×

ทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว! ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งไม่หยุด ฉุดยอดขายรถยนต์ มิ.ย. ร่วงอีก 26% ส.อ.ท. ประกาศลดเป้ากำลังผลิตทั้งปีเหลือแค่ 1.7 ล้านคัน

25.07.2024
  • LOADING...

ปีนี้อาจไม่ใช่ปีของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เมื่อครึ่งปีแรก 2567 เศรษฐกิจไทยยังไม่มีท่าทีฟื้น สาเหตุหลักๆ คือคนไทยยังมีหนี้ท่วม ไฟแนนซ์ยังคงคุมเข้มสินเชื่อ และดัชนีภาคการผลิตร่วงหลายเดือนติดต่อกันเป็นเวลากว่า 2 ปี 

 

จนในที่สุด ส.อ.ท. ต้องประกาศปรับเป้าการผลิตรถยนต์จาก 1,900,000 คัน เหลือ 1,700,000 คัน หมายความว่าการผลิตในไทยจะหายไปถึง 200,000 คัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย และอีกสัญญาณที่ต้องจับตาคือ ครึ่งปีหลัง สงครามการค้าอาจร้อนแรงขึ้น และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นปลายปีอาจมีผลต่อซัพพลายชิปเซมิคอนดักเตอร์

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

วันนี้ (25 กรกฎาคม) สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 47,662 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.04% เนื่องจากยอดขายรถกระบะลดลงถึง 36.44% และรถอเนกประสงค์ที่ดัดแปลงมาจากรถกระบะ (PPV) ลดลงอีก 49.98% ส่งผลให้ 6 เดือนของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2567) ตลาดในประเทศมียอดขายรถยนต์ 308,027 คัน ลดลงจากปีก่อนถึง 24.16%

 

โดยยอดผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมิถุนายน 2567 มีทั้งสิ้น 116,289 คัน ลดลงจากปี 2566 20.11% และลดลงจากการผลิตขายในประเทศที่ลดลงถึง 43.08% ตามยอดขายในประเทศที่ลดลงดังข้างต้น 

 

ดังนั้น ส.อ.ท. ประเมินแล้วว่า หลายๆ ปัจจัยครึ่งปีแรกยังไม่ฟื้นตัว จึงได้ปรับเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2567 จาก 1,900,000 คัน เป็น 1,700,000 คัน โดยปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศลดลงจาก 750,000 คัน เป็น 550,000 คัน

 

“ปัจจัยลบหลักๆ มาจากหนี้ครัวเรือนคนไทยที่ยังคงสูงถึง 90% ของ GDP ประเทศ ขณะที่รายได้ครัวเรือนยังต่ำจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ ที่สำคัญสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มากกว่า 50% ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ภายในลดลงทั้งหมดทุกเซ็กเตอร์ ”

 

นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังลดลงมาหลายเดือนติดต่อกัน บวกกับคนงานมีรายได้ลดลง ประชาชนระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงหน่วยงานเศรษฐกิจหลายแห่งลดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลง จำนวนแรงงานวัยทำงานน้อยกว่าเพื่อนบ้านจากอัตราการเกิดต่ำ ยิ่งทำให้นักลงทุนลังเลในการลงทุน เพราะเป็นสังคมสูงอายุ

 

 

ขณะเดียวกัน ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนมิถุนายน มียอดจดทะเบียนใหม่จำนวน 7,990 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว 17.46%

 

แม้ว่าภาพรวมช่วง 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2567) มียานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV จดทะเบียนใหม่รวม 51,911 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 20.60% และยานยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 71,906 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-มิถุนายนปีที่แล้ว 55.84%

 

รถยนต์ไฮบริดมาแรง ดันยอดส่งออกทะลุ 356.12% 

 

ขณะที่ประมาณการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกยังคงไว้เท่าเดิมที่ 1,150,000 คัน ซึ่งน่าสนใจว่ายอดการส่งออกรถยนต์นั่งไฮบริด (HEV) เพิ่มขึ้นถึง 356.12% การส่งออกไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ยอดขายรถยนต์ของประเทศคู่ค้า 3 ใน 4 ของตลาดส่งออกยังเติบโต เช่น ออสเตรเลีย, สหรัฐฯ, ยุโรป และตะวันออกกลาง 

 

รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศจีนยังเติบโต ส่งผลดีต่อประเทศในเอเชียที่มีสัดส่วนถึง 28% ของรถยนต์ที่ไทยส่งออก นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยได้ ภาระของลูกหนี้อาจลดลง ซึ่งจะช่วยให้มีอำนาจซื้อมากขึ้น

 

ทั้งนี้ หากครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้นก็เชื่อว่าจะมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 จะทำให้รัฐบาลใช้จ่ายและลงทุน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามนโยบาย และนักท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออกยังเติบโต ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตได้มากขึ้น คนงานมีรายได้มากขึ้น

 

“ผมก็ยังเชื่อว่าปีนี้อาจได้เห็นยอดผลิตรถยนต์ EV เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชดเชยอัตรา 1:1 ของรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในปี 2565-2566 มากขึ้น และคาดหวังว่าจะมีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นจากการเดินทางไปชักชวนนักลงทุนรายใหญ่ๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศเติบโต หนี้ครัวเรือนจะได้ลดลง” สุรพงษ์กล่าว

 

ท้ายสุด สุรพงษ์ระบุอีกว่า ครึ่งปีหลังต้องจับตาสงครามการค้า สงครามยูเครนกับรัสเซีย และสงครามอิสราเอลกับฮามาสที่อาจบานปลาย การเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ รวมไปถึงเศรษฐกิจจีน หากโตในอัตราต่ำจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับสองรองจากตลาดออสเตรเลียได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X