โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการสามารถหายได้เอง โดยรักษาตามอาการเท่านั้น ผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งมีอาการปานกลางหรือมีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงจะได้รับยาต้านไวรัสเป็นเวลา 5-10 วัน ส่วนผู้ป่วยสีแดง ซึ่งมีอาการรุนแรงจะอยู่ในความดูแลของแพทย์จนอาการดีขึ้น
อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดีขึ้นภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ และมักจะหายขาดภายใน 12 สัปดาห์
แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพที่เรียกว่า ‘ลองโควิด’ (Long COVID) หรือที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา เรียกอาการที่ยังพบหลังจากติดเชื้อไปแล้ว 4 สัปดาห์ว่าภาวะ ‘โพสต์โควิด’ (Post-COVID Conditions)
ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน หรือจำนวนผู้ป่วยที่ประสบกับภาวะนี้ บางอาการคล้ายอาการที่พบในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น บางอาการจำเพาะเจาะจงกับโควิด-19 และบางอาการก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น แต่สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ภาวะลองโควิด ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงจากการรักษาโควิด-19
ภาวะลองโควิด
ภาวะลองโควิด เป็นกลุ่มอาการที่สามารถพบได้นานตั้งแต่ระดับสัปดาห์หรือระดับเดือนหลังติดเชื้อไวรัส และถึงแม้ตอนแรกจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการก็สามารถพบภาวะนี้ได้ โดยอาการที่พบค่อนข้างหลากหลาย ได้แก่
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- ความจำ / สมาธิสั้น
- ปวดศีรษะ
- จมูกไม่ได้กลิ่น หรือลิ้นไม่รับรส
- เวียนศีรษะ
- ใจสั่น
- เจ็บหน้าอก
- หายใจลำบาก
- ไอ
- ปวดกล้ามเนื้อ / ข้อต่อ
- ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล
- ไข้
ภาวะแทรกซ้อนของโควิด-19
โควิด-19 อาจมีภาวะแทรกซ้อนหลายระบบ ได้แก่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (ประมาณ 15% ของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงของวัคซีนบางชนิด) ระบบหัวใจและหลอดเลือด ไตวายเฉียบพลัน ตับอักเสบเฉียบพลัน ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท / จิตใจ และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
รวมทั้งกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem inflammatory Syndrome: MIS) เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบของระบบต่างๆ หรือ ‘แพ้ภูมิตัวเอง’ โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ถ่ายเหลว ไตวาย ช็อก หลังป่วยเป็นโควิด-19 และหายแล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์ ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าภาวะแทรกซ้อนในระบบต่างๆ จะสามารถพบได้นานกี่เดือน
ผลข้างเคียงจากการรักษาโควิด-19
บางอาการอาจคล้ายกับผลข้างเคียงจากการนอนโรงพยาบาลนานด้วยโรคอื่น ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงมักต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต / ICU เมื่อพ้นระยะวิกฤตมาแล้วจะเกิดภาวะ ‘หลัง ICU’ (Post-intensive Care Syndrome: PICS) เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู
การรักษาภาวะโพสต์โควิด
ภาวะโพสต์โควิดจะต้องวินิจฉัยแยกออกจากโรคที่มีอันตรายอื่นหรือสาเหตุอื่นก่อน ควรปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งจะซักประวัติ วัดความดันโลหิต / ชีพจร เจาะเลือดตรวจ หรือเอกซเรย์ปอด โดยภาวะนี้มักดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น แต่ละโรงพยาบาลควรจัดทีมสหวิชาชีพติดตามอาการของผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว
และวิธีการป้องกันภาวะโพสต์โควิดที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- Long-Term Effects https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/long-term-effects.html
- Long-term effects of coronavirus (long COVID) https://www.nhs.uk/conditions/coronavirus-covid-19/long-term-effects-of-coronavirus-long-covid/
- Complications https://bestpractice.bmj.com/topics/en-us/3000168/complications
- ความสัมพันธ์ระหว่าง 2019 Coronavirus Disease (COVID-19) และ Kawasaki Disease https://www.pidst.net/A929.mobile