ตลอดระยะเวลาของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เราได้ยินคำว่า Long COVID กันมาตลอดว่าเป็นอาการที่เป็นผลพวงตามหลังจากการติดโควิด แต่น่ากลัวแค่ไหน มีอะไรที่เราต้องรู้เกี่ยวกับอาการนี้บ้าง วันนี้ THE STANDARD POP สรุปมาให้อ่านกันอีกครั้ง
‘ลองโควิด’ (Long COVID) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Post COVID-19 Condition ซึ่งคือภาวะของคนที่หายจากโควิดแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่ตามมาหลังหายป่วย ซึ่งมีอาการที่หลากหลายมาก ยกตัวอย่างเช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ สมาธิสั้น ผมร่วง หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม การรับรสชาติและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป เจ็บหน้าอก หายใจถี่ ปวดตามข้อ ไอ หรือท้องร่วง
นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น มีภาวะสมองล้า นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่รักษาหายแล้ว
อาการ Long COVID อีกรูปแบบหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ‘เกิดจากผลกระทบที่มีที่มาจากการรักษา’ โดยเฉพาะผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงหรือเคยต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) เมื่อพ้นระยะวิกฤตมาแล้วจะเกิดภาวะ ‘หลัง ICU’ หรือ Post-Intensive Care Syndrome (PICS) เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู
ปัจจุบันภาวะ Post COVID-19 Condition หรือ Long COVID แพทย์แนะนำให้ทุกคนสังเกตตัวเองอย่างละเอียด ประเมินร่างกายตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษาทันที โดยจะเป็นการรักษาตามอาการ อย่าปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรงและเรื้อรัง
โดยมากอาการ Long COVID จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และกลุ่มเสี่ยงของอาการ Long COVID คือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งหากหลายๆ คนที่เคยป่วยเป็นโควิดมาก่อน แม้จะมีอาการไม่หนักหรือผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ก็สามารถมีโอกาสเกิดอาการ Long COVID ได้เช่นกัน
กรมอนามัยมีข้อแนะนำแก่ผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID ว่าควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของตนเองอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด เน้นอาหารย่อยง่าย เนื่องจากอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร และหากมีอาการเบื่ออาหารควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆ มื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตลอดวัน ไม่ให้ร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย
ควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง ถั่วต่างๆ เต้าหู้ รวมทั้งบริโภคอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพหรือโพรไบโอติก (Probiotic) ได้แก่ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โดยควรเลือกชนิดที่มีนํ้าตาลน้อย กินร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม
ขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทจังก์ฟู้ด อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด รวมทั้งควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาหารเหล่านี้มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง