ภาพการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา มีเรื่องใหญ่ให้ติดตามหลายเรื่อง แต่เรามาเริ่มแบบเร็วๆ ก่อน แล้วค่อยไปลงลึกในจุดที่น่าสนใจ ช่วงต้นเดือนสถานการณ์โควิดในบ้านเรามีพัฒนาการที่ไม่ค่อยจะดีนัก มีหลายจุดที่น่าเป็นห่วงไม่ว่าจะเป็นปริมาณผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งอัตราการได้รับวัคซีนที่ค่อนข้างช้า แต่ก็ยังดีที่เรายังได้แรงบวกสำคัญจากการคลายล็อกในต่างประเทศ ที่เริ่มทยอยเปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
ต่อด้วยการที่ FDA อนุมัติให้ใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech แบบเต็มรูปแบบ ทำให้เอกชนสามารถสั่งซื้อวัคซีนได้โดยตรง รวมถึงการที่ Fed ส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย แม้จะส่งสัญญาณว่าอาจจะเริ่มลด QE ในปีนี้
อย่างไรก็ตามภาพในเอเชียอาจจะยังไม่สู้ดีเท่าฝั่งตะวันตก เนื่องจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคฯ จีนถูกขายต่อบนความกังวล Policy Risk ของรัฐบาลจีน สุดท้ายปลายๆ เดือนปรากฏว่า ตลาดหุ้นแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย บรรยากาศการลงทุนเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากเมื่อช่วงต้นเดือน ดูได้จากการฟื้นตัวของดัชนีหุ้น ทั้งนี้ ก็มาจากความคาดหวังต่อการคลายล็อกดาวน์หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัวถึงลดลง
สำหรับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ขอเริ่มจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มทยอยลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 17,000-19,000 เคส เทียบกับ 19,000-21,000 เคสในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น และเริ่มเห็นยอดต่ำสุดที่ 16,525 เคสในวันที่ 29 สิงหาคม โดยเห็นการลดลงในทุกพื้นที่
นอกจากนี้ยอดเข้ารับการรักษาและเคสที่รุนแรงมีการปรับลดลง ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตไม่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่ ทำให้ ศบค. มีมติผ่อนปรนการล็อกดาวน์ธุรกิจบางส่วน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยยังคงมาตรการอื่นๆ ตามเดิม ซึ่งรวมถึงประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. การคลายล็อกดาวน์ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะมีแรงต่อเนื่องไปตลอดเดือนกันยายน
ปัจจัยที่ต้องติดตามในเดือนกันยายน เริ่มจากปัจจัยต่างประเทศ ก็คือมติการประชุม Fed วันที่ 21-22 กันยายน ว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดการลด QE หรือไม่ รวมถึง Dot Plot ของ Fed ถ้าตัวเลขคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ขยับมาเร็วกว่าที่ตลาดคาดก็จะเป็นความเสี่ยงตัวใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า Fed จะยังคงให้มุมมองที่ Dovish อยู่
สำหรับภูมิภาคเอเชีย รัฐบาลจีนอาจมีการผ่อนคลายมาตรการการเงินการคลังเพื่อประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังตัวเลขดัชนีผู้ผลิตเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว และการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมากระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ อันนี้น่าจะเป็นข่าวบวกมากกว่าลบ
ในส่วนของปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตของไทยช่วงกลางเดือนกันยายน หลังครบกำหนดคลายล็อกดาวน์ 14 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาเพาะเชื้อ หากตัวเลขไม่เด้งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่จะเป็นสัญญาณว่าไทยได้ผ่านจุดสูงสุดของการระบาดไปแล้ว และจะไม่กลับไปล็อกดาวน์อีก เพราะการเร่งตัวขึ้นของการได้รับวัคซีน และกำลังของสาธารณสุขเพียงพอรับมือผู้ป่วยหนัก ดูดี สุดท้ายคือภาครัฐจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับกระทบจากโควิด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งผมมองว่ามีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งในยามนี้ครับ
มาถึงจุดนี้ ผมให้มุมมองเชิงบวกต่อภาวะการลงทุนเนื่องมาจากสองเรื่องด้วยกัน ไม่ว่า Fed จะทำอะไรก็ต้องออกแนวค่อยเป็นค่อยไป Dovish แน่นอนไม่มีทางทำอะไรเพื่อติดเบรกเศรษฐกิจของตัวเองแน่ๆ ดังนั้นถ้าสหรัฐอเมริกาฟื้น ทั่วโลกก็น่าจะได้ผลบวก เรื่องที่สอง สถานการณ์โควิดในไทยอย่างไรก็น่าจะดี จากยอดผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น การฉีดวัคซีนของไทยล่าสุดแตะ 30.7 ล้านโดส ณ วันที่ 28 สิงหาคม หรือ 32.5%, 10.3% และ 0.8% ของประชากรที่ฉีดเข็มแรก เข็มสอง และสามตามลำดับ โดยการฉีดรายวันแตะจุดสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 915,738 โดส ณ วันที่ 27 สิงหาคม ดังนั้นเดือนกันยายนน่าจะทำให้ยอดผู้ได้รับวัคซีนพลิกกลับขึ้นมาใกล้เป้าหมายของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ยอดผู้เสียชีวิตลดลง
ถ้าเป็นไปตามนี้ ผมคิดว่าทรัพย์สินที่น่าลงทุน ณ ตอนนี้ หรือในห้วงเวลานี้น่าจะต้องเป็นตราสารทุนหรือหุ้น โดยเฉพาะหุ้นไทย เพราะตลาดหุ้นไทยขยับมาจากภาวะที่ค่อนข้างแย่ ในขณะที่ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลและเงินฝากต่ำมาก ก็ยิ่งตอกย้ำให้การลงทุนในหุ้นมีความน่าสนใจยิ่งขึ้นในเชิงความเสี่ยงต่อผลตอบแทนเมื่อเทียบกับการฝากเงินหรือการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล สำหรับกรอบระยะเวลาการลงทุนในหุ้นไทยช่วงนี้ ผมมองระยะประมาณ 1-2 เดือน และเมื่อปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับตลาดหลักๆ ทั่วโลก แล้วเราค่อยมาดูกันอีกครั้ง กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผมชอบคือ กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มสื่อสาร