×

ส่องอาณาจักร Tesla บริษัทที่หลายประเทศหมายปองดึงมาร่วมลงทุน พร้อมความเป็นไปได้ของไทยในการคว้าโอกาสครั้งนี้

21.09.2023
  • LOADING...
Tesla

หลังจากข่าวการเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรีของไทย เศรษฐา ทวีสิน ในการเข้าร่วมงาน UNGA และถือโอกาสเข้าพบนักลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Tesla ได้จุดประกายว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ Tesla ได้รับความสนใจจากนานาประเทศ และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ไทยจะสามารถดึง Tesla เข้ามาร่วมลงทุนในยุคการเปลี่ยนทางพลังงาน

 

ในปีที่แล้ว อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla ตั้งเป้าอย่างกล้าหาญว่าบริษัทจะทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ได้ 20 ล้านคันในปี 2030 เป้าหมายดังกล่าวกลายเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตของบริษัทและการขับเคลื่อนการใช้พลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งถ้าหากทำได้จะทำให้ Tesla กลายเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และครองสัดส่วน 20% ของตลาดรถยนต์ทั่วโลก

 

แต่การที่จะไปถึงจุดหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะการเติบโตที่ว่าจะต้องเพิ่มขึ้น 13 เท่าจากยอดขายที่ทำได้ในปีนี้ อีกทั้งอุปสรรคในการจัดหาแบตเตอรี่และวัตถุดิบที่สำคัญ เช่น ลิเธียม และนิกเกิล ให้เพียงพอต่อการผลิตรถยนต์ 20 ล้านคัน และยังไม่รวมถึงการที่ Tesla จะต้องสร้างโรงงานขนาดใหญ่อีก 7-8 แห่ง โดยเฉลี่ย 1 แห่งต่อ 1 ปี และยังต้องใช้ความจุของแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น 30 เท่าเพื่อจ่ายให้แก่โรงงานที่ผลิตรถยนต์ทั้งหมดของบริษัท

 

เพื่อการนั้น Tesla จะต้องหาพันธมิตรที่สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราจึงได้เห็นทั้งแคนาดา อินโดนีเซีย อินเดีย และรัฐบาลชาติอื่นๆ ต่างมีความพยายามอย่างหนักเพื่อชักจูงการลงทุนจาก Tesla ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 

 

ย้อนรอย Tesla กับบทบาทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ต้นของโลก

 

กว่าจะมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลก Tesla ซึ่งถือกำเนิดเมื่อปี 2003 ต้องดิ้นรนต่อสู้กับแบรนด์รถยนต์นํ้ามันสันดาป แต่การมาของมัสก์ได้ยกระดับบริษัท และกลายผู้ลงทุนคนแรกๆ ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง

 

Tesla พัฒนากิจการของตนเองขึ้นมาเรื่อยๆ โดยได้เปิดตัวรถยนต์รุ่น Roadster ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์คันแรก ได้ประกาศขายหุ้น IPO ในปี 2010 และเปิดตัวรถยนต์รุ่น Model S และ Model X ในปี 2012 และ 2015 ตามลำดับ พร้อมขยายธุรกิจสู่พลังงานแสงอาทิตย์

 

แต่เวลาที่ Tesla เริ่มเป็นที่รู้จักจริงๆ คือการเปิดตัวรถ Sedan รุ่น Model 3 ในราคาที่เอื้อมถึงเมื่อปี 2017 จากวันนั้นหลายคนให้ความสนใจกับ Tesla และกลายเป็นรถไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดของ Tesla จนถึงปัจจุบัน และในเวลาต่อมาได้มีการออกรถยนต์รุ่นใหม่ เช่น Model Y, Model Semi และ Cybertruck

 

แต่หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท มาร์ติน อีเบอร์ฮาร์ด ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2008 และได้มีปัญหาฟ้องร้องกันระหว่างอีเบอร์ฮาร์ดและมัสก์ อีกทั้งบริษัทได้เผชิญปัญหาทางการเงินในช่วงปี 2016-2018 จนนักวิเคราะห์หลายรายคาดว่า Tesla อาจล้มละลาย 

 

ปัจจุบัน Tesla เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 2 ของโลก รองจาก BYD โดยผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1.3 ล้านคันในปี 2022 รถยนต์ของ Tesla เป็นที่นิยมอย่างมาก อย่างเช่น รถยนต์ Model 3 ของ Tesla เป็นรถยนต์รุ่นแรกที่มียอดขายทะลุ 1 ล้านคันทั่วโลก และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 Model Y กลายเป็นรถยนต์ที่ขายดีที่สุดทั่วโลก

 

โครงสร้างรายได้ของ Tesla

 

โครงสร้างรายได้ของ Tesla ประกอบด้วยรายได้จากการขายรถยนต์ไฟฟ้าถึง 83% ขณะที่รายได้อื่นๆ มาจากการบริการ 7%, อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน 5%, การปล่อยสินเชื่อ 3% และการขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ผู้ผลิตรถยนต์เจ้าอื่น 2% 

 

จะเห็นได้ว่ารายได้จากการขายรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้ Tesla พลิกกลับมามีกำไรเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2020 หลังจากที่บริษัทเผชิญกับการขาดทุนมาโดยตลอด ไฮไลต์ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความนิยมในรถยนต์ Model 3 และเป็นจุดกำเนิดให้ Tesla ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่นั้นมาบริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

ผลประกอบการล่าสุดของ Tesla ในไตรมาส 2 ของปี 2023 พบว่ารายได้ทำสถิติสูงสุดของกิจการอยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กำไรขั้นต้นลดลงจากการใช้กลยุทธ์ปรับลดราคาเพื่อเพิ่มยอดขาย

 

จากผลประกอบการที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดจำนวนมาก คงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นข่าวการลงทุนใหม่ของ Tesla ในเร็วๆ นี้ Tesla มีฐานการผลิตในปัจจุบันอยู่ 6 แห่ง โดยอยู่ในสหรัฐฯ 4 แห่ง จีน 1 แห่ง และเยอรมนีอีก 1 แห่ง 

 

ดูเหมือนว่าทีท่าในการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติมจะเริ่มปรากฏได้ชัดจากข่าวลือการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ในซาอุดีอาระเบีย หรือข่าวลือการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในอินโดนีเซีย หลายประเทศแสดงความกระตือรือร้นอย่างมากในการเชื้อเชิญให้ Tesla เข้ามาลงทุน เช่น มาเลเซียให้สัมปทานพิเศษแก่ Tesla โดยเป็นแบรนด์รถยนต์รายแรกที่สามารถขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องมีพันธมิตรในท้องถิ่น ขณะที่เกาหลีใต้ประกาศลดหย่อนภาษีหากมีการตั้งโรงงาน Tesla ในประเทศ

 

จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าไทยจะสามารถเชื้อเชิญ Tesla เข้ามาลงทุนในประเทศได้อย่างไร ท่ามกลางสมรภูมิอันดุเดือดจากหลายประเทศ ซึ่งถ้าหากไทยสามารถดึง Tesla มาตั้งฐานการผลิตได้จริง ก็คงจะไม่ต่างกับตอนที่ญี่ปุ่นเคยมาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ และทำให้ไทยมีโอกาสได้เป็นแหล่งผลิตรถยนต์ EV เหมือนที่เคยทำได้กับรถสันดาปภายใน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X