ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange: LSE) ร่วมกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เอกชนของ LSE (Nominated Advisers: NOMAD) อย่าง WH Ireland Plc. ซึ่งเป็นเหมือน ก.ล.ต. ของไทย แต่เป็นเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจาก LSE หวังดึงธุรกิจไทยออกไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน โดยเฉพาะการเข้าจดทะเบียนในตลาดทางเลือกอย่าง Alternative Investment Market (AIM) ซึ่งเปรียบเสมือนตลาด mai ของไทย
การเข้ามาเปิดตลาดของ LSE ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมกับบริษัท เรเนซองส์ อินเตอร์เนชั่นแนล พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะกองทุนร่วมลงทุนและส่วนทุน (Private Equity) ที่ร่วมผลักดันให้ธุรกิจไทยออกไปจดทะเบียนในระดับนานาชาติ
ณชนก รัตนทารส ประธานกรรมการของเรเนซองส์ กล่าวว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ต่อยอดโอกาสการเติบโตในระยะยาวให้กับธุรกิจ ปัจจุบันภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็รวมถึงการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ อย่างเช่น LSE
ท่ามกลางสถานการณ์ที่นักลงทุนต่างชาติกำลังเทขายตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ณชนกมองว่า “การผลักดันให้บริษัทไทยออกไปจดทะเบียนต่างประเทศเป็นการช่วยดึงเงินทุนให้กลับเข้ามาในไทย”
ธอม แอ็บบอตต์ Head of South East Asia, Primary Markets ของ LSE เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนเป็นตลาดหุ้นอันดับหนึ่งที่มีบริษัทต่างชาติจดทะเบียนอยู่มากที่สุด และนับแต่ปี 2019 เป็นต้นมา จะเห็นว่า 5 ใน 10 บริษัทที่ระดมทุนมากที่สุดของตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนคือบริษัทต่างชาติ
การออกไปจดทะเบียนที่ตลาดลอนดอนจะช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนในระดับโลก และมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในระยะยาว แทนที่จะเป็นแค่ความหวือหวาในระยะสั้น
สำหรับเป้าหมายของการดึงธุรกิจไทยออกไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นลอนดอน คริส ฟีลดิง กรรมการผู้จัดการ WH Ireland Plc. ของ NOMAD เปิดเผยว่า ต้องการช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กที่ต้องการสร้างการเติบโต
“AIM เป็นตลาดสำหรับบริษัทที่กำลังเติบโต ขนาดของธุรกิจไทยที่เหมาะสมจะไประดมทุนใน AIM ควรจะอยู่ที่ราว 1-2 พันล้านบาท โดยธุรกิจที่น่าสนใจคือ พลังงานทดแทน ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งเทคโนโลยี”
จุดเด่นของการที่บริษัทสามารถไปจดทะเบียนในตลาด AIM นอกจากจะเป็นการระดมทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจแล้ว ยังช่วยเสริมความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ ในฐานะบริษัทที่จดทะเบียนในลอนดอน นอกจากนี้ยังใช้ระยะเวลาสำหรับกระบวนการเข้าตลาดที่ค่อนข้างสั้นราว 4-5 เดือน เนื่องจากใช้วิธีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Disclosure-Based) ที่นิยมใช้กันในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งแตกต่างจากการระดมทุนในประเทศกำลังพัฒนาที่มีกฎเกณฑ์ค่อนข้างรัดกุมและเข้มงวดตามแนวทางการกำกับดูแลโดยวิธีการพิจารณาตามความเหมาะสม (Merit-Based)
อย่างไรก็ตาม คริสกล่าวว่า ยังมีเงื่อนไขสำคัญบางอย่างสำหรับบริษัทที่สนใจจะเข้าจดทะเบียนในตลาดลอนดอน อาทิ บริษัทต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะรองรับธุรกิจไปอย่างน้อย 12 เดือน ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้น หรือการมีผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่เจ้าของหรือคณะกรรมการบริษัทร่วมถือหุ้นอย่างน้อย 20% และที่สำคัญคือการมีการกำกับกิจการที่ดี (Corporate Governance)
สำหรับธุรกิจไทยที่จ่อเข้าจดทะเบียนในตลาด AIM และอยู่ระหว่างกระบวนการมีทั้งสิ้น 2 บริษัทใน 2 อุตสาหกรรม คือ ธุรกิจด้านอาหารและธุรกิจด้านวิศวกรรมและพลังงาน