×

มองโลกอนาคตหลังโควิด-19 เมื่อโลกาภิวัตน์อาจกลายพันธุ์ มหาอำนาจโลกถูกท้าทาย เราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร

24.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • โลกหลังวิกฤตโควิด-19 จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร นี่คือโจทย์ท้าทายที่หลายประเทศต้องมองให้ออก ซึ่ง ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ฉายภาพสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ให้เราได้เห็น
  • จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกได้หรือไม่ บทบาทของสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนไปอย่างไรในวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ คือหนึ่งในประเด็นที่เราชวน ศ.ดร.สุรชาติ ร่วมกันคิด
  • “นับจากนี้จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป สิ่งที่เราจะเห็นข้างหน้าในความเปลี่ยนแปลงต้องการการปรับตัว การต่อสู้ของเราในวันนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเราในวันพรุ่งนี้ ทั้งหมดมีเพียงจุดหมายเดียวคือ การสร้างสังคมไทยให้เดินไปสู่อนาคตที่เป็นความหวังของพวกเราทุกคน” ศ.ดร.สุรชาติ ทิ้งท้ายให้สังคมได้ขบคิด

 

นับตั้งแต่ที่โลกมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้นมา ปี 2020 ที่เราวาดฝันไว้อาจแตกต่างออกไปจากที่เราเคยคิดโดยสิ้นเชิง เราเห็นผู้คนสวมหน้ากากอนามัยจนชินตา รัฐบาลแนะให้พลเมืองอยู่แต่ภายในที่พักอาศัย ลดการปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่สาธารณะ บางประเทศประกาศล็อกดาวน์ ภาคเศรษฐกิจแทบจะหยุดชะงักทั้งหมด มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาขึ้นรั้งตำแหน่งประเทศที่พบการระบาดรุนแรงที่สุดในขณะนี้ 

 

ระเบียบโลกหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร เราจะรับมือและปรับตัวกับความปกติใหม่ (New Normal) ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร THE STANDARD ชวน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพูดคุยในประเด็นนี้

 

ภาพ: eamesBot / Shutterstock

 

 

ถ้าเราเชื่อว่าเมื่อเหตุการณ์ใหญ่ๆ แต่ละชุดจบลง จะนำไปสู่การสร้างระเบียบระหว่างประเทศชุดใหม่ วิกฤตอย่างโควิด-19 เองก็จะนำไปสู่การสร้างระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศชุดใหม่เช่นเดียวกัน โลกทุนนิยมจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรหลังโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจจะกลายเป็นอีกประเด็นใหญ่หลังจากนี้

 

 

โลกหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

คำถามนี้เป็นข้อถกเถียงใหญ่ในช่วงเวลานี้ มีบทความและประเด็นให้ถกเถียงกันเยอะมาก แต่ทุกคนต่างสรุปด้วยข้อสรุปที่เหมือนกันว่าโลกเปลี่ยนแน่ๆ โลกหลังจากนี้จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป พูดง่ายๆ ก็คือเรากำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ โควิด-19 เป็นอะไรที่ใหญ่ที่สุดที่เราเผชิญนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

ในระยะสัก 3-4 ปีที่ผ่านมา สังคมโลก รวมถึงในบ้านเราเองต่างพูดถึงเรื่องการผันผวน ความผันแปรทั้งหลาย ดิสรัปชันของโลกถูกนำไปผูกโยงกับโลกออนไลน์ มองมิติดิสรัปชันผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ครั้งนี้ความผันแปรครั้งใหญ่ได้กลับมาพร้อมกับเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกอย่างเรื่องโรคระบาด

 

ผมจะลองเปิดประเด็นจากมุมของคนที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือมองผ่านมิติการเมืองโลก เวลาเราเห็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในโลก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและจบลง เมื่อเหตุการณ์แต่ละชุดจบลง ระเบียบโลกหรือวิถีของโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในยุคสมัยพวกเรา เหตุการณ์ใหญ่ที่สุดของการเปลี่ยนวิถี แบบแผน หรือระเบียบโลกที่เคยเกิดขึ้นคือการสิ้นสุดของสงครามเย็น สิ่งที่เป็นผลิตผลใหญ่ของเหตุการณ์นั้นก็คือกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)

 

หลายประเทศในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงสงคราม ผู้คนจำนวนมากต่างทยอยเสียชีวิตลงในระยะเวลาสั้นๆ ถ้าเราจะเปรียบการระบาดเหมือนสงคราม แน่นอนว่าคำตอบในทางการเมืองระหว่างประเทศ สงครามจบเมื่อไรระเบียบก็เปลี่ยน ขณะที่ยุโรปเริ่มฟื้นตัว สหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ สิ่งที่เรากำลังจะได้เห็นพร้อมระเบียบใหม่คือการจัดความสัมพันธ์ของรัฐมหาอำนาจหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร 

 

ภาพ: Thomas Peter-Pool / Getty Images

 

 

ถ้าเราจะเปรียบการระบาดเหมือนสงคราม แน่นอนว่าคำตอบในทางการเมืองระหว่างประเทศ สงครามจบเมื่อไรระเบียบก็เปลี่ยน

 

 

 

การเมืองของรัฐมหาอำนาจหลังโควิด-19 อำนาจใหม่จะอยู่ในมือใคร

ก่อนที่โควิด-19 จะมา ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่มีสงครามการค้าเป็นแกนกลางน่ากังวลไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร แต่พอเกิดโรคระบาดนี้ขึ้น เราต้องยอมรับว่าสงครามดังกล่าวได้หยุดลงชั่วคราว ผมคิดว่าหลังโควิด-19 สหรัฐฯ คงอยู่ในสถานะที่อ่อนลง โดยมีเงื่อนไขจากการเผชิญปัญหาต่างๆ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะนี้ก็ถือว่าน่ากังวลมาก คนว่างงานเพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะที่จีนเริ่มทรงตัวได้ 

 

สำหรับผม ารแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยังคงเข้มข้นขึ้น ถ้ากำลังคิดว่าหมดโควิด-19 ทุกอย่างจะคลายตัวลง ผมว่าไม่ใช่ สหรัฐฯ คงจะต้องประคองสถานะของตัวเองในฐานะรัฐมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกไว้ให้ได้ คำถามคือจะประคองอย่างไร คำตอบของคำถามนี้จะชัดเจนขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้จบลง โดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะอีกสมัยหรือไม่ ถ้าชนะแล้วจะยังคงดำเนินนโยบายแบบเดิมหรือไม่ แต่อย่างน้อยเราสามารถตอบได้ชัดว่าระเบียบโลกเปลี่ยนแน่ๆ สิ่งที่ต้องคิดต่อคือสมดุลแห่งอำนาจในการเมืองโลกจะเปลี่ยนด้วยหรือไม่ สิ่งนี้มีนัยซึ่งกันและกัน ถ้าระเบียบโลกเปลี่ยนไปก็อาจสะท้อนว่ารัฐมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งมีอำนาจมากขึ้น แน่นอนว่าจีนหลังโควิด-19 อาจเป็นจีนที่เข้มแข็งขึ้นมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจีนจะสามารถทำทุกอย่างได้อย่างที่จีนอยากทำ

 

จีนจะสามารถก้าวขึ้นเป็นรัฐมหาอำนาจอันดับ 1 ได้หรือไม่

ถ้าเราสังเกตการใช้อิทธิพลของจีน ประมาณปี 2008 จีนใช้อำนาจผ่านปัจจัยใหญ่ที่สุดคือการขยายอำนาจผ่านนโยบายการเงินการคลัง จีนทำโครงการด้วยการนำเงินก้อนไปให้บรรดารัฐต่างๆ กู้ยืมเพื่อสร้างอำนาจ โดยเฉพาะในแอฟริกาและแถบเพื่อนบ้านเราอย่างกัมพูชาและลาว ตอนนี้จีนอาจจะเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจีนจะสามารถใช้นโยบายด้านการเงินเพื่อสร้างอำนาจในเวทีระหว่างประเทศเหมือนอย่างที่จีนเคยทำได้หลังปี 2008 เศรษฐกิจจีนหลังโควิด-19 ก็อาจจะไม่ได้ดีมาก เพียงแค่จีนไม่ทรุดลงอย่างที่เราเห็นในโลกตะวันตก 

 

สมมติว่าวันนี้จีนอยากขึ้นมาเป็นรัฐมหาอำนาจ ทุกคนรู้ว่าจีนเป็นเบอร์ 1 แต่จีนเป็นเบอร์ 1 ได้หรือไม่ในภาวะอย่างที่จีนเป็น จีนอาจใช้เงินในหลายมิติ แต่กับมิติองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เราไม่ค่อยเห็นบทบาทของจีนมากนัก คำถามสำคัญที่ตามมาคือในทางการเมืองระหว่างประเทศ จีนมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐในเวทีโลกได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราอยู่บนสมมติฐานที่ว่าสหรัฐฯ เริ่มถอย จีนแบกรับได้ไหม เพราะการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเวทีโลกมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก 

 

ภาพ: Thomas Peter-Pool / Getty Images

 

 

การต่อสู้ของเราในวันนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเราในวันพรุ่งนี้ ทั้งหมดมีเพียงจุดหมายเดียวคือการสร้างสังคมไทยให้เดินไปสู่อนาคตที่เป็นความหวังของพวกเราทุกคน

 

บทบาทผู้นำโลกของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

โดยปกติแล้วสหรัฐฯ จะต้องแสดงบทบาทผู้นำโลกทุกครั้งเมื่อมีวิกฤตในระดับโลก แต่ครั้งนี้เรายังไม่เห็น เพราะนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่วนใหญ่เน้นภายในประเทศเป็นสำคัญ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ สหรัฐฯ แทบไม่มีบทบาทในการช่วยเหลือยุโรปเลย ซึ่งต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ไม่เคยละทิ้งชาติพันธมิตรในยุโรปเลย สหรัฐฯ มีอะไรหรือจะปรับนโยบายใหญ่ๆ ก็ต้องปรึกษาผู้นำยุโรปอยู่เสมอ

 

ในมุมกลับกัน ผมเองก็ไม่รู้สึกว่าจีน Take Leadership อะไร มีแต่พยายามที่จะขาย China Model ในการแก้ปัญหา แต่ก็มีปัญหาพอสมควรเมื่อนำไปปรับใช้กับประเทศอื่น หลังจากนี้ประเทศที่เป็นลูกหนี้จีนจะลำบาก ที่ผ่านมาจีนใช้เงินในรูปแบบของการให้กู้แทนการให้เปล่า ไม่ได้เป็นอย่างที่รัฐตะวันตกเคยใช้เหมือนกับยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือช่วงต้นสงครามเย็น หลายประเทศกู้เสร็จไม่มีเงินชำระตามกำหนด แล้วก็ถูกจีนเข้าไปเทกโอเวอร์ในท้ายที่สุด 

 

จากประเด็นที่เปิดมาแล้วข้างต้น นำไปสู่การตั้งอีกหนึ่งคำถามที่สำคัญมาก ถ้าเราเชื่อว่าเมื่อเหตุการณ์ใหญ่ๆ แต่ละชุดจบลงจะนำไปสู่การสร้างระเบียบระหว่างประเทศชุดใหม่ วิกฤตอย่างโควิด-19 เองก็จะนำไปสู่การสร้างระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศชุดใหม่เช่นเดียวกัน โลกทุนนิยมจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรหลังโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจจะกลายเป็นอีกประเด็นใหญ่หลังจากนี้

 

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

 

โลกาภิวัตน์จะกลายพันธ์ุไปอย่างไร

โลกาภิวัตน์จะมีลักษณะที่ม้วนตัวกลับ การเดินทางระหว่างประเทศน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหรือไปเที่ยว พอเจอวิกฤตโควิด-19 การประชุมระหว่างประเทศต่างๆ จึงใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไม่ต้องเดินทางเลย รวมถึงเรื่องการค้าระหว่างประเทศ 

 

ถ้าถามว่าการค้าเสรีจะยังอยู่หรือไม่ ในกรณีถ้าหากรัฐบาลเผชิญหน้ากับวิกฤตแล้วพยายามจะปกป้องตนเองเพิ่มมากขึ้น ผมเกรงว่าการค้าเสรีจะได้รับผลกระทบ อาจมีการสร้างกำแพงกั้นตัวเองล้อมรอบเอาไว้กันสิ่งที่จะเข้ามาจากภายนอก 

 

ธุรกิจกับโลกอุตสาหกรรมกำลังจะเปลี่ยน ธุรกิจเก่ากำลังจะหายไป ธุรกิจใหม่ๆ กำลังเข้ามา หลังโควิด-19 เราจะเห็นการเติบโตของออนไลน์อย่างก้าวกระโดด ในวันนี้ทุกอย่างถูกทำให้เป็นออนไลน์แทบทั้งหมด ตั้งแต่ห้องเรียน การช้อปปิ้ง หรือแม้แต่การแข่งขันกีฬาที่มีกรรมการและผู้ชมที่ดูและให้คะแนนผ่านระบบออนไลน์

 

ในวงการสื่อเอง วันนี้การอ่านข่าวสารของคนก็เป็นออนไลน์หมด ต่อไปโลกธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงภาคบริการทั้งหมด จะถูกจับเข้าไปไว้ในโลกออนไลน์มากขึ้น มันกำลังจะเปลี่ยนแบบแผนชีวิตเรา กำลังจะเปลี่ยนแบบแผนพฤติกรรมการบริโภคของคน วิถีชีวิตเปลี่ยน การบริโภคก็เปลี่ยน 

 

ในเวทีโลกที่กระแสโลกาภิวัตน์ถูกท้าทาย เราจะเห็นการเคลื่อนตัวของกระแสคนชนชั้นล่าง ซึ่งอาจรวมถึงชนชั้นกลางระดับล่างด้วย หากเราสังเกตเห็น เรากำลังเห็นการก่อตัวของชุดความคิดทางการเมืองที่เป็นสังคมนิยมฉับพลัน ทั้งในสหรัฐฯ รวมถึงหลายประเทศในยุโรปถือเป็นตัวอย่างสำคัญ กระแสความคิดนี้มาพร้อมกับข้อเรียกร้องที่ค่อนข้างชัดเจนคือรัฐต้องดูแลคนชนชั้นล่าง คนไร้โอกาสเพิ่มมากขึ้น เกิดกระแสเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น

 

วันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการบริหารจัดการข้อมูลของภาครัฐอย่างเดียวแล้ว แต่คือการอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย การรื้อระบบจัดเก็บข้อมูลใหม่ไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างให้รัฐเข้มแข็งในการควบคุมสังคม แต่เพื่อให้รัฐมีศักยภาพในการแก้ปัญหาในอนาคตมากขึ้น โดยประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องไม่ถูกแปลงเป็นอำนาจในการควบคุมหรือกีดกันผู้เห็นต่างในสังคม รัฐจำนวนไม่น้อยอาศัยวิกฤตในการแสวงหาอำนาจพิเศษเพิ่มมากขึ้น

 

 

ภาพ: Piroschka van de Wouw / Reuters

 

ความท้าทายสำคัญของรัฐและตัวผู้นำในยุคหลังโควิด-19 คืออะไร

 

ปี 2019 ที่ผ่านมา เป็นปีแรกที่การก่อการร้ายในเวทีแต่ละประเทศลดลงอย่างมาก ในปีนี้กลุ่มรัฐอิสลามก็ประกาศชัดงดปฏิบัติการชั่วคราว เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โจทย์ความมั่นคงชุดนี้ถูกแขวนไว้ชั่วคราว แต่โจทย์การเมืองหลังโควิด-19 หลายประเทศจะเข้มข้นขึ้น เพราะวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่นี้เป็นบททดสอบชั้นดีที่จะพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลว่าใครทำได้ ใครทำไม่ได้

 

หลังจากผ่านพ้นวิกฤต โจทย์ใหญ่ที่รออยู่คือวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูประเทศ ทั่วโลกจะเผชิญจุดเดียวกันหมด และต้องการประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูประเทศให้กลับมาโดยเร็ว พอการเมืองเปิดออก การตรวจสอบภาครัฐจะเข้มข้นขึ้น เราจะเห็นการเมืองภาคประชาสังคมเด่นชัดขึ้น คนชนชั้นล่างกล้าออกมาเดินขบวนเรียกร้อง เกิดม็อบหลายรูปแบบที่พัวพันอยู่กับเรื่องปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ 

 

ต่อจากนี้ไม่เพียงแต่โจทย์ในเวทีระหว่างประเทศ แต่ระบบระเบียบภายในประเทศก็น่าจะเปลี่ยนไม่มากก็น้อย ไทยเองก็จะต้องเผชิญถึง 5 วิกฤตหลังผ่านโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ วิฤตสังคมจากคนจน วิกฤตทับซ้อนที่ยังไม่จบอย่างไฟป่าและฝุ่นพิษ รวมถึงวิกฤตอีกชุดที่ยังไม่มีคำตอบอย่างปัญหาภัยแล้งในชนบทไทย

 

วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้ไทยอาจจะต้องกลับมาทบทวนตัวเองอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่ผมกำลังกังวลคือเรากำลังเห็นสังคมที่ผู้คนจะถูกแบ่งระหว่างคนที่สามารถใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ กับคนที่ถูกโลกออนไลน์ทิ้ง โลกออนไลน์กำลังจะคัดคนอีกส่วนหนึ่งออก กลายเป็นว่าสวัสดิการที่รัฐบาลไทยใช้เพื่อหวังจะเข้าถึงผู้คนกลับกลายเป็นชนชั้นล่างๆ เข้าไม่ถึงระบบออนไลน์ และไม่ได้รับสวัสดิการที่พวกเขาพึงได้รับ เรากำลังเห็นช่องว่างทางสังคมใหม่ที่เป็นเรื่องเทคโนโลยี ช่องว่างระหว่างคนในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ ทำอย่างไรที่สังคมจะไม่ทอดทิ้งพวกเขาและเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน

 

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

 

อย่ารู้สึกว่าผมนำเสนอแต่มิติด้านลบ ในความเปลี่ยนแปลงก็มีส่วนที่ดีคือเราจะปรับตัวได้อย่างไร สิ่งที่ผมพูดเป็นสิ่งที่พยายามทดลองนำเสนอและช่วยให้พวกเราเห็นภาพต่ไม่ได้บอกว่าต้องตื่นตระหนก เมื่อเราเห็นภาพ เราต้องปรับตัว 

 

นับจากนี้จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป สิ่งที่เราจะเห็นข้างหน้าในความเปลี่ยนแปลงต้องการการปรับตัว การต่อสู้ของเราในวันนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเราในวันพรุ่งนี้ ทั้งหมดมีเพียงจุดหมายเดียวคือการสร้างสังคมไทยให้เดินไปสู่อนาคตที่เป็นความหวังของพวกเราทุกคน

 

หลังวิกฤต ถ้าเราปรับตัวได้ เราก็จะสร้างประเทศไทยขึ้นใหม่อีกครั้ง ผมคิดว่าเราสู้ไหว ทั้งหมดนี้คือโซเชียลวัคซีนที่เราต้องร่วมกันสร้าง หวังว่าจะเป็นวัคซีนทางสังคมที่ช่วยให้เราเข้าใจ แต่ไม่ได้ช่วยให้เรากลัวเพิ่มมากขึ้น

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI
  • ‘5 วิกฤตของไทยหลังโควิด-19 ผ่านไป ไทยต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม ได้ที่ https://thestandard.co/5-crisis-in-thailand-after-covid-19/
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X