘STA-STGT’ วัคซีนโควิด-19 มา ราคาไปต่อได้หรือไม่

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising